ผู้ป่วยโรคระบบประสาทและสมองทรุดหนักจากวิกฤตโลกเดือด

     โลกเรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 120,000 ปี และนั่นคือคำเตือนที่น่าตกใจจากองค์การสหประชาชาติที่ระบุด้วยว่า ยุคแห่งโลกร้อน (Global Warming) ผ่านพ้นไปแล้ว และเรากำลังอยู่ในยุคแห่งโลกเดือด (Global Boiling) ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่า ไม่มีทางที่อุณหภูมิโลกจะลดลงได้อีกแล้ว นอกจากจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ และจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อทุกสรรพสิ่งที่ดำรงอยู่บนโลกอันสวยงามนี้ รวมทั้งการเกิดโรคและปัญหาสุขภาพเรื้อรัง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีข้อมูลวิจัยยืนยันว่า อุณหภูมิและความชื้นที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมีอาการทรุดลงและการรักษายุ่งยากมากขึ้น เช่นเดียวกับอีกหลายโรคที่เกี่ยวกับสมอง ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ไมเกรน เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคลมบ้าหมู โรคจิตเภท โรคอัลไซเมอร์ และพาร์กินสัน
วิกฤตสุขภาพจากอุณหภูมิโลกสูงขึ้น
     สำนักงาน Copernicus Climate Change Service (C3S) ของสหภาพยุโรป เตือนว่ามนุษยชาติกำลังเพิกเฉยต่อสัญญาณชีพของโลก ขณะที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลกพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และการทำลายสถิติอุณหภูมิสูงสุดเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 12 แล้ว โดยอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงเดือนมิถุนายน ค.ศ.2023 ถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ.2024 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยอยู่ที่ 0.75 องศาเซลเซียส สูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมในช่วงปี 1850-1900 ถึง 1.63 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อ
     แม้ว่าการเชื่อมโยงระหว่างสภาพแวดล้อมกับโรคทางเดินหายใจและโรคหัวใจจะได้รับการศึกษาเป็นอย่างดี แต่ก็ยังไม่ค่อยมีใครทราบเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change) ต่อความชุกและความรุนแรงของโรคทางระบบประสาทอย่างโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple Sclerosis หรือ MS) นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า โลกของเรากำลังพยายามบอกอะไรบางอย่าง แต่ดูเหมือนพวกเราเคยไม่ฟัง ช่วงเวลาวิกฤตของสภาพอากาศมาถึงแล้วและได้เวลาที่พวกเราต้องลงมือจัดการจริงจังเสียที
     นับตั้งแต่เริ่มมีวิวัฒนาการของมนุษย์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์จากบริเวณที่เป็นทวีปแอฟริกาเมื่อประมาณสามแสนปีก่อน มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้ากับภูมิอากาศและความแปรปรวนของอุณหภูมิในแต่ละยุคสมัยมาได้ สมองมีหน้าที่จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม เซลล์ประสาทนับพันล้านเซลล์ในสมองเรียนรู้และทำงานแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุณหภูมิโดยรอบ โดยเฉพาะเมื่อมีอุณหภูมิและความชื้นที่สูงขึ้น เช่น กระตุ้นให้เหงื่อออก หรือทำให้เราคิดจะหาทางหลบแดดเข้าไปอยู่ในที่ร่ม เป็นต้น แต่หากสภาพแวดล้อมมีความผันผวนของอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว สมองต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาทางควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกาย อากาศที่ร้อนแรงนำไปสู่ระบบการทำงานที่ผิดปกติและนำไปสู่โรคทางระบบประสาทและจิตเวชตามมาได้
     ปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีโรคทางระบบประสาทในรูปแบบต่างๆ จะเห็นได้ว่าช่วงที่มีอากาศร้อนมากขึ้น จะมีผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคลมบ้าหมูอาจควบคุมอาการชักได้ยากลำบากขึ้น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งจะมีอาการทรุดลง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากขึ้น แพทย์ยังพบว่า อาการของผู้ป่วยจิตเวชร้ายแรงขึ้น โดยเฉพาะโรคจิตเภท จากสถิติในช่วงที่เกิดปรากฏการณ์คลื่นความร้อนในยุโรปเมื่อปี ค.ศ.2003 พบว่า 20% ของผู้เสียชีวิตจากความร้อน 15,000 คน เป็นผู้ป่วยเกี่ยวกับระบบประสาท คลื่นความร้อนทำให้ระบบสื่อสารในสมองทำงานได้ไม่ดีนักและรบกวนการนอนหลับ ผู้ที่เป็นโรคลมบ้าหมูมักมีอาการแย่ลง ขณะที่ร่างกายขาดน้ำในช่วงที่เกิดคลื่นความร้อน เลือดจับตัวเป็นก้อนมากขึ้น เกิดภาวะเลือดข้นหรือเลือดหนืด อันเป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองได้ ส่วนผู้ที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งก็มีอาการทรุดลงเช่นกัน เนื่องจากเกิดความบกพร่องของกลไกเคลื่อนไหวทางไฟฟ้าของเซลล์ประสาทสมองจากอุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้น
     ผู้ที่มีโรคระบบประสาทและจิตเวชได้รับผลกระทบจาก Climate Change มีจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ไมเกรน อัลไซเมอร์ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคลมบ้าหมู และโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ป่วยโรคลมบ้าหมูประมาณ 60 ล้านคน ผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมประมาณ 55 ล้านคน โดยกว่า 60% อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง เมื่อประชากรโลกมีอายุมากขึ้น ตัวเลขเหล่านี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 150 ล้านคน ภายในปี 2050 ขณะที่โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 และเป็นสาเหตุสำคัญของที่ทำให้มีผู้พิการเพิ่มขึ้นทั่วโลก

งานวิจัยผลกระทบ Climate Change ต่อโรค MS
     นักวิทยาศาสตร์หลายคนออกมาเตือนว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมถึงความไม่มั่นคงด้านอาหารและน้ำที่เพิ่มมากขึ้น และความเสี่ยงที่สูงขึ้นต่อโรคทางเดินหายใจและโรคติดเชื้อ นพ.Andrew Dhawan แพทย์ประจำสาขาประสาทวิทยาที่คลีฟแลนด์คลินิกในรัฐโอไฮโอ ได้เขียนรายงานการวิจัยที่เผยแพร่ใน American Academy of Neurology โดยสรุปว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดความท้าทายมากมายสำหรับมนุษยชาติ ซึ่งบางเรื่องยังไม่ได้รับการศึกษาค้นคว้าให้ดีพอ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการลดการแพร่กระจายของโรคติดเชื้อในระบบประสาท รวมทั้งผลกระทบจากมลพิษทางอากาศที่มีต่อระบบประสาท
     ศาสตราจารย์ Sanjay Sisodiya รองผู้อำนวยการ The UCL Queen Square Institute of Neurology และทีมวิจัยนำเสนอบทความในวารสาร Lancet Neurology ฉบับเดือนมิถุนายน 2024 เกี่ยวกับผลกระทบของภาวะภูมิอากาศโลกแปรปรวน หรือ Climate Change ต่อโรค MS รวมทั้งโรคระบบประสาทและสมองอื่นๆ โดยรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากบทความทางวิชาการ 332 ชิ้นจากทั่วโลกระหว่างปี 1968 ถึง 2023 และได้ข้อสรุปว่า มีผู้ป่วย MS โรคจิตเวชและโรคระบบประสาทอื่นๆ เพิ่มขึ้น อาการรุนแรงขึ้นและอุบัติซ้ำมากขึ้นจากผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับมีหลักฐานยืนยันว่า ผลกระทบด้านสุขภาพจาก Climate Change มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในเมืองมากกว่าด้วย
     ศาสตราจารย์ Sisodiya ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนของรัฐบาลทั่วโลกให้มีการวิจัยและพัฒนานโยบายด้านสุขภาพ โดยต้องมีโมเดลการจัดการปัญหานี้อย่างเป็นระบบในอนาคต โดยต้องมีกลยุทธ์สอดคล้องกับวิธีการรักษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ขณะเดียวกัน วงการแพทย์จำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อปัญหานี้อย่างเร่งด่วน เพื่อหาวิธีการรักษาและแนวทางใหม่ๆ ในการบรรเทาสถานการณ์ของโรคเหล่านั้นที่กำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ ส่วนประชาชนทั่วไปและองค์กรที่เกี่ยวข้องควรได้รับข้อมูลใหม่ๆ และทำความเข้าใจเพื่อป้องกันการเกิดโรค
     ส่วนในวารสาร American Academy of Neurology นำเสนอผลการวิจัยของ Dr. Victoria M. Leavitt นักประสาทวิทยาคลินิกชาวอเมริกัน ที่ชี้ให้เห็นว่า อุณหภูมิภายนอกที่สูงขึ้นมีผลให้ผู้ป่วย MS มีอาการทรุดลงจริง เนื่องจากระบบประสาทในผู้ป่วยโรค MS ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อจัดการกับอุณหภูมิร่างกายที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดอาการเหนื่อยล้า ประสาทสัมผัส การเคลื่อนไหวและการรับรู้ของร่างกายเสื่อมลงเร็วขึ้น ทั้งหมดนี้อาจเกิดขึ้นได้หลังจากอุณหภูมิสูงขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส และผู้ป่วยโรค MS มากถึง 80% มีปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายที่รับรู้ถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้ไวมาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงเป็นภัยคุกคามโดยตรงต่อพวกเขาและอาจเร่งการลุกลามของโรคได้
     ขณะเดียวกัน Dr. Barbara Giesser นักประสาทวิทยาที่ Pacific Brain Health Center ในเมืองซานตาโมนิกา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา นำเสนอข้อมูลว่า คนไข้โรคระบบประสาทและสมองเข้ารับการตรวจและรักษาเพิ่มขึ้นมากในช่วงที่อากาศร้อนจัด เนื่องจากเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น การรับ-ส่งข้อมูลทางไฟฟ้าเคมีสัญญาณไฟฟ้าจากสมองไปยังเซลล์ประสาทส่วนต่างๆ ย่อมมีความยากลำบากมากขึ้น อาจทำให้เกิดอาการวูบ (Flare-ups) รุนแรงขึ้นตามมาด้วย Dr. Geisser กล่าวด้วยว่า อาการวูบจากอากาศร้อนจัดเกินไปเรียกว่า 'pseudo-exacerbation' ซึ่งจะหายไปเองถ้าอุณหภูมิร่างกายลดลง เส้นประสาทไม่ได้รับความเสียหายใดๆ แต่ถ้ามีอาการของโรค MS ซึ่งเป็นโรคที่เกิดการอักเสบบริเวณปลอกป้องกันรอบเส้นประสาท ระบบประสาทส่วนกลางมักได้รับความเสียหาย ปลอกและเซลล์ประสาทบางส่วนเสียหายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะปลอกไมอีลินที่อาจถูกทำลายในที่สุด การไหลเวียนของสัญญาณไฟฟ้าของใยประสาทเริ่มบกพร่อง อาการของโรค MS จึงรุนแรงกว่าปกติ การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือเห็นภาพซ้อน กล้ามเนื้ออ่อนแรง สูญเสียการควบคุมกล้ามเนื้อ สูญเสียความรู้สึกและการรับรู้ ซึ่งอาการจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายเข้าแทรกแซงโครงสร้างการส่งสัญญาณประสาทในบริเวณใด

แนวโน้มตลาดยารักษาโรค MS
     ในปัจจุบันมีผู้ป่วยโรค MS ทั่วโลกประมาณ 2.9 ล้านคน โดยตั้งแต่ปี 2013 มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกภูมิภาคของโลกทุกปี โดยผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรค MS มากกว่าผู้ชาย 2 เท่า ในการรักษาโรค MS ทั่วไปเน้นไปที่การชะลอการลุกลามของโรคและการใช้ยาในรูปแบบ Disease-Modifying Therapies (DMTs) ได้แก่ การฉีด การรับประทาน และการให้ยาทางหลอดเลือดดำ (IV) จำนวนผู้ป่วยโรค MS ที่เพิ่มขึ้นทำให้ตลาดยา MS ทั่วโลกมีมูลค่ารวมแล้ว 21,330 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2023 และคาดว่าจะเติบโตจาก 21,160 ล้านดอลลาร์ ในปีนี้ และขยายเป็น 38,940 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2032 หรืออีก 8 ปีข้างหน้า โดยมีอัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 7.9% ตามช่วงระยะเวลาคาดการณ์ (2024-2032) และหากเทียบปีฐาน 2020 อัตราการเติบโตต่อปีอยู่ที่ 4.7%
     จากแนวโน้มดังกล่าว อุตสาหกรรมยาจึงต้องเร่งพัฒนายา DMTs ตัวใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตอบสนองความต้องการของตลาดให้ทันท่วงที ขณะนี้บริษัท Novartis กำลังทดลองยา Remibrutinib ในเฟส 3 โดยเปรียบเทียบประสิทธิภาพและความปลอดภัยของ Remibrutinib กับยารักษา MS ตัวอื่นๆ ในตลาดโลก ขณะที่บริษัท Genentech กำลังทดลองยา Fenebrutinib ในเฟส 2 ขณะเดียวกันยา Aubagio (Teriflunomide) ซึ่งเป็นยาสำหรับรักษาผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งที่มีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป บริษัท Sanofi กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนา Aubagio ให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นไปอีก หลังจากยาตัวนี้ผ่านการอนุมัติจาก FDA มา 12 ปีแล้ว


ขอบคุณข้อมูล :
https://yaleclimateconnections.org/2023/04/global-warming-can-aggravate-multiple-sclerosis-symptoms-heres-what-you-can-do/
https://www.ucl.ac.uk/news/2024/may/climate-change-likely-aggravate-brain-conditions
https://www.pharmaceutical-technology.com/analyst-comment/climate-change-aggravate-multiple-sclerosis/?cf-view