ดร.ภก. อุกฤษ อังควินิจวงศ์
Life Sciences Innovation Manager
Centre for Innovation, Transformation and Improvement
Guy’s and St Thomas’ NHS Foundation Trust
Contact: ukrit.angkawinitwong@gstt.nhs.uk
สหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านการวิจัยและพัฒนายาระดับโลกที่มีความโดดเด่นมาอย่างยาวนาน มีประวัติการค้นพบนวัตกรรมทางการแพทย์ที่สำคัญ เช่น วัคซีนไข้ทรพิษชนิดแรกของโลก ยาเพนิซิลิน และการพัฒนายาแอนติบอดีและยาชีววัตถุ ความสำเร็จจากในอดีตจนถึงปัจจุบันนี้เกิดจากการผสมผสานระหว่างนโยบายภาครัฐที่เข้มแข็ง ภาคอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก และหน่วยงานขึ้นทะเบียนยาที่ได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
ปัจจุบันอุตสาหกรรมยาระดับโลกมีมูลค่ารวม 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 52 ล้านล้านบาท โดยสหราชอาณาจักรเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงในตลาดโลก ในปี 2565 อุตสาหกรรมยาของประเทศสร้างรายได้คิดเป็นร้อยละ 68 ของมูลค่าทั้งหมดในอุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพ รัฐบาลมีการจัดสรรงบประมาณด้านการวิจัยและพัฒนาสุขภาพสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เมื่อคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญที่รัฐบาลให้กับการวิจัยและพัฒนา ในช่วงปี 2564-2565 ซึ่งเป็นช่วงที่อุตสาหกรรมวิทยาศาสตร์ชีวภาพเติบโตสูงสุดทั่วโลก ภาคธุรกิจมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทางเภสัชกรรมมูลค่า 9.0 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 3.8 แสนล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 18 ของการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดในประเทศ) และได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมอีก 1.98 พันล้านปอนด์ (หรือประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 282,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ โดยศูนย์กลางการวิจัยและพัฒนาอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งประกอบด้วยเมืองเคมบริดจ์ ลอนดอน และออกซ์ฟอร์ด มีโครงการวิจัยที่โดดเด่นระดับโลก เช่น โครงการ 100,000 Genome และธนาคารชีวภาพแห่งสหราชอาณาจักร (UK Biobank) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ ที่นำไปสู่การค้นพบทางการแพทย์ที่สำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ภูมิคุ้มกันวิทยาและวัคซีนวิทยา ซึ่งเป็นศาสตร์ที่เป็นรากฐานสำคัญของอุตสาหกรรมชีวเภสัชภัณฑ์ เป็นผู้ให้ทุนสนับสนุนรายใหญ่ของพันธมิตรความร่วมมือด้านวัคซีนโลก (Global Alliance for Vaccines and Immunication, GAVI) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนระดับโลกที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมและยั่งยืนในประเทศยากจน ในด้านความร่วมมือกับประเทศไทย สหราชอาณาจักรได้จัดตั้งศูนย์วิจัยการผลิตวัคซีนร่วมสหราชอาณาจักร-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข (Department of Health and Social Care, DHSC) และสภาวิจัยวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์กายภาพแห่งสหราชอาณาจักร (Engineering and Physical Sciences Research Councils, EPSRC) ศูนย์วิจัยนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ เคมบริดจ์ ยอร์ก เคนท์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงพันธมิตรอีก 16 แห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครอบคลุมผู้ผลิตวัคซีน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และหน่วยงานภาครัฐจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เวียดนาม และฟิลิปปินส์ ศูนย์วิจัยนี้มุ่งเน้นการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคที่สำคัญในภูมิภาค เช่น ไข้เลือดออก โรคมือเท้าปาก วัณโรค โรคพิษสุนัขบ้า และโรคตับอักเสบ โดยใช้เทคโนโลยีวัคซีนทั้งแบบโปรตีนซับยูนิท (subunit protein) เอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) และไวรัสพาหะ (viral vector)
นอกเหนือจากการพัฒนาวัคซีนสำหรับโรคติดเชื้อ สหราชอาณาจักรยังเป็นผู้นำในการวิจัยและพัฒนาวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล (personalised cancer vaccine) ในระดับคลินิก โดยในปี 2567 ระบบสาธารณสุขแห่งสหราชอาณาจักร (NHS) ได้เปิดตัวโครงการ Cancer Vaccine Launch Pad ร่วมกับ บริษัท BioNTech และ Genomics England เพื่อเชื่อมโยงผู้ป่วยมะเร็งกับการทดลองทางคลินิก วัคซีนนี้ใช้เทคโนโลยีเอ็มอาร์เอ็นเอขั้นสูงในการสร้างวัคซีนที่ออกแบบเฉพาะรายเพื่อฝึกระบบภูมิคุ้มกันให้จดจำและทำลายเซลล์มะเร็ง ช่วยลดความเสี่ยงของการกลับเป็นซ้ำหลังการรักษาหลัก โดยมีการทดลองทางคลินิกครอบคลุมมะเร็งหลายชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ ผิวหนัง ปอด กระเพาะปัสสาวะ ตับอ่อน และไต ซึ่งหากประสบความสำเร็จ วัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคลอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการรักษามาตรฐานภายในปี 2573
สหราชอาณาจักรยังมีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมการบำบัดด้วยเซลล์และยีน (Cell and Gene Therapy) โดยปัจจุบันมีบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศถึง 47 แห่ง ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ และในปี 2566 บริษัทในสหราชอาณาจักรได้รับเงินทุนร่วมลงทุนคิดเป็น 55% ของการลงทุนด้านการบำบัดด้วยเซลล์และยีนทั้งหมดในยุโรป โดยได้รับการสนับสนุนทั้งจากนักลงทุนเอกชน กองทุนร่วมลงทุนในลอนดอน และภาครัฐ จุดเด่นที่สำคัญคือ หลายบริษัทเป็น spinoff จากมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น Autolus และ Orchard Therapeutics ที่แยกตัวออกมาจากมหาวิทยาลัย University College London (UCL) หรือ Rinri Therapeutics ที่มาจากมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ สะท้อนให้เห็นว่างานวิจัยด้านเซลล์และยีนบำบัดของสหราชอาณาจักรไม่ได้จำกัดอยู่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่สามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ณ เดือนตุลาคม 2566 สหราชอาณาจักรมียาที่ใช้การบำบัดด้วยเซลล์และยีนที่อยู่ระหว่างการพัฒนาทางคลินิกถึง 84 รายการ ทำให้เป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำในยุโรปสำหรับการทดลองประเภทนี้ โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานกำกับดูแลการขึ้นทะเบียนยาอย่าง Medicines and Healthcare products Regulatory Agency (MHRA) และความร่วมมือกับ NHS ซึ่งเป็นระบบสาธารณสุขแห่งแรกในยุโรปที่อนุมัติการรักษาแบบ CAR-T นอกจากนั้น ความน่าสนใจของประเทศยังเพิ่มขึ้นจากการมีองค์กรสนับสนุนอย่าง Cell and Gene Therapy Catapult และเครือข่าย Advanced Therapy Treatment Centres (ATTC) ที่ช่วยเตรียมความพร้อมให้ NHS ในการนำการรักษาเหล่านี้มาใช้ จนถึงปี 2566 มีการอนุมัติการรักษาด้วยเซลล์และยีนแล้ว 23 รายการ
นอกจากความเชี่ยวชาญด้านการวิจัยและพัฒนาการรักษาขั้นสูงแล้ว สหราชอาณาจักรยังบุกเบิกการวิจัยและพัฒนาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีชีวภาพกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence, AI) หรือที่เรียกว่า เทคไบโอ (TechBio) มาใช้ในการวิจัยและพัฒนายา ซึ่งเป็นสาขาที่มีการเติบโต ได้รับการยอมรับว่าเป็นแหล่งงานวิจัยทางวิชาการและนวัตกรรมชั้นนำในด้าน AI, จีโนมิกส์ และชีววิทยาสังเคราะห์ AI ถูกนำมาใช้ในการช่วยออกแบบและปรับปรุงโมเลกุลขนาดเล็กและโปรตีนใหม่ๆ ให้มีความแม่นยำและขนาดที่ใหญ่ขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีดั้งเดิม ความสำเร็จที่โดดเด่นประการหนึ่งคือ การพัฒนาระบบ AlphaFold โดยบริษัท DeepMind ซึ่งเป็นระบบปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถทำนายโครงสร้างสามมิติของโปรตีนจากลำดับกรดอะมิโนได้อย่างแม่นยำ นับตั้งแต่เริ่มใช้งาน ระบบได้ทำการทำนายโครงสร้างโปรตีนมากกว่า 200 ล้านโครงสร้าง รวมถึงโครงสร้างโปรตีนส่วนใหญ่ที่พบในร่างกายมนุษย์ การพัฒนา AlphaFold เวอร์ชัน 3 ได้เพิ่มขีดความสามารถในการจำลองปฏิสัมพันธ์ระหว่างโปรตีน กรดนิวคลีอิก และโมเลกุลขนาดเล็ก ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกระบวนการค้นพบยาใหม่ ความสามารถนี้ช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของยาในระดับโมเลกุลได้อย่างละเอียด นำไปสู่การพัฒนายาที่มีความจำเพาะและประสิทธิภาพสูงขึ้น
ในบริบทของประเทศไทย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ริเริ่มความร่วมมือที่สำคัญกับ King's College London ในการพัฒนางานวิจัยด้าน Medical AI โดยครอบคลุมการศึกษาด้านจีโนมิกส์ การพัฒนา biomarker และการประยุกต์ใช้ AI ในการออกแบบโมเลกุลเพื่อการรักษา ความร่วมมือนี้มุ่งเน้นการใช้แพลตฟอร์มและซอฟต์แวร์อัจฉริยะในการทำนายโครงสร้างโปรตีนและออกแบบยา ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มอัตราความสำเร็จของการทดลองทางคลินิกและพัฒนาการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การพัฒนาดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการผสมผสานระหว่างเทคโนโลยีชีวภาพและปัญญาประดิษฐ์ในการยกระดับการวิจัยทางการแพทย์และการพัฒนายา อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้จำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การฝึกอบรมบุคลากร และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
รัฐบาลสหราชอาณาจักรมุ่งผลักดันประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางการแพทย์ผ่านนโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ UK Life Sciences Vision ที่เน้นการเร่งนำนวัตกรรมทางการแพทย์ไปสู่ผู้ป่วย และ Clinical Research Vision ที่มุ่งยกระดับสภาพแวดล้อมของงานวิจัยทางคลินิก ในด้านการนำนวัตกรรมไปใช้จริง NHS มีบทบาทสำคัญในฐานะพันธมิตรหลักในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านสุขภาพผ่านโครงการสำคัญอย่าง Innovative Licensing and Access Pathway (ILAP) ที่มุ่งเร่งการเข้าถึงยานวัตกรรมผ่านความร่วมมือระหว่างผู้วิจัยและพัฒนา MHRA และหน่วยงานประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ รวมถึง Innovation Ecosystem Programme ที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง NHS ภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และหน่วยงานกำกับดูแล ตัวอย่างความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมเห็นได้จาก Guy's and St Thomas’ NHS Foundation Trust หนึ่งในเครือโรงพยาบาลสังกัด NHS ที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งได้จัดตั้ง Centre for Innovation, Transformation and Improvement (CITI) โดยมีพันธกิจสนับสนุนการพัฒนาและนำนวัตกรรมไปใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่ดีขึ้น เร็วขึ้น และเท่าเทียมกัน (better, faster and fairer healthcare) ซึ่งในปี 2567 CITI ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคณะผู้แทนจากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลในสังกัด โรงเรียนแพทย์ จากประเทศไทย เกี่ยวกับการผลักดันการสร้างนวัตกรรมและการนำนวัตกรรมไปใช้จริง
รัฐบาลสหราชอาณาจักรตั้งเป้าขยายความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาใน NHS ให้เติบโตถึงเกือบ 1 พันล้านปอนด์ ภายใน 10 ปี โดยจัดสรรทุนสนับสนุนผ่านหลายช่องทาง เริ่มจากโครงการวิจัยสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (Small Business Research Initiative Healthcare) ที่สนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงทุนจาก Innovate UK ที่ช่วยให้นักนวัตกรรมสามารถพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาใช้ใน NHS ได้จริง หรือทุนจากสถาบันวิจัยสุขภาพแห่งชาติ (National Institution Health Research หรือ NIHR) ที่สนับสนุนการวิจัยและพัฒนายาทั้งในระดับพรีคลินิกและคลินิก โดยทุนเหล่านี้ไม่เพียงส่งเสริมการวิจัยภายในประเทศ แต่ยังสนับสนุนความร่วมมือระหว่างแพทย์ นักวิจัยในสหราชอาณาจักรกับต่างประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้แพทย์และนักวิจัยจากต่างประเทศได้เข้าถึงเทคโนโลยี แหล่งทุน ทักษะด้านการวิจัย และพัฒนายาและนวัตกรรมทางการแพทย์ของสหราชอาณาจักรอีกด้วย
สำหรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นด้านความร่วมมือทางวิชาการหรือการพาณิชย์ของทั้ง 2 ประเทศ สามารถติดต่อ กระทรวงธุรกิจและการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย ได้ที่ dbt.thailand@fcdo.gov.uk
การร่วมมือระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรในด้านนวัตกรรมทางการยาและการแพทย์กำลังเปิดโอกาสสำคัญในการยกระดับระบบสาธารณสุขไทยสู่มาตรฐานระดับโลก ด้วยความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรในด้านเทคโนโลยีการแพทย์ขั้นสูง ทั้งวัคซีนเฉพาะบุคคล การรักษาด้วยเซลล์และยีนบำบัด และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการพัฒนายา ผนวกกับประสบการณ์อันยาวนานในการวิจัยและพัฒนาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้การร่วมมือครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่บุคลากรทางการแพทย์ไทยจะได้เรียนรู้ พัฒนาศักยภาพ และเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยในประเทศและภูมิภาคผ่านความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่าง 2 ประเทศ เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนและความก้าวหน้าของวงการแพทย์ไทย