วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่

ภญ.ณัฐพร ไชยะกิตติรัตนา
กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

เนื่องจากผู้สูงอายุมีภูมิคุ้มกันร่างกายลดลงจนอาจทำให้เกิดการติดเชื้อ เจ็บป่วยที่รุนแรงหรือมีโรคแทรกซ้อนง่ายกว่าวัยหนุ่มสาว ดังนั้น การฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคในผู้สูงอายุจึงมีความสำคัญ โดยเฉพาะวัคซีนที่จำเป็นและแนะนำให้ฉีดในผู้สูงอายุมี 4 ชนิด ได้แก่

วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (INFLUENZA VACCINE)
    วัคซีนที่มีจำหน่ายในปัจจุบันเป็นวัคซีนรวมเชื้อไวรัสอินฟลูเอนซา 4 สายพันธุ์ ประกอบด้วยสายพันธุ์เอและบี อย่างละ 2 สายพันธุ์ ซึ่งในแต่ละปีจะมีการผลิตวัคซีนที่ตรงกับชนิดของสายพันธุ์ตามที่องค์กรอนามัยโลกประกาศคาดการณ์ว่าจะระบาดในประเทศโซนซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ สำหรับประเทศไทยกระทรวงสาธารณสุขจะให้บริการฉีดวัคซีนชนิดนี้ฟรีให้กับผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป)
    คำแนะนำ – ฉีดอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ก่อนเข้าฤดูฝน แต่สามารถฉีดได้ตลอดทั้งปี ห้ามฉีดในผู้ที่มีประวัติแพ้ ไข่รุนแรง

วัคซีนป้องกันการ ติดเชื้อนิวโมคอคคัส (PNEUMOCOCCAL VACCINE)
    เมื่อเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอีในระบบทางเดินหายใจ อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่างๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อในกระแสโลหิต การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง เป็นต้น วัคซีนชนิดนี้มี 2 ชนิดที่ใช้ในผู้สูงอายุ คือ ชนิด 23 สายพันธุ์ (23-valent Pneumococcal Polysaccharide Vaccine (PPSV-23) และ ชนิด 13 สายพันธุ์ (13-valent Pneumococcal Conjugate Vaccine (PCV-13)
    คำแนะนำ – ฉีดชนิด PCV-13 1 เข็ม และตามด้วยชนิด PPSV-23 1 เข็ม ห่างกัน 8 สัปดาห์ นอกเหนือจากแนะนำฉีดในผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไปแล้ว ควรฉีดในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ด้วย ได้แก่
    1) ผู้ที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานบกพร่อง
    2) ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวานที่คุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี โรคหัวใจวาย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง เป็นต้น
    3) ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกันยาสเตียรอยด์ขนาดสูง เปลี่ยนถ่ายอวัยวะหรือไขกระดูก
    4) ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ หรือเป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง

วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (DIPHTHERIA AND TETANUSVACCINE: Td)หรือวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรน (Tdap)
    ในประเทศไทยยังพบการระบาดของโรคคอตีบเป็นระยะ จึงแนะนำและส่งเสริมให้ฉีดวัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบและบาดทะยัก (Td) หรือ วัคซีนรวมป้องกันโรคคอตีบ บาดทะยัก และไอกรนชนิดไร้เซลล์ (Diphtheria-Tetanus-acellular Pertussis Vaccine : Tdap) เพื่อช่วยลดการเกิดแพร่เชื้อไอกรนจากผู้ใหญ่ไปสู่เด็กเล็กที่หากติดเชื้อแล้วจะมีอัตราการตายสูง
    คำแนะนำ – Tdap ฉีด 1 เข็ม ครั้งเดียว และ Td ฉีด 1 เข็ม ทุก 10 ปี

วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด (VARICELLA ZOSTER VACCINE)
    โรคงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella Zoster Virus) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับที่ก่อโรคสุกใสในเด็ก เมื่อร่างกายอ่อนแอลงหรือมีภูมิคุ้มกันลดลง จะทำให้เกิดภาวะปวดที่รุนแรงและเรื้อรังตามแนวเส้นประสาทภายหลังจากผื่นงูสวัดหายไปแล้ว (Post-herpetic Neuralgia : PHN)
    คำแนะนำ – ฉีด 1 เข็ม ครั้งเดียว ห้ามฉีดในผู้มีประวัติแพ้เจลาตินและนีโอมัยซินที่รุนแรง ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง หรืออยู่ระหว่างการได้รับยากดภูมิคุ้มกันหรือยาสเตียรอยด์ขนาดสูง และหญิงตั้งครรภ์

เอกสารอ้างอิง : คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย ปีพ.ศ. 2561