วิถีความปลอดภัยทางถนน เริ่มต้นได้ที่ตัวเรา

   


เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th

ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ดูเหมือนจะมีแนวโน้มที่ลดลง แต่ในทางกลับกันยอดตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างสูง อีกทั้งมีสัญญาณบ่งชี้ว่าการเกิดอุบัติเหตุในปัจจุบันมีความหลากหลายและรุนแรงขึ้น


            ด้วยเหตุนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่ายป้องกันอุบัติเหตุทางถนน จึงร่วมกันจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่อง ความปลอดภัยทางถนน ครั้งที่ 15 “ทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ขับขี่ปลอดภัยต้องมาก่อน” โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาเป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ


            “สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหาอุบัติเหตุทางถนน โดยการเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจัดอยู่ใน 7 เป้าหมายการทำงานในทศวรรษหน้าของ สสส. เพราะความสูญเสียจากอุบัติเหตุเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการมีสุขภาวะที่ดีของคนไทย” เป็นมุมมองของ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส.


          ดร.สุปรีดา  กล่าวถึงบทบาทการขับเคลื่อนงานสุขภาพด้านความปลอดภัยทางถนนว่า ต้องยอมรับว่าอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ อย่างไรก็ตาม ถ้าเรามีการจัดวางระบบความปลอดภัยที่ดูแลถนนและยานพาหนะ ควบคุมการใช้ความเร็ว รวมไปถึงตัวผู้ใช้รถใช้ถนน ก็จะสามารถช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุลงได้ โดยที่ผ่านมา สสส. ร่วมกับแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด หรือ สอจร. สนับสนุนการทำงานของหน่วยงานในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นกลไกแนวนอนในการขับเคลื่อนงานสร้างความปลอดภัยทางถนนในชุมชน โดยส่งเสริมจังหวัดต้นแบบนำร่องลดอุบัติเหตุ และขยายลงไปสู่ระดับอำเภอและตำบลต้นแบบ รวมไปถึงส่งเสริมการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยลดอุบัติเหตุ


          นอกจากนี้ สสส. ยังได้เข้าไปส่งเสริมทักษะถึงในโรงเรียนและศูนย์เด็กเล็ก เพื่อปลูกฝังเด็กและเยาวชนให้เรียนรู้เรื่องความปลอดภัยทางถนน และใส่ใจวินัยจราจร


          ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า ครึ่งปีจากนี้ สสส. และภาคีเครือข่าย ชวนตั้งเป้าหมายท้าทาย ช่วยกันดูแล 3 พฤติกรรมเสี่ยงสำคัญ คือ



  1. ทุกจังหวัดตั้งเป้าหมาย สวมหมวกนิรภัย 99%

  2. ควบคุมพฤติกรรมการดื่มแล้วขับ ดื่มต้องไม่ขับ

  3. ลดความเร็วในเขตเมืองและชุมชน โดยต้องไม่เกิน 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยเฉพาะเขตพื้นที่ โรงเรียน โรงพยาบาล ตลาด และชุมชน


        

  ด้าน นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ความปลอดภัยทางถนนเป็นเรื่องของทุกคน  ปัจจุบันเราได้เข้าสู่ความปลอดภัยทางถนนในทศวรรษที่ 2 แล้ว โดยที่ประชุมองค์การสหประชาชาติได้มีมติให้ดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป เพราะในทศวรรษที่เพิ่งจบไป ประเทศต่าง ๆ รวมถึงประเทศไทย ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายลดอุบัติเหตุได้ ทางองค์การอนามัยโลก  จึงได้กำหนดหลักการสากลในเรื่อง วิถีแห่งระบบที่ปลอดภัย หรือ Safe System Approach ซึ่งสามารถเข้ามามีส่วนช่วยลดความรุนแรงที่เกิดจากอุบัติเหตุจากความผิดพลาดของคนได้ เช่น การออกแบบถนนให้มีความเหมาะสม ยานพาหนะและความเร็วที่ปลอดภัย เพื่อเป็นแนวทางในการยกระดับการจัดการ ควบคู่กับการมีระบบกำกับติดตามที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


         

 ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงใหม่ ๆ จากวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น การเพิ่มขึ้นของกลุ่มผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์เดลิเวอรี กลุ่มไรเดอร์ส่งของ ส่งอาหาร หรือการมีสัญญาณของดัชนีความรุนแรงและการเสียชีวิต ณ จุดเกิดเหตุที่มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นนั้น  สาเหตุหลักมาจากเรื่องความเร็ว และปัจจัยร่วม เช่น การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัยขณะขับขี่


            “สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ บ่งชี้ว่าเรื่องอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นโจทย์ท้าทายที่สำคัญของประเทศไทยโดยทุกฝ่ายต้องมุ่งเน้นสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนให้เกิดสภาพแวดล้อมในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย ทั้งด้านกายภาพ ด้านสังคม ด้านกฎหมาย และการบังคับใช้ รวมไปถึงส่งเสริมทักษะความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน เพื่อยกระดับสู่ทศวรรษแห่งความปลอดภัยวิถีใหม่ โดยมีเป้าหมายลดจำนวนการตายจากอุบัติเหตุทางถนน ไม่เกิน 12 คนต่อประชากรแสนคน หรือลดการตายลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2570” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว


          สำหรับแนวทางเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของผู้ใช้รถใช้ถนน ได้แก่



  1. ส่งเสริมให้ผู้ขับขี่มีความตระหนักถึงการขับขี่รถในสภาพที่ร่างกายมีความพร้อม และอยู่ในภาวะตื่นตัว

  2. ประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ความรู้ ความเข้าใจกับผู้ใช้รถใช้ถนน ให้ปฏิบัติตามกฎจราจร

  3. สร้างความเข้าใจในทุกภาคส่วนถึงหลักความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อความปลอดภัยทางถนน

  4. บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง โดยเฉพาะกับผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

  5. มีการจัดการในการนำผู้ขับขี่หน้าใหม่เข้าสู่ระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป และดูแลให้สอดคล้องกับระดับความสามารถของผู้ขับขี่


                ความรอบรู้ทางวิชาการ การถอดบทเรียนจากกรณีศึกษา การออกกฎระเบียบเพื่อควบคุมป้องปราม รวมไปถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อช่วยเพิ่มความปลอดภัยทางถนน สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแต่ต้องอาศัยระยะเวลา และความพร้อมต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย คือ การลดลงของอุบัติเหตุ แต่สิ่งที่สามารถเริ่มต้นได้เลย คือ การขับขี่อย่างปลอดภัย ด้วยการใส่ใจกฎจราจร และมีน้ำใจกับเพื่อนร่วมทาง


          เพราะความปลอดภัยเป็นสิ่งสำคัญในการใช้รถใช้ถนน สสส. และภาคีเครือข่าย ชวนคนไทยมาร่วมสร้างทศวรรษใหม่ วิถีใหม่ ร่วมกันลดตัวเลขความสูญเสียจากอุบัติเหตุ สร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างแท้จริง