รพ.สต.-อบต.ห้วยหิน จ.ลพบุรี บูรณาการงบ “กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น” ปี 65 หนุนโครงการให้ความรู้ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก-มะเร็งเต้านม ลดความเสี่ยงให้กลุ่มสตรีวัย 30-60 ปี วางเป้ารักษาได้ทันหากตรวจเจอตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการ “สตรีร่วมใจ สู้ภัยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม” ซึ่งเป็นการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ห้วยหิน ต.ห้วยหิน อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี โดยบูรณาการงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) ในการสร้างความรู้และตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้กับประชาชน
นพ.ณัฐ หาวารี รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า มะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในกลุ่มสตรีอายุ 30-60 ปี ซึ่งพบว่าโรคนี้มีอัตราการเกิดเพิ่มสูงขึ้นทุกปี และเป็นภัยคุกคามสุขภาพของสตรีในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากโรคมะเร็งหากเป็นแล้วจะทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยสาเหตุส่วนใหญ่มาจากการที่ผู้ป่วยมักได้เข้ารับการรักษา เมื่ออาการอยู่ในระยะที่มากแล้ว ทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
นพ.ณัฐ กล่าวว่า แม้มะเร็งจะเป็นโรคหนึ่งที่รักษาให้หายขาดได้ หากได้รับการตรวจวินิจฉัยและพบแพทย์ตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม แต่อย่างไรก็ตามกลับพบว่าปัจจุบันมีสตรีจำนวนไม่น้อย ที่ยังขาดความรู้ในเรื่องมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะกลุ่มสตรีในเขตชนบท ทาง รพ.สต.ห้วยหิน จึงได้ดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งนี้
น.ส.ฐิติพร เรืองนิคม รักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต.ห้วยหิน กล่าวว่า รพ.สต.ห้วยหิน ดูแลประชากรในพื้นที่รับผิดชอบ 1,980 คน โดยส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มสตรีอายุระหว่าง 30-60 ปี ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรและพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ดี รพ.สต.ห้วยหิน ได้มีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมอยู่เป็นประจำ และเจอผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ช่วงปีที่ผ่านมามีประชาชนเข้ารับการตรวจได้เพียงไม่กี่คนคนเท่านั้น
น.ส.ฐิติพร กล่าวว่า ดังนั้นในปี 2565 รพ.สต.ห้วยหิน จึงได้ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ห้วยหิน ในการนำงบประมาณ กปท. มาทำหน้าที่ส่งเสริมสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคให้แก่ประชาชน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและลดภาระค่าใช้จ่ายจากการดูแลรักษาผู้ป่วย ภายใต้โครงการ “สตรีร่วมใจ สู้ภัยมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม” อันมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความรู้ สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเฝ้าระวังและการป้องกันการเกิดโรค
ทั้งนี้ ในประชาชนกลุ่มสตรีอายุ 30 ปีขึ้นไป จะได้รับการอบรมจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมเบื้องต้นด้วยตัวเองได้อย่างถูกต้อง เพื่อที่หากพบอาการในระยะเริ่มแรกจะได้เข้ารับการรักษาได้ทันที พร้อมกันนี้จะมีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ฟรี ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยจะจัดให้มีการตรวจอีก 2-3 ครั้งภายในปีนี้ เพื่อให้ประชาชนที่ไม่สะดวกมาในครั้งนี้สามารถรับการตรวจในครั้งถัดไปได้
“ปัญหาที่ผ่านมาคือ ประชาชนมีความเขินอายที่จะมาตรวจมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม การทำโครงการนี้จึงอยากให้คนกลุ่มนี้มีความสนใจ และออกมาดูแลตนเองด้วยตัวเองได้มากยิ่งขึ้น” รักษาการผู้อำนวยการ รพ.สต.ห้วยหิน ระบุ
ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า แม้ว่าระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จะให้ความครอบคลุมการรักษาทั้งในส่วนของมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านม ทว่าการที่จะทำให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีโอกาสหายนั้น กลับมีน้อยมาก ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงถือเป็นมาตรการสำคัญที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่
“ตัวอย่างที่ชัดเจนของ อบต.ห้วยหิน ร่วมกับ รพ.สต. ได้ให้ความสำคัญและใช้กลไก กปท. ในการขับเคลื่อน เพื่อลดอัตราการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งเต้านมให้กับสตรีภายในพื้นที่ ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการดำเนินโครงการดีๆ ภายใต้งบประมาณ กปท. ที่จะเป็นตัวอย่างให้กับท้องถิ่นอื่นๆ ทั่วประเทศสามารถไปดำเนินการได้” ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand