พญ.นิลวรรณ นิมมานวรวงศ์ แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว
เชี่ยวชาญการดูแลแบบประคับประคอง ศูนย์มะเร็ง รพ.พญาไท 2
การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) เป็นที่รู้จักกว้างขวางในต่างประเทศ โดยเฉพาะในประเทศตะวันตก และกำลังเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในประเทศไทย แต่การดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยเฉพาะในช่วงใกล้เสียชีวิต ยังจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวไม่ตื่นตระหนก เข้าใจและรับมือกับอาการที่เกิดขึ้นได้
การดูแลแบบประคับประคองคืออะไร
การดูแลแบบประคับประคอง หรือ Palliative Care คือ การดูแลที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว โดยลดความทุกข์ทรมานทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เป็นการดูแลควบคู่กับการรักษาหลักที่มุ่งหวังกำจัดตัวโรค การดูแลแบบประคับประคองจะคำนึงถึงความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยและครอบครัวร่วมด้วยเสมอ
การดูแลแบบประคับประคอง...ไม่ใช่เพียงแค่การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย
หากแต่เป็นแนวทางการดูแลในภาพกว้าง ตั้งแต่เริ่มเผชิญภาวะความเจ็บป่วยที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต ครอบคลุมจนถึงการดูแลในช่วงที่ผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต เป็นการดูแลแบบองค์รวมตั้งแต่ต้นตราบจนวาระสุดท้าย
เมื่อกล่าวถึงผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง คนทั่วไปอาจคิดถึงภาพของผู้ป่วยที่หมดหวัง รอความตาย ใกล้เสียชีวิต ไม่สามารถรับการดูแล หรือการรักษาใด ๆ ได้อีก แต่แท้จริงแล้ว เราสามารถช่วยเหลือบรรเทาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ แม้ว่าไม่อาจกำจัดตัวโรคให้สิ้นไปได้ด้วยการดูแลแบบประคับประคอง
หลักการของการดูแลแบบประคับประคอง
การดูแลแบบประคับประคองเป็นการดูแลควบคู่ไปกับการรักษาหลัก โดยมีหลักการที่สำคัญ ดังนี้
- ดูแลทั้งผู้ป่วยและครอบครัว
- ประเมินผู้ป่วยอย่างถี่ถ้วนและรอบด้าน ให้การดูแลโดยมุ่งลดความทุกข์ทรมานทั้งจากอาการทางกาย เช่น ลดอาการปวด หอบเหนื่อย อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน จากอาการทางจิตใจ เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น
- พยายามดูแลให้ผู้ป่วยถึงวาระสุดท้ายอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่เร่งการเสียชีวิต ไม่ยืดการเสียชีวิต
เริ่มดูแลแบบประคับประคองได้เมื่อใด
สามารถเริ่มได้ตัังแต่ผู้ป่วยเริ่มเผชิญภาวะความเจ็บป่วยที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยค่อย ๆ มีบทบาทมากขึ้นเมื่อตัวโรคเป็นมากขึ้น อาการของผู้ป่วยมากขึ้น ตราบจนกระทั่งผู้ป่วยจากไป รวมถึงให้การดูแลความเศร้าโศกเสียใจของครอบครัวจากการสูญเสียด้วย
สถานที่สำหรับการดูแลแบบประคับประคอง
การดูแลแบบประคับประคองนั้น สามารถทำได้ทั้งที่บ้าน โรงพยาบาล หรือในสถานพยาบาลที่มีความพร้อม โดยขึ้นกับอาการของผู้ป่วยในขณะนั้น หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรง เช่น มีภาวะติดเชื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับการดูแลที่โรงพยาบาลเนื่องจากต้องให้การรักษาหรือให้ยาทางหลอดเลือด หรือสาเหตุอื่น จนเมื่ออาการของผู้ป่วยสงบลง ก็อาจกลับมาดูแลที่บ้าน หรือที่สถานพยาบาลที่มีความพร้อมได้ ทั้งนี้ ขึ้นกับสภาวะของผู้ป่วยและบริบทของครอบครัว
ทำความเข้าใจอาการของผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตและการดูแลเบื้องต้น
เมื่อการดำเนินโรคเป็นมากขึ้น คงต้องยอมรับความจริงที่ว่า ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงการเสียชีวิตได้ แต่จะทำอย่างไรให้ผู้เสียชีวิตนั้นจากไปด้วยความไม่ทุกข์ทรมาน ครอบครัวได้เตรียมตัวเตรียมใจกับความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้น การทำความเข้าใจอาการที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต อาจช่วยให้ครอบครัวและผู้ดูแลสามารถรับมือได้ดียิ่งขึ้น ดังนี้
- อ่อนเพลีย อ่อนล้า ไม่มีแรง ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เช่นเดิม
เนื่องจากการดำเนินโรคที่เป็นมากขึ้น ความสามารถในการทำกิจวัตรของผู้ป่วยจะค่อย ๆ ลดลงตามไปด้วย ผู้ป่วยอาจไม่สามารถขึ้นบันไดได้ ดังนั้น หากผู้ป่วยได้รับการดูแลที่บ้าน อาจจำเป็นต้องจัดเตรียมให้ผู้ป่วยนอนชั้นล่าง จัดหาอุปกรณ์เพื่อช่วยในการขับถ่ายปัสสาวะอุจจาระไว้ใกล้ ๆ
- การรับประทานอาหารและน้ำลดลง
การที่ผู้ป่วยกินและดื่มได้ลดลง อาจสร้างความเป็นห่วงเป็นกังวลแก่ผู้ดูแลและครอบครัว เพราะคิดว่าการรับประทานอาหารและน้ำลดลงอาจทำให้ผู้ป่วยหิว ไม่ได้รับสารอาหาร และอาจทำให้ผู้ป่วยทุกข์ทรมาน แต่แท้จริงแล้วการรับประทานอาหารและน้ำลดลงเนื่องมาจากตัวโรคที่เป็นมากขึ้น ที่ทำให้ผู้ป่วยกลืนอาหารและน้ำได้น้อยลง ร่วมกับความต้องการของร่างกายที่ลดลง และยังไม่พบว่าการให้อาหารทางหลอดเลือดหรือสายให้อาหารจะทำให้ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิตกลับมาแข็งแรง หรือมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น ส่วนการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดหรือทางใต้ผิวหนังนั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าอาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยบ้าง แต่ยังไม่พบว่าทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตได้ยาวขึ้นอย่างชัดเจน
- สติสัมปชัญญะเปลี่ยนแปลง
ผู้ป่วยอาจมีอาการซึมลง นอนหลับมากขึ้น หรืออาจสับสน นอนกลางวันตื่นกลางคืน กระสับกระส่าย กระวนกระวาย เพ้อ คราง ประสาทหลอน ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทำให้เข้าใจผิดว่าเกิดจากความเจ็บปวด และหากผู้ป่วยกระสับกระส่าย กระวนกระวายมาก อาจจำเป็นต้องได้รับยาช่วยบรรเทาอาการ
- การหายใจผิดปกติ
ผู้ป่วยอาจมีการเปลี่ยนแปลงของการหายใจ หายใจเฮือก อ้าปากหายใจ หายใจเร็ว หรือหายใจเร็วสลับกับหายใจช้า สาเหตุจากความบกพร่องในการควบคุมการหายใจของสมอง ร่วมกับอาจมีเสมหะคั่งค้างในทางเดินหายใจ เนื่องจากความสามารถกลืนลดลง ทำให้เกิดการสะสมของเสมหะ ผู้ป่วยจะหายใจเสียงดังครืดคราด สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยเบื้องต้น โดยการจัดท่านอนตะแคง อาจใช้อุปกรณ์ดูดเสมหะในปากได้ แต่ไม่ควรสอดสายดูดเสมหะเข้าไปในคอลึก ๆ เนื่องจากอาจเป็นการรบกวนผู้ป่วย
- ปลายมือปลายเท้าเย็นหรือคล้ำ
ในช่วงนี้เลือดจะไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายลดลง เนื่องจากหัวใจสูบฉีดเลือดเพื่อไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้น้อยลง อาจทำให้หัวใจของผู้ป่วยเต้นเร็วขึ้น ความดันโลหิตลดต่ำลง ปลายมือปลายเท้าเย็น หรือเป็นสีเขียวหรือสีคล้ำ ผิวลาย ชีพจรเบาลง
- กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่อยู่
เนื่องจากระบบประสาทผิดปกติ กล้ามเนื้อหูรูดคลายตัว ผู้ป่วยอาจขับถ่ายไม่รู้ตัว แต่ควรใส่สายสวนในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น เพื่อลดการรบกวนผู้ป่วย
- หลับตาไม่สนิท
ผู้ป่วยที่ใกล้เสียชีวิต อาจมีไขมันที่สะสมอยู่หลังเบ้าตาลดลง ทำให้เกิดการดึงรั้งของลูกตาไปทางด้านหลัง เปลือกตาจึงปิดไม่สนิท ทำให้เกิดภาวะตาแห้งและกระจกตาเป็นแผลได้ ในกรณีนี้อาจใช้น้ำตาเทียม หรือขี้ผึ้งป้ายตา เพื่อให้ดวงตาของผู้ป่วยชุ่มชื้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังอาจได้ยินเสียงรับรู้การสนทนาแม้ว่าอาจจะไม่สามารถโต้ตอบได้ ครอบครัวสามารถพูดบอกความรัก ความห่วงใย บอกถึงการสะสางสิ่งที่ผู้ป่วยเป็นกังวล ให้ผู้ป่วยได้รับรู้และสบายใจ นอกจากนี้ ควรพูดด้วยความเคารพในตัวผู้ป่วย และระมัดระวังการพูดขัดแย้งกันเมื่ออยู่ใกล้ผู้ป่วย
ช่วงเวลาที่ผู้ป่วยใกล้จะเสียชีวิตนี้ เป็นช่วงที่เหนื่อยยากสำหรับผู้ป่วยและครอบครัว ขอให้เอาใจช่วยให้ผ่านความยากลำบากไปได้ด้วยดี อันจะทำให้เกิดความรักและความเข้าใจ ความผูกพันที่แน่นแฟ้นระหว่างกันมากขึ้น
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : https://www.phyathai.com/article_detail/3214