ที่สุดของความหวังผู้เป็นแม่ขณะตั้งครรภ์คือ ลูกในท้องมีร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์มากที่สุด และไม่พบภาวะผิดปกติหลังคลอด ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ ฝ่ายสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ถือเป็นผู้นำทางการรักษาและวิจัยด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์มาโดยตลอด ภายใต้การดำเนินงานของ รศ.นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ หัวหน้าสาขาวิชาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
การดูแลรักษาทารกในครรภ์ (fetal therapy หรือ in utero therapy) ถือเป็นการดูแลรักษาเฉพาะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันหรือแก้ไขความผิดปกติของทารกในครรภ์ ป้องกันผลกระทบที่รุนแรงของความผิดปกตินั้นต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารก การดูแลรักษาทารกในครรภ์ด้วยวิธีผ่าตัด (Fetal Surgery) จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการรักษาที่สำคัญที่จะช่วยลดอัตราทุพพลภาพและอัตราการเสียชีวิตของทารกลงได้
มิติใหม่ของการรักษามุ่งสู่การพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง
รศ.นพ.สมชาย กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการรักษา ทารกในครรภ์ที่มีภาวะผิดปกติคือ ผลลัพธ์การตั้งครรภ์ที่ดีขึ้นซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่การวินิจฉัยก่อนคลอดคือการตัดสินใจว่าจะต้องยุติการตั้งครรภ์หรือไม่ การดูแลรักษาทารกในครรภ์ด้วยวิธีผ่าตัด(Fetal Surgery) เหมาะกับภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ดังนี้
- การทำผ่าตัดทารกในครรภ์แฝด ด้วยการจี้หลอดเลือดด้วยเลเซอร์ผ่านกล้องส่องตรวจทารกในครรภ์ (fetoscopic laser ablation)
- การผ่าตัดแก้ไขภาวะทางเดินปัสสาวะส่วนล่างอุดตัน (lower urinary tract obstruction; LUTO) ด้วยวิธีการใส่ท่อเชื่อมให้ปัสสาวะไหลออกมาตามปกติ ช่วยทำให้กระเพาะปัสสาวะ และท่อไตที่บวม ยุบลง
- การรักษาภาวะซีดของทารกในครรภ์ (fetal anemia) ด้วยการให้เลือดทารกในครรภ์
- การรักษาภาวะน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด (pleural effusion) ด้วยการใส่ท่อเชื่อมระหว่างช่องเยื่อหุ้มปอดกับถุงน้ำคร่ำสามารถลดอัตราการเกิดภาวะทารกบวมน้ำและภาวะปอดแฟบได้
- การรักษาภาวะ amniotic band syndrome (ABS) ภาวะที่พบพังผืดในถุงน้ำคร่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดเลือดของอวัยวะที่ถูกพังผืดรัดได้ หากแผ่นเนื้อเยื่อพังผืดดังกล่าวรัดที่บริเวณสายสะดือ สามารถทำให้ทารกเสียชีวิตได้ การรักษาคือการใช้เลเซอร์จี้ตัดพังผืดออก ผ่านกล้องส่องตรวจทารกในครรภ์
- การรักษาภาวะเนื้องอก sacrococcygeal teratoma (SCT) เป็นเนื้องอกของเซลล์ตัวอ่อนของกระดูกก้นกบเป็นก้อนยื่นออกไปทางข้างหลัง ทารกที่มีเนื้องอกชนิดนี้มีโอกาสเกิดภาวะบวมน้ำจากหัวใจล้มเหลวสูง และพบอัตราการเสียชีวิตของทารกที่มีภาวะนี้ถึงร้อยละ 50 การรักษาสามารถทำได้ด้วยวิธีจี้หลอดเลือดที่มาเลี้ยงก้อนเนื้องอกออกด้วยคลื่นความถี่วิทยุหรือเลเซอร์ผ่านกล้องส่องตรวจทารกในครรภ์ เพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเนื้องอก
อ.นพ.นพดล ไชยสิทธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ กล่าวเสริมว่า ทารกในครรภ์ถือเป็นผู้ป่วยอีกหนึ่งรายที่ต้องการการดูแล
รักษาเป็นพิเศษ ดังนั้นการแก้ปัญหาความพิการหรือความผิดปกติแต่กำเนิดของทารกในครรภ์จึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องอาศัยความร่วมมือจากแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา อาทิ วิสัญญีแพทย์เฉพาะทาง พยาบาลห้องผ่าตัดเฉพาะทางในการที่จะรักษาทารกในครรภ์ รวมถึงหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารเลือด เป็นต้น
เนื่องด้วยการรักษาดังที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการทำหัตถการที่มีความซับซ้อน และมีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การคลอดก่อนกำหนดหรือทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้ ทีมแพทย์จึงต้องพูดคุยและให้คำปรึกษาแก่สตรีตั้งครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ในการรักษาอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงขั้นตอนการรักษาและผลที่จะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลในระยะยาว หากเราสามารถรักษาหรือแก้ไขความผิดปกติของทารกได้ตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ เมื่อคลอดแล้วทารกที่ได้รับการรักษาอาจจะอยู่ในสภาวะที่เกือบปกติหรือเทียบเท่ากับเด็กปกติได้
รศ.พญ.อรลักษณ์ รอดอนันต์ วิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการระงับความรู้สึกในหญิงตั้งครรภ์เฉพาะทางด้านการดูแลรักษาทารกในครรภ์ อธิบายถึงหน้าที่ของวิสัญญีแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการทำหัตถการที่สามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงเวลา ได้แก่ การประเมินและเตรียมผู้ป่วยก่อนการทำหัตถการ ระหว่างการทำหัตถการ และหลังการทำหัตถการ ซึ่งทั้ง 3 ช่วงเวลา มีข้อสังเกตและประเด็นสำคัญที่แตกต่างกันออกไป โดยการประเมินและเตรียมผู้ป่วยก่อนการทำหัตถการ นอกจากการไปเยี่ยมและพูดคุยเพื่ออธิบายถึงเทคนิคและขั้นตอนต่างๆ ทางวิสัญญี ข้อดี ข้อเสียหรือผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้แล้ว จะมีการพิจารณาให้ยาลดความวิตกกังวล ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะอาหารและสารน้ำให้แก่ผู้ป่วย ในคืนก่อนทำหัตถการ
ในระหว่างทำหัตถการ การให้ยาระงับความรู้สึกแก่มารดาระหว่างการส่องกล้องผ่าตัดทารกในครรภ์ สามารถทำได้ทั้งการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั้งตัวหรือเฉพาะที่ ขึ้นกับชนิดของหัตถการ ยาดมสลบและยาทางวิสัญญีหลายชนิดสามารถผ่านรกเข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงผลของยาที่จะส่งผลต่อทั้งมารดาและทารก การควบคุมสัญญาณชีพในมารดาให้คงที่ตลอดการทำหัตถการมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะความดันโลหิต เพราะ
ส่งผลถึงปริมาณเลือดที่เพียงพอและเหมาะสมต่อการอยู่รอดของทารก อีกทั้งการดูแลและป้องกันทางเดินหายใจของมารดาเพื่อลดความเสี่ยงของการสูดสำลักลงปอดที่อาจเกิดได้ในระหว่างการทำหัตถการ จึงต้องการการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ส่วนของทารกในครรภ์จะสามารถทำการเฝ้าระวังผ่านทางเครื่องมือคลื่นเสียงความถี่สูงได้ตลอดเวลา
เมื่อเสร็จหัตถการ วิสัญญีแพทย์จะให้การดูแลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น ให้ยาระงับปวดให้เพียงพอ ควบคุมและให้สารน้ำทดแทนไม่ให้เกิดภาวะขาดสารน้ำ เพื่อลดปัจจัยกระตุ้นที่จะมีผลให้เกิดการหดรัดตัวของมดลูกซึ่งอาจทำให้คลอดก่อนกำหนดได้ วิสัญญีแพทย์จึงเป็นอีกหนึ่งในทีมบุคลากรในห้องผ่าตัดที่ต้องทำงานร่วมกับแพทย์เฉพาะทางอื่นๆ ในการทำหัตถการ ให้สามารถเป็นไปด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัยทั้งกับมารดาและทารกในครรภ์ ทั้งในช่วงเวลาก่อน ระหว่าง และหลังทำหัตถการ ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้น
รศ.นพ.สมชาย กล่าวทิ้งท้ายว่า การดูแลรักษาทารกในครรภ์ด้วยวิธีผ่าตัด (fetal therapy) เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจมากขึ้น ในอนาคตจะมุ่งเน้นไปสู่วิธีที่รุกล้ำน้อยที่สุด (less invasive) เกิดผลข้างเคียงกับมารดาและทารกในครรภ์น้อยที่สุด รวมทั้งพัฒนาและศึกษาการนำเครื่องมือทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้ อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาต่อยอดอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของของคุณแม่และลูกน้อย
ขอบคุณข้อมูลจาก : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย