ปัญญาประดิษฐ์กับภารกิจเพื่อสุขภาพ ความร่วมมือไทย – สหราชอาณาจักร

โดย ผศ.ดร.พญ. นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร , นางสาวภัททราภรณ์ ปาจริยพงษ์

 


ปัจจุบันสหราชอาณาจักรถือเป็นหนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านการสาธารณสุขและนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ครอบคลุมหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ไปจนถึงการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) นวัตกรรมเหล่านี้มีบทบาทสำคัญที่ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค ลดระยะเวลาในการรักษาเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วยและส่งเสริมสุขภาพในระยะยาวเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์นี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการทำงานทางการแพทย์ อาทิ การวิเคราะห์ภาพถ่ายทางการแพทย์ การพยากรณ์โรค และการตรวจจับโรคในระยะเริ่มต้น เป็นต้น


นอกจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี สหราชอาณาจักรยังมีความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และนวัตกรรมทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศไทย ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศได้ขยายตัวทั้งในระดับภาครัฐและภาคเอกชน เปิดโอกาสให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันนี้ช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์รวมถึงการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ในระบบการดูแลสุขภาพนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในทั้ง 2 ประเทศ สหราชอาณาจักรมีการมอบทุนเพื่อสนับสนุนความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนผ่านหลากหลายองค์กร ทั้งนี้ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยผ่านทางศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับมอบทุน Transforming System Through Partnership จากทาง Royal Acadamy of Engineering, UK มาตลอด 5 ปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในการดูแลผู้สูงอายุไทยที่มีปัญหาด้านการได้ยิน และร่วมกับการสนับสนุนจากภาคเอกชน เพื่อการวิจัยและพัฒนาอย่างยั่งยืนภายใต้การดำเนินงานของศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัวโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


หนึ่งในความเชี่ยวชาญของสหราชอาณาจักรคือ การพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ให้ตอบสนองต่อความเป็นอยู่ของประชากรในทุกช่วงวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุและผู้ที่มีข้อจำกัดทางสุขภาพอื่นๆ ตัวอย่างที่เด่นชัดคือ Oxsight ซึ่งถูกคิดค้นจากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด (Oxford University) โดยมุ่งเน้นการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางสายตาผ่านอุปกรณ์เสริมการมองเห็นที่ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นและใช้ชีวิตได้เป็นปกติมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมด้านการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับผู้พิการที่คิดค้นโดย Koalaa Ltd. ซึ่งเป็นการผลิตแขนเทียมแบบนุ่มทำจากผ้าชนิดพิเศษที่สามารถปรับขนาดและใช้งานได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้ป่วยหลากหลายกลุ่มและหลากหลายช่วงวัยโดยแขนเทียมของ Koalaa Ltd. สามารถช่วยในการหยิบจับสิ่งของทำให้ผู้ป่วยกลับมาทำกิจกรรมประจำวันได้อย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่สร้างผลดีในวงกว้างคือ CPR Guardian เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยในการตรวจจับการล้มของผู้สูงอายุ โดยจะส่งสัญญาณเตือนถึงผู้ดูแลทันทีเมื่อเกิดการล้ม เพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บรุนแรง และเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานอีกด้วย


การพัฒนาเทคโนโลยีของสหราชอาณาจักรเป็นไปอย่างรวดเร็วและสามารถนำมาใช้ได้จริง เพราะเน้นการพัฒนาโดยใช้ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางและเป็นการพัฒนาร่วมกับผู้ป่วยจริง เพื่อผู้ป่วยจริง (co-creation with the patients, for the patients) ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วยการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากทางรัฐบาลสหราชอาณาจักร ทางคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมถ่ายทอดหลักการนี้โดยได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ 5 แห่งในสหราชอาณาจักร เพื่อสนับสนุนการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ลงไปใช้ในชุมชนชาวไทยจริงผ่านทุน Research Environment Links ที่สนับสนุนโดยรัฐบาลสหราชอาณาจักร อันเป็นการตอกย้ำถึงความตั้งใจของสหราชอาณาจักรที่จะช่วยสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยชาวไทยอย่างยั่งยืน


เป็นที่ชัดเจนว่า การร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศไทย พร้อมเปิดโอกาสให้สหราชอาณาจักรได้เข้าใจความต้องการของทีมบุคลากรสาธารณสุขและผู้ป่วยชาวไทย อันนำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการทั้งในประเทศไทยเองรวมถึงประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ดียิ่งขึ้น โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านการแลกเปลี่ยน ทรัพยากร นวัตกรรม หรือองค์ความรู้


นอกจากนี้ เทคโนโลยีด้านการดูแลสุขภาพจากสหราชอาณาจักรยังสามารถนำมาช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในประเทศไทยได้อย่างหลากหลาย โดยเฉพาะด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและผลลัพธ์ทางการรักษาผู้ป่วย เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ใช้ในสหราชอาณาจักร สามารถช่วยการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์และสนับสนุนการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำมากยิ่งขึ้น ช่วยลดความผิดพลาดในการรักษาและเพิ่มโอกาสการฟื้นฟูผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วอย่างเช่นเทคโนโลยีการวินิจฉัยจากระยะไกล (Telemedicine) ที่ถูกพัฒนาขึ้นในสหราชอาณาจักร สามารถนำมาใช้ในการขยายการให้บริการทางการแพทย์ในพื้นที่ชนบทของไทย ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้ง่ายขึ้น และช่วยลดความแออัดที่เกิดขึ้นภายในโรงพยาบาลอีกด้วยทั้งนี้เทคโนโลยีการวินิจฉัยจากระยะไกล (Telemedicine) ดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้งานจริงแล้วในสหราชอาณาจักรโดยระบบได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถพบแพทย์ประจำตัว (GP) ของตนได้โดยนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันพร้อมปรึกษาแพทย์ผ่านทางวิดีโอ (Video Call) โดยหลังการพบแพทย์จะมีการส่งใบสั่งยาออนไลน์ไปที่ร้านยาใกล้บ้านผู้ป่วยทันที ซึ่งผู้ป่วยสามารถเข้าไปรับยารักษาได้โดยใช้ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า


ความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและสหราชอาณาจักรในด้านการแพทย์นั้น ยังสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มเติมได้ในอีกหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาในเชิงวิชาการหรือเชิงพาณิชย์สำหรับด้านวิชาการ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่แต่ละประเทศมีนั้นจะช่วยเพิ่มศักยภาพและคุณภาพของการบริการทางด้านการแพทย์ของทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ร่วมกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของภาคเอกชน เช่น หุ่นยนต์ผ่าตัด เครื่องมือช่วยฟัง และเครื่องมือทางการแพทย์แบบอื่นๆ หากมีการแบ่งปันวิธีการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ร่วมกัน จะช่วยให้ทั้ง 2 ฝ่ายสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้เร็วขึ้นและดูแลผู้ป่วยได้มากขึ้นผลของการร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศในครั้งนี้นอกจากจะช่วยพัฒนาเทคโนโลยีทางด้านวิชาการและการพาณิชย์แล้วยังได้ยกระดับมาตรฐานการดูแลสุขภาพของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ เพิ่มโอกาสทางธุรกิจการพัฒนาทางการแพทย์ที่ยั่งยืน พร้อมร่วมกันสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการของประชากรทั้งภายในประเทศและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอีกด้วย


การใช้ประโยชน์จากความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ของสหราชอาณาจักร ถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลรักษาลดความเสี่ยงในการรักษาที่ผิดพลาดและเพิ่มโอกาสในการฟื้นตัวของผู้ป่วยนอกจากนี้ความร่วมมือทางวิชาการและการพาณิชย์ระหว่าง 2 ประเทศ ยังเปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยสามารถเข้าถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้อย่างต่อเนื่องโดยมีกระทรวงธุรกิจและการค้าสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย(dbt.thailand@fcdo.gov.uk) เป็นตัวแทนรัฐบาลสหราชอาณาจักรที่สามารถให้คำปรึกษาด้านโอกาสในการพัฒนา รวมถึงช่องทางที่สามารถนำไปสู่ความร่วมมือทางการแพทย์ระหว่าง 2 ประเทศได้


 

งานแถลงข่าวเปิดตัวแว่นเสมือนจริง ตัวช่วยฝึกการทรงตัวผ่านการกระตุ้นหูชั้นใน (AR for Vestibular Rehabilitation) ลดการเวียนศีรษะ พลัดตกหกล้ม สำหรับชาวไทยในงาน TeleRehaB DSS Demo Day in Thailand 2023 ภายใต้โครงการวิจัยเรื่อง TeleRehabilitation of Balance clinical and economic Decision Support System วันที่ 13 ธันวาคม 2565 ณ โถงอาคารอานันทมหิดล คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าร่วมงานประชุม จำนวน 200 คน และมีผู้เข้าชมวิดีโอถ่ายทอดสด จำนวน 3,000 คน ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป ร่วมกับประเทศอังกฤษ

การตรวจคัดกรองการได้ยินเบื้องต้นผ่าน Mobile AI Application “Eartest by Eartone”ที่พัฒนาโดย บริษัทเอียร์โทน (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งจัดทำขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงการตรวจคัดกรองได้อย่างสะดวกมากขึ้น

นิทรรศการบ้านนก ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการคัดกรองการได้ยินเบื้องต้น โดยอาศัยการฟังเสียงจากนกชนิดต่างๆ ที่ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับสิทธิ์ในการนำเสียงมาใช้จากสหราชอาณาจักร โดยนิทรรศการนี้ได้จัดในงาน Thailand Health Care 2024 ณ สามย่านมิตรทาวน์ กรุงเทพฯ โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 50,000 คน

งานนิทรรศการได้ยินชัด ลดเสี่ยงสมองเสื่อมวันที่ 23 – 25 เมษายน 2567 ณ ดิโอลล์ สยาม กรุงเทพฯ โดยทาง จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ได้นำแอปพลิเคชันการตรวจคัดกรองการได้ยินเบื้องต้น “Eartest by Eartone” มาให้ผู้สูงอายุลองใช้และทดสอบการได้ยินฟรีรวมถึงแนะนำประชาชนให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันอีกด้วยโดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 200 คน


 


References


- ทุนวิจัยสนับสนุนโครงการ “Multi-language cross-cultural auditory research platform system for older adults assessment and rehabilitation in dementia prevention and care” ดำเนินการภายใต้ทุนสนับสนุนความร่วมมือไทยอังกฤษมหาวิทยาลัยระดับโลกปีที่ 3 จากบริติชเคานซิลสัญญาเลขที่ THA623E200EDU ซึ่งมีคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ



- ทุนวิจัยสนับสนุนโครงการ “Thai Speech Acoustic Virtual Reality (SAVR) Test for the Detection of Early Dementia” ในโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยภายใต้ Transforming Systems through Partnerships (TSP) และ Newton Fund ปีที่ 2 จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับบริษัทเอียร์โทน (ประเทศไทย) จำกัดสัญญาเลขที่ C16F650204 ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ


 - ทุนวิจัยสนับสนุนโครงการ “การตรวจการได้ยินที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ด้วยเอไอซอฟต์แวร์แอปพลิเคชัน เพื่อช่วยคาดการณ์ภาวะเสื่อมถอยทางสติปัญญาของผู้สูงอายุ” จากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับบริษัทเอียร์โทน(ประเทศไทย) จำกัดสัญญาเลขที่ C23F670098 ซึ่งมีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ


 - ทุนวิจัยสนับสนุนโครงการ “TeleRehabilitation of Balance Clinical and Economic Decision Support System” จาก the European Health and Digital Executive Agency ภายใต้ the European Commission สัญญาเลขที่ 101057747 ซึ่งมีศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นผู้ดำเนินการ


 ติดต่อเพิ่มเติม :


             - ด้านข้อมูลวิชาการ :Nattawan.U@chula.ac.th, pattraporn.p@bin-dai.com


             - ด้านข้อมูลโอกาสความร่วมมือ : (dbt.thailand@fcdo.gov.uk)