สายตาผิดปกติในเด็ก (Refractive Error in Children)

นพ.วรากร  เทียมทัด
จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านโรคตาในเด็กและตาเข
ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล

ในเด็กเล็กค่าสายตาปกติจะเป็นสายตายาว เนื่องมาจากเด็กมีขนาดลูกตาเล็ก และกำลังโฟกัสของกระจกตาและเลนส์น้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงมีผลให้ภาพที่เกิดขึ้นตกหลังลูกตา หรือสายตายาวนั่นเอง ซึ่งสายตายาวอาจเพิ่มขึ้นได้จนอายุประมาณ 8 ปี หลังจากนั้น สายตายาวก็จะลดลง จนเข้าสู่ภาวะปกติ

ความผิดปกติของสายตาในเด็ก
          1. สายตายาว (Hyperopia)
          ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ในเด็กจะมีสายตายาว ซึ่งจะต่างจากสายตายาวตามอายุในผู้ใหญ่ที่เกิดเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป หากสายตายาวในเด็กมากกว่าเกณฑ์ปกติ ก็ส่งผลทำให้ภาพไม่ชัด โดยเฉพาะเวลามองใกล้ ๆ และในบางรายอาจพบว่า สายตายาวที่มากนั้นมีผลทำให้เกิดภาวะตาเขเข้าในได้ด้วย ในบางรายสายตายาวในข้างใดข้างหนึ่งมากกว่า ข้างที่สายตายาวมากกว่าก็มีความเสี่ยงในการเกิดตาขี้เกียจได้เช่นกัน
          2. สายตาสั้น และสายตาสั้นเทียม (Myopia)
          ในเด็กไทย และเด็กชาวเอเชีย พบว่ามีอุบัติการณ์สายตาสั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก และรวดเร็ว จากการศึกษาพบว่า สายตาสั้นนั้นจะพบน้อยในเด็กที่ใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน หรือนอกห้องเรียน เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กที่อยู่ในบ้านบ่อยกว่า ส่วนหนึ่งเชื่อว่าการที่มองระยะใกล้นาน ๆ น่าจะเป็นปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการสายตาสั้นได้
          สายตาสั้นในเด็กต้องระวังว่าอาจเป็นสายตาสั้นเทียมได้ เนื่องจากในเด็กชอบการเพ่งมอง การเพ่งมองนั้นจะทำให้การวัดสายตาออกมาเป็นสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริง หรือที่เรียกว่า “สายตาสั้นเทียม” นั่นเอง
          สายตาสั้นในเด็กถือว่าเป็นความผิดปกติทั้งหมด เด็กที่มีสายตาสั้นมักมาด้วยอาการมองไม่เห็นที่ไกล ต้องเดินไปดูใกล้ ๆ หรืออาการหยีตาเวลาที่ต้องการจ้องมองวัตถุไกล ๆ
          3. สายตาเอียง (Astigmatism)
          สายตาเอียงนั้นส่วนมากเกิดมาจากกำลังการโฟกัสในแต่ละแนวของกระจกตาดำไม่เท่ากัน เพราะตามธรรมชาติกระจกตาดำของมนุษย์ไม่ได้กลมเหมือนกับลูกบอล แต่กลมรีเหมือนลูกรักบี้ ทำให้ความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพไม่ได้ตกโฟกัสลงในจุดเดียวกัน มีผลทำให้ภาพที่เห็นนั้นมัว ทั้งระยะไกลและใกล้ เด็กที่มีสายตาเอียงมากจนก่อให้เกิดปัญหามักจะแก้ไขโดยการเอียงหน้า หรือตะแคงหน้ามองเพื่อหาแนวหรือมุมโฟกัสที่ชัดที่สุด
          ภาวะสายตาที่ผิดปกติทั้ง 3 ชนิดที่กล่าวมา อาจนำไปสู่โรคตาขี้เกียจได้หากค่าสายตาข้างใดข้างหนึ่งแย่กว่าอีกข้างหนึ่ง หรือค่าสายตาแย่มากทั้ง 2 ข้าง

การวัดสายตาในเด็ก
          เนื่องจากธรรมชาติของเด็กชอบเพ่ง จ้อง ทำให้วัดค่าสายตาได้เป็นสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริง หรือวัดค่าสายตายาวได้น้อยกว่าความเป็นจริง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ต้องระงับหรือหยุดการเพ่งของเด็กชั่วคราว โดยเฉพาะในเด็กอายุน้อยกว่า 12 ปี ซึ่งวิธีที่เป็นมาตรฐาน คือ การหยอดยาเพื่อลดการเพ่ง แล้วทำการวัดสายตา ก็ทำให้ทราบค่าสายตาจริง ๆ ของเด็ก ยาชนิดนี้ไม่ใช่ยากลุ่มเดียวกับยาขยายม่านตาในผู้ใหญ่
          หลังจากตรวจวัดสายตาเสร็จ จักษุแพทย์จะทำการสั่งแว่นตาตามความเหมาะสม จากนั้นจะนัดตรวจติดตามเป็นระยะ เนื่องจากค่าสายตาในเด็กมีการเปลี่ยนแปลงได้ตลอด โดยทั่วไปจะหยอดยาวัดสายตา ปีละ 1 ครั้ง จนกระทั่งอายุประมาณ 11 ถึง 12 ปี ก็จะสามารถวัดสายตาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ เนื่องจากกำลังการเพ่งลดลงใกล้เคียงผู้ใหญ่ และส่วนมากค่าสายตาก่อนหยอดยาและค่าสายตาหลังหยอดยาไม่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลว่าไม่ต้องหยอดยาวัดสายตาในเด็กกลุ่มนี้

การเตรียมตัวในการตรวจวัดสายตาในเด็ก
          1. ควรเป็นวันที่ไม่มีไข้ ร่างกายปกติดี ไม่มีการสอบหรือการเรียนที่ต้องใช้สายตามากในวันรุ่งขึ้น เพราะยาจะทำให้มองที่ใกล้ไม่ชัดประมาณ 1 วัน
          2. เตรียมแว่นตาดำ หรือหมวกมาด้วย เพราะหลังการตรวจม่านตาจะขยายเล็กน้อย อาจทำให้มีการแพ้แสงได้ ประมาณ 1 วัน
          3. หยอดยาวัดสายตา ทุก 5 ถึง 10 นาที 2 ถึง 3 ครั้ง ทั้ง 2 ตา จากนั้นรอประมาณ 30 นาที จะสามารถตรวจได้ ในระหว่างหยอดยาเด็กอาจงอแงได้ เนื่องจากยาหยอดตาแสบ
          4. หลังตรวจวัดสายตาเรียบร้อย จักษุแพทย์จะทำการตรวจจอประสาทตา เนื่องจากม่านตาขยายพอที่จะสามารถตรวจได้
          5. หลังตรวจเรียบร้อยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนในบ้าน ไม่ควรโดนแสงไฟสว่างมาก ๆ

ขอขอบคุณข้อมูล :   https://theworldmedicalcenter.com › new_site › detail