สร้างสังคมปลอดบุหรี่ เริ่มต้นที่โรงเรียน

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th


ข้อมูลจาก เวทีเชิดชูเกียรติ  10 

โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของเด็ก และครูก็เปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็กเช่นกัน โรงเรียนไม่เพียงแต่เป็นสถานที่อบรมและให้วิชาความรู้กับเด็กนักเรียนเท่านั้น แต่โรงเรียนยังเป็นสถานที่ที่สร้างเสริมสุขภาพให้เด็กห่างไกลจากปัจจัยเสี่ยง อย่างเช่น เหล้า บุหรี่ และอบายมุขทั้งหลาย เพื่อให้เด็กนักเรียนมีภูมิคุ้มกันและเติบโตไปเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไป


โรงเรียนปลอดบุหรี่ สำคัญอย่างไร? หลายคนอาจสงสัยว่าโรงเรียนจะสามารถเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้เด็กไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงอย่าง ‘บุหรี่’ ได้จริงหรือ เชื่อเสมอว่าหากครูเป็นแม่พิมพ์ที่ดีให้เด็กแล้ว นักเรียนที่เป็นผลงานพิมพ์ก็จะดีตามไปด้วยโรงเรียนและครูเป็นด่านสำคัญที่จะช่วยปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่และอบายมุขอื่น ๆ  ด้วยการสร้างเสริมความรู้ ความเข้าใจให้กับเด็กนักเรียนผ่านการเรียนการสอน ผ่านการทำกิจกรรม ต่าง ๆ เมื่อเด็กเข้าใจและรับรู้ถึงผลเสียจากการสูบบุหรี่ เขาก็จะไม่อยากทดลองสูบ


ด้วยภารกิจป้องกันก่อนรักษา เพื่อสร้างเสริมสุขภาพให้คนไทยห่างไกลปัจจัยเสี่ยง เป็นสิ่งที่ สสส. และภาคีเครือข่ายยึดมั่นในการทำงานขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมปลอดบุหรี่ และเป็นที่มาของการจัดงานเวทีเชิดชูเกียรติ  10  โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และแอลกอฮอล์ พื้นที่กรุงเทพฯ สสส. เห็นถึงความสำคัญของเด็กและเยาวชน กระตุ้น สานและเสริมพลังให้กับภาคีเครือข่ายสุขภาพ ร่วมกันขับเคลื่อนงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ เดินหน้าทำความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ สร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และบุคลการทางการศึกษาให้หันมาร่วมมือร่วมใจในการจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียนให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ส่งเสริมให้โรงเรียนเป็นเกราะคุ้มกันชั้นแรกในการปกป้องเด็กและเยาวชนไม่ให้สูบบุหรี่

นางสุวิมล จันทร์เปรมปรุง คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า “เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 มีเป้าหมายในการสนับสนุนและเพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดบุหรี่และแอลกฮอล์ สนับสนุนให้โรงเรียนต่าง ๆ ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ด้วยแนวทาง 7 มาตรการ     ที่ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนให้เป็น “โรงเรียนปลอดบุหรี่” ได้สำเร็จ สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ มีโรงเรียนจำนวน 74 โรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการและมี 10 โรงเรียนที่ได้ยกระดับเป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่และมีผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น


โรงเรียนปลอดบุหรี่ไม่เพียงแค่ป้องกันการเกิดนักสูบหน้าใหม่ สร้างวัฒนธรรมของการไม่สูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนเท่านั้น แต่ยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในโรงเรียน สร้างอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดีในโรงเรียนอีกด้วย” นางสุวิมล กล่าว


 

"7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่" มีอะไรบ้าง


มาตรการที่ 1 กำหนดนโยบาย "โรงเรียนปลอดบุหรี่"


มาตรการที่ 2 การบริหารจัดการเพื่อ "โรงเรียนปลอดบุหรี่"


มาตรการที่ 3 การจัดสภาพแวดล้อมเพื่อ "โรงเรียนปลอดบุหรี่" ตามกฎหมาย


มาตรการที่ 4 การสอดแทรกเรื่องบุหรี่ในการจัดการเรียนรู้


มาตรการที่ 5 การมีส่วนร่วมของนักเรียนเพื่อการขับเคลื่อน


มาตรการที่ 6 การดูแลช่วยเหลือนักเรียนไม่ให้สูบบุหรี่


มาตรการที่ 7 การมีกิจกรรมร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน


ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ครู คือคนสำคัญที่
จะขับเคลื่อนทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ บทบาทของโรงเรียนไม่เพียงแต่เป็นสถานที่ที่ให้วิชาความรู้ สติปัญญากับ
เด็กนักเรียนเท่านั้น แต่โรงเรียนยังเป็นสถานที่สร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันเด็กและเยาวชนให้ห่างไกลจากพิษภัยของบุหรี่
และหากทุกโรงเรียนทั่วประเทศ กำหนดนโยบายการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแนวทาง 7 มาตรการเพื่อให้เป็นโรงเรียนปลอดบุหรี่ จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในกลุ่มเด็กและเยาวชนในสถานศึกษา


“ขอบคุณคุณครูทุกคนที่ริเริ่มและดำเนินงาน ‘โรงเรียนปลอดบุหรี่’ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าคุณภาพชีวิตเยาวชนของเราอีกแล้ว เพราะพวกเขาจะต้องเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป การทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่เป็นด่านแรกที่จะป้องกันไม่ให้เยาวชนไปสู่สารเสพติดชนิดอื่น คุณครูทุกท่านมีส่วนทำให้ภาพรวมอัตราการสูบบุหรี่ของเยาวชนเราลดลงไป ครูไม่เพียงแต่จะให้วิชาความรู้ สติปัญญาแก่เด็กเท่านั้น แต่ครูยังช่วยบ่มเพาะ สร้างความเข้าใจและป้องกันไม่ให้เด็กสูบบุหรี่ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยชีวิตของเด็กเลย” ศ.นพ.ประกิต กล่าว


ชวนทำความรู้จักกับหนึ่งโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้กับ โรงเรียนวัดปากบ่อ สำนักงานเขตสวนหลวง มีผลงานเด่น คือ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ และคุกกี้ anti-smoking


คุณครูธีรพล พิศาลโกศล ครูผู้รับผิดชอบโครงการ เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนวัดปากบ่อส่งเสริมให้นักเรียนมีความรู้ ความเข้าใจถึงโทษภัยจากการสูบบุหรี่ผ่านการทำกิจกรรมร่วมกันในโรงเรียน และสอดแทรกเนื้อหาสาระของพิษภัยบุหรี่เข้าไปในการเรียนการสอน มีผลงานชิ้นเอก คือ นวัตกรรมชาโปร่งฟ้าบอกลาบุหรี่ ภายในโรงเรียนจะมีการปลูกต้นโปร่งฟ้า ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งความอยากบุหรี่ได้เป็นอย่างดี โดยนำใบของต้นโปร่งฟ้ามาแตกแห้งและนำมาชงเป็นชารับประทาน มีการทดลองใช้กับผู้ที่สูบบุหรี่ พบว่า เมื่อรับประทานชาโปร่งฟ้าที่โรงเรียนวัดปากบ่อผลิต ทำให้รู้สึกอยากสูบบุหรี่ลดลง


“สร้างสังคมปลอดบุหรี่ เริ่มต้นที่โรงเรียน” การจัดกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในโรงเรียน โดยเน้นกิจกรรมที่สร้างการรับรู้ถึงนักเรียนโดยตรงเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง จะช่วยเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยของบุหรี่ และช่วยป้องกันไม่ให้นักเรียนอยากทดลองสูบบุหรี่ได้จริง เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นด่านแรกที่จะช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนไม่ให้ก้าวไปสู่สิ่งเสพติดชนิดอื่นได้  อีกทั้งยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของทุกคนในโรงเรียน และสร้างการมีส่วนร่วมของครู นักเรียน และบุคลากรทางการศึกษาให้หันมาร่วมมือร่วมใจในการสร้างโรงเรียนปลอดบุหรี่ ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้


สสส. และภาคีเครือข่ายสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนรู้เท่าทันพิษภัยของบุหรี่ ด้วยการสื่อสารข้อมูลและองค์ความรู้ที่ถูกต้อง รณรงค์สร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ ลดการเพิ่มจำนวนนักสูบหน้าใหม่ ปกป้องเยาวชนไทยให้พ้นจากพิษภัยของบุหรี่ ขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคม ‘ไร้ควันบุหรี่’ เพื่อสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน


สำหรับโรงเรียนที่ต้องการข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยใช้ 7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.smokefreeschool.net/   หรือติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่เพจ https://www.facebook.com/smokefreeschool  และหากต้องการขอสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพื่อใช้จัดกิจกรรมในโรงเรียนสามารถขอรับสื่อฟรีได้ที่ www.smokefreezone.or.th หรือติดต่อที่โทรศัพท์หมายเลข 0-2278-1828