ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับในสตรีที่มีกลุ่มอาการเมตาบอลิก

รศ.ดร.สุนันทา ยังวนิชเศรษฐ, ศาสตราจารย์ ดร.ศศิธร
คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
E-mail : sununta.y@psu.ac.th

          ภาวะไขมันสะสมในตับเป็นโรคที่มีไขมันสะสมในเซลล์ของตับมากกว่าปกติโดยไม่มีสาเหตุจากการดื่ม แอลกอฮอล์ (non-alcoholic fatter liver disease) ซึ่งเป็น ปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะอ้วนลงพุงและมีอาการของกลุ่มเมตาบอลิก ทำให้มีผังผืดในตับ (liver fibrosis) ตับอักเสบ (steatohepatitis) ตับแข็ง (cirrhosis) และมะเร็งตับ (liver cancer) ได้ และเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง และไตวายเรื้อรัง
          การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับในสตรีที่มีกลุ่มอาการเมตาบอลิก กลุ่มตัวอย่างจำนวน 170 ราย เป็นสตรีที่มีอาการแสดงของกลุ่มอาการเมตาบอลิกอย่างน้อย 3 อย่าง ใน 5 อาการ ได้แก่ 1) มีภาวะอ้วนลงพุงโดยมีเส้นรอบเอวมากกว่า 35 นิ้ว 2) ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหารสูงกว่า 100 มก./ดล. 3) ไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงกว่า 150 มก./ดล. 4) เอชดีแอลคอเลสเตอรอล ต่ำกว่า 50 มล./ดล. และ 5) ความดันโลหิตสูงกว่า 130/85 มม.ปรอท ผลการศึกษาพบว่าสตรีที่มีอาการกลุ่มเมตาบอลิกร้อยละ 24.70 ได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะไขมันสะสมในตับโดยการตรวจด้วยอัลตราซาวด์ โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การรับประทานเนื้อสัตว์ที่มีไขมัน การรับประทานขนมที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ การดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและฟรุคโตส และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ
          ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่มีไขมัน และน้ำตาลสูง เกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะไขมันสะสมในตับและกลุ่มอาการเมตาบอลิก ดังนั้นควรป้องกันการเกิดโรคไขมันสะสมในตับและภาวะแทรกซ้อนต่างๆโดยการรับประทานอาหารที่ไม่มีไขมันและน้ำตาลสูง และมีการออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันส่วนเกินในร่างกายเป็นประจำ ดังนี้
          1. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันสัตว์ เช่น หมูกรอบ หมูสามชั้น ขาหมู
          2. ลดการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำตาลและฟรุคโตส เช่น น้ำหวาน ชาเย็น กาแฟเย็น เครื่องดื่มบรรจุขวดที่มีส่วนผสมของฟรุคโตส น้ำอัดลมต่างๆ
          3. ไม่ควรรับประทานอาหารและขนมที่มีส่วนผสมของไขมันทรานส์ เนย และมาการีน เช่น เค๊ก คุ๊กกี้ มันฝรั่งทอด ขนมปัง และขนมต่างๆที่ผลิตจากโรงงาน
          4. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ประเภทต่างๆ เช่น สุรา เบียร์
          5. ควรเพิ่มกิจวัตรประจำวันที่มีกิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายในรูปแบบต่างๆเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที เช่น การขึ้นลงบันได การเดิน การวิ่ง การปั่นจักรยาน การเล่นกีฬาต่างๆ
          6. รับประทานอาหารที่มีพลังงานต่ำและใยอาหารสูงซึ่งมีส่วนประกอบของผักและผลไม้ต่างๆ เช่น บรอคโคลี่ ผักใบเขียว ขมิ้น กระเทียม แอปเปิล มะละกอ และธัญพืชต่างๆ