เรื่องโดย จุติพร วรรณศิริ Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก งานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน”
สถิติตัวเลขของการสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงปีหลัง ๆ มานี้ ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หลายคนต่างให้ความสำคัญและตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน คนรุ่นใหม่ที่มีความตื่นตัว และตระหนักถึงปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ อาทิ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขับรถเร็ว อันเป็นสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน และเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อยู่ใกล้ตัวพวกเขาเป็นอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของเสวนา “บทเรียนการขับเคลื่อนเครือข่ายเยาวชนกับความปลอดภัยทางถนน” และพิธีมอบข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” โดยความร่วมมือของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน เพื่อสะท้อนบทเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานด้านความปลอดภัยทางถนนของกลุ่มเครือข่ายเยาวชน เพื่อนำไปพัฒนา ต่อยอด การขับเคลื่อนงานสร้างความปลอดภัย ทางถนน ลดอัตราการบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า ต้องทำให้เด็กและเยาวชนเข้าใจ และตระหนักถึงปัญหาการเกิดอุบัติเหตุ รวมไปถึงผลที่จะตามมาว่าจะเกิดการสูญเสียมากแค่ไหน หากไม่สวมหมวกกันน็อกเวลาขับขี่ เราจำเป็นต้องเน้นย้ำกับกลุ่มเด็กและเยาวชนมากเป็นพิเศษ เพราะความสูญเสียที่เกิดจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่ มักเกิดกับเด็กและเยาวชน
“ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมานี้ สถานการณ์โควิด-19 ทำให้อัตราการเสียชีวิตของจากอุบัติเหตุบนท้องถนนลดลงไปมาก เนื่องจากไม่มีการดื่มแอลกอฮอล์ ขับรถเร็ว หรือการเดินทางสัญจรไปมาก็ลดน้อยลง ซึ่งถือว่าตัวเลขอยู่ในเกณฑ์ที่ดี รวมทั้งทางเครือข่ายเยาวชนได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในสถานศึกษา เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านความปลอดภัยทางถนน ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านความปลอดภัย เป็นการฝึกให้เยาวชนมีวินัยในการขับขี่ และใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาเหล่านี้คือพลังสำคัญในการแก้ไขปัญหา ที่จะทำให้ลดตัวเลขการสูญเสียหรือการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทยลดลงได้” ดร.สาธิต กล่าว
ทางด้าน นายธนบูรณ์ พ่อหลอน ผู้แทนเครือข่ายเยาวชน YOURS Networkกล่าวว่า เครือข่ายเยาวชน YOURS Network จัดตั้งมาประมาณ 2 ปีแล้ว มีการจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจด้านความปลอดภัยทางถนนให้กับนิสิตนักศึกษาในมหาวิทยาลัย ทั้งสื่อประชาสัมพันธ์ สร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถ ใช้ถนน กวดขันวินัยจราจร และรณรงค์ให้สวมหมวกกันน็อก เมื่อขับขี่จักรยานยนต์
แนวทางการดำเนินงานในช่วงสถานการณ์โควิด - 19 ของ YOURS Network คือ หลัก 4 มี ประกอบด้วย
1) มีใบขับขี่ เพื่อแสดงว่าผู้ใช้รถ มีความรู้ในการขับขี่ยานพาหนะ รวมทั้งรู้กฎในการใช้รถ ใช้ถนน
2) มีหมวกกันน็อค ทั้งคนขับและคนซ้อน
3) มี พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุ
4) มีหน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยในช่วงสถานการณ์โควิด -19
“เครือข่าย YOURS Network ทำงานเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยในจังหวัดสกลนคร 3 สถาบัน คือ 1) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร 2) มหาวิทยาลัยราชภัฎสกลนคร และ 3) มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตสกลนคร รวมถึงขยายเครือข่ายไปยังวิทยาลัยเทคนิคสกลนคร โรงเรียน และอบจ. ในจังหวัดสกลนครอีกด้วย” นายธนบูรณ์ กล่าว
ในด้านของ นายธนพนธ์ โพธิ์ทรัพย์ ผู้แทนเยาวชนชมรม RSCกล่าวว่า ได้มีการรณรงค์ในเรื่องของความปลอดภัยทางถนน โดยใช้ช่องทางสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook ในการเผยแพร่ความรู้ และประชาสัมพันธ์ข้อมูล ข่าวสารสำคัญต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังมีการตั้งจุดตรวจวินัยจราจรตามมาตรการ จับ ปรับ ลด คือ ส่วนของการจับ คือ จับนิสิตนักศึกษาที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัย โดยไม่สวมหมวกกันน็อก ส่วนต่อมา คือ การปรับ ซึ่งการปรับในที่นี้ ไม่ใช่การปรับเงิน แต่เป็นการปรับทัศคติว่า หากไม่สวมหมวกกันน็อก อาจจะก่อให้เกิดการสูญเสียภายหลังได้ จึงมีการปรับทัศนคติ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีในการสวมหมวกกันน็อก
“ข้อสุดท้าย การลด คือ ลดจำนวนชั่วโมงกิจกรรม แทนบทลงโทษหากมีการทำผิดกฎจราจรภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากภายในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตสกลนคร มีการเก็บสะสมชั่วโมงกิจกรรมเป็นเกณฑ์ประกอบในการพิจารณาการสำเร็จการศึกษา หากทำกิจกรรมไม่ครบตามชั่วโมงที่กำหนด อาจไม่ได้รับการอนุมัติผลการศึกษา ดังนั้น จึงมีการลดชั่วโมงกิจกรรม และให้นักศึกษาบำเพ็ญประโยชน์แทน เพื่อไม่ให้มีการฝ่าฝืนกฎจราจรในมหาวิทยาลัย ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้ เป็นการฝึกให้นักศึกษามีวินัยในการขับขี่ และใช้รถใช้ถนนในมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น” นายธนพนธ์ กล่าว
การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ยังคงเป็นภารกิจสำคัญที่ สสส. และภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนและทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความตระหนักในการขับขี่ปลอดภัย ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจในการใช้รถ ใช้ถนนอย่างถูกต้อง
การสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่เยาวชน และทำให้พวกเขาได้เข้ามามีบทบาท และส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และสร้างมาตรฐานใหม่ในด้านความปลอดภัยทางถนน พลังจากคนรุ่นใหม่ ถือเป็นหนึ่งกลไกสำคัญที่จะช่วยลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ นำพาสังคมไทยก้าวสู่ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ กลายเป็นสังคม ที่มีรากฐาน และวัฒนธรรมในการสร้างความปลอดภัยทางถนนอย่างยั่งยืน