การศึกษายืนยันยาเบาหวานสัมพันธ์กับภาวะแทรกซ้อนอันตราย

HealthDay News

การศึกษาครั้งใหม่เตือนกลุ่มยารุ่นใหม่ที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 คือ SGLT2 inhibitors อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่คุกคามชีวิตและพบได้น้อย คือ ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน
           ยา SGLT2 inhibitors ประกอบด้วยยาที่ควบคุมตามใบสั่งยา เช่น canagliflozin, dapagliflozin และempagliflozin
           ยาเหล่านี้มีจำหน่ายครั้งแรกในปี  2013 แต่ในปี  2015 องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Drug Administration: FDA) ออกคำเตือนถึงความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน (diabetic ketoacidosis) เมื่อใช้ยา SGLT2 inhibitors
          โดยทั่วไปภาวะนี้เกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 และแม้จะไม่เกิดขึ้นบ่อยนักกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 แต่มีรายงานกรณีผู้ป่วยแสดงว่าสามารถเกิดขึ้นกับโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ได้ ผู้เขียนรายงานการศึกษา ระบุ
          ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตน อาจทำให้เกิดการอาเจียน ปวดท้อง หายใจลำบากและอาการบวมในสมอง ถ้าปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา ภาวะเช่นนี้อาจรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ คณะผู้วิจัย กล่าว
          การศึกษาครั้งใหม่ “ยืนยันในสาระสำคัญถึงสิ่งที่แพทย์ตั้งข้อสงสัย” ผู้เชี่ยวชาญโรคเบาหวาน Dr. Stanislaw Klek ซึ่งเป็น endocrinologist ที่ NYU Winthrop Hospital ใน Mineola, กรุงนิวยอร์ก กล่าว
          “โชคยังดีที่อัตราของการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวานยังต่ำมากและไม่น่าจะเป็นอุปสรรคขัดขวางการใช้ยากลุ่มนี้” เขากล่าวเพิ่มเติม “มีความจำเป็นที่จะต้องรู้ถึงภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้นี้ และจะต้องติดตามอาการของภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่เจ็บป่วย
          ในการศึกษาครั้งใหม่ คณะผู้วิจัยที่ Brigham and Women’s Hospital ในบอสตัน ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จำนวน 40,000 คน พบว่า ผู้ที่ใช้ยา SGLT2 inhibitors มีโอกาสเป็น 2 เท่า ที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน เมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานอีกกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่า DPP4 inhibitors (เช่น ยา Januvia และ Onglyza)
          คณะผู้วิจัย เน้นว่า ความเสี่ยงต่อผู้ป่วยรายหนึ่ง ๆ ยังมีน้อยมาก  โดยประเมินว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ SGLT2 inhibitor มีเพียงประมาณ 1 ในทุก 1,000 คนเท่านั้น ที่จะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน  ผลการค้นพบครั้งนี้ได้รับการเผยแพร่ใน New England Journal of Medicine
          แม้ภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวานจะไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก แต่แพทย์จำเป็นต้องติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 อย่างใกล้ชิด เพื่อหาสัญญาณและอาการของภาวะแทรกซ้อน Dr. Michael Fralick ผู้เขียนรายงานการศึกษา กล่าว เขามาจากฝ่ายเภสัชระบาดวิทยาและเภสัชเศรษฐศาสตร์ของ Brigham and Women’s Hospital
          “นี่คือผลข้างเคียงซึ่งปกติจะพบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 1 (ไม่ใช่ชนิดที่ 2) ดังนั้น แพทย์จึงไม่ได้ระวังในเรื่องนี้ Dr. Michael Fralick กล่าวในเอกสารเผยแพร่ข่าวของโรงพยาบาล “นั่นหมายความว่า ความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงอาจสูงกว่าที่เราพบ เนื่องจากการวินิจฉัยโรคผิด/มีการบันทึกข้อมูลน้อยเกินไป
          Dr. MinishaSood นักวิทยาต่อมไร้ท่อที่ Lenox Hill Hospital ในนครนิวยอร์ก ได้ทบทวนผลการค้นพบนี้ และอธิบายว่า SGLT2 inhibitors “ได้รับการยอมรับให้เป็นยาเสริมยาอื่น ๆ สำหรับใช้ลดกลูโคส  (น้ำตาลในเลือด) ยากลุ่มนี้ช่วยลดกลูโคสในเลือดด้วยการเพิ่มปริมาณกลูโคสที่ถูกกำจัดผ่านปัสสาวะ”
          แต่ยาอาจรบกวนระดับฮอร์โมนกลูคากอน ซึ่งการรบกวนนี้นำไปสู่การเพิ่มขึ้นของกรดซึ่งไม่ดีต่อสุขภาพ เรียกว่า คีโตน (ketone)  “เมื่อกรดสะสมเพิ่มขึ้นในระบบ จะทำให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน” Dr.Sood อธิบาย
          เธอเห็นด้วยกับการที่ผู้ป่วยและแพทย์ควรตื่นตัวต่อความเสี่ยงของภาวะเลือดเป็นกรดจากคีโตนจากโรคเบาหวาน ซึ่งไม่ได้พบบ่อยนัก แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสัปดาห์แรก ๆ หลังจากผู้ป่วยเริ่มใช้ SLGT2 inhibitor
          แต่ Dr.Sood เชื่อว่า ผลการค้นพบของการศึกษาครั้งนี้ไม่ใช่เหตุผลที่ผู้ป่วยจะเปลี่ยนไปใช้ยารักษาโรคเบาหวานในรูปแบบอื่น
          “SLGT2 inhibitors ให้ผลดีมาก ๆ ในการควบคุมโรคเบาหวาน (และมีประโยชน์เพิ่มขึ้นในการลดความดันโลหิตและน้ำหนักด้วย) ดังนั้น ประโยชน์จึงมีมากกว่าความเสี่ยงจากการบำบัดรักษา” เธอกล่าว