การผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอดสมัยใหม่

โดย ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล

ในปี 2565 มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมากที่ตรวจพบว่าเป็นโรคมะเร็งปอดในประเทศไทย ซึ่งยังคงเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นอันดับ 2 ของคนไทย (ในผู้ชายรองจากมะเร็งตับ และเป็นอันดับ 1 ในผู้หญิง) ซึ่งการตรวจคัดกรองให้พบโรคมะเร็งปอดในระยะแรกนั้นทำได้ยาก จึงทำให้มีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยผู้ป่วยเหล่านี้มากกว่าครึ่งที่ตรวจพบมักจะเจอในระยะลุกลาม เนื่องจากอาการของโรคนี้มักไม่มีอาการ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยล่าช้า อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่สามารถรักษาแต่กลัวการผ่าตัด เนื่องจากยุคเริ่มต้นของการผ่าตัดปอดนั้น ได้ริเริ่มทำโดยการเปิดช่องอก ซึ่งมีความจำเป็นในการที่ต้องตัดกล้ามเนื้อหลายมัดและถ่างขยายกระดูกซี่โครงในการเข้าไปทำการผ่าตัด จึงทำให้ผู้ป่วยค่อนข้างกังวลและเกิดอาการกลัวในการรักษาโรคมะเร็งปอด อย่างไรก็ตาม  ปัจจุบันการผ่าตัดปอดได้มีการพัฒนาโดยเฉพาะการผ่าตัดส่องกล้อง ส่งผลทำให้การผ่าตัดปอดนั้นเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย โดยในผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัวโอกาสที่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงนั้นมีน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็นต์
 

          ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ทรวงอกเฉพาะทางด้านผ่าตัดส่องกล้อง โรงพยาบาลวชิรพยาบาล กล่าวว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การผ่าตัดส่องกล้องโรคมะเร็งปอดในประเทศไทยพัฒนาไปมาก โดยมีการใช้กล้องวิดีทัศน์เข้ามาช่วยในการผ่าตัด (Video assisted thoracosocpic surgery; VATS) แผลผ่าตัดขนาดเล็กยาวประมาณ 4-5 ซม. และมีรูเล็ก ๆ ขนาด 1 ซม. อีก 1-3 รู เพื่อใส่กล้องและอุปกรณ์ช่วยผ่าตัด โดยเลือกใช้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกขนาดไม่ใหญ่มากและไม่กดเบียดอวัยวะข้างเคียง ช่วยให้ปวดแผลน้อยลง ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นตัวเร็วขึ้นและหลีกเลี่ยงแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ โดยพัฒนาการผ่าตัดส่องกล้องปอดนั้น ปัจจุบันที่เราสามารถผ่าตัดโรคมะเร็งปอดผ่านการส่องกล้องแบบจุดเดียว คือ ขนาดแผลเล็กประมาณ 3.5 ซม. เพียงแค่ตำแหน่งเดียว โดยลักษณะของการผ่าตัด สามารถทำได้ตั้งแต่ การตัดปอดแบบลิ่ม (Wedge Resection) เป็นการตัดเนื้องอกพร้อมกับเนื้อปอดข้างเคียงออกเป็นรูปลิ่ม  การตัดปอดแบบกลีบ (lobectomy) จนไปถึงการตัดปอดที่มีเนื้องอกทั้งข้าง (pneumonectomy) ผ่านการส่องกล้องได้
          นอกจากนี้ ก่อนที่จะทำการผ่าตัดนั้น ต้องมีการฝึกสอนกระบวนการฟื้นตัวไวระหว่างการผ่าตัดเป็นสิ่งที่สำคัญเช่นเดียวกัน หรือที่เราเรียกว่า (enhanced recovery after surgery;ERAS) โดยกระบวนการนี้จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยได้รับผลการรักษาที่ดีที่สุด โดยจะเริ่มตั้งแต่ก่อนผ่าตัด เช่น การให้ความรู้เรื่องโรคและการพยากรณ์โรคของมะเร็งปอด การฝึกสอนด้านกายบริหารระหว่างการผ่าตัด การเข้าสู่การบำบัดลดบุหรี่ก่อนการผ่าตัด ขณะเดียวกันหลังจากผ่าตัดก็จะมีการทำกายภาพบำบัดเพื่อทำให้ผู้ป่วยกลับมาลุกนั่งและใช้ชีวิตหลังจากการผ่าตัดให้เร็วที่สุด เพื่อลดภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัด
          สำหรับการผ่าตัดส่องกล้องมะเร็งปอดในปัจจุบันนั้น เราสามารถทำการผ่าตัดส่องกล้องผ่านช่องระหว่างซี่โครง โดยขนาดแผลผ่าตัดมีเพียงแค่ 3.5 ซม. เท่านั้น โดยเทคโนโลยีการผ่าตัดประเภทนี้จะส่งผลทำให้ผู้ป่วยมีการฟื้นตัวได้ไว แผลเจ็บน้อยลง และสามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วมากขึ้นกว่าการผ่าตัดแบบดั้งเดิม และสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่  หลังจากการผ่าตัดอาจจำเป็นต้องรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลนานประมาณ 3 วัน หลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ เช่น เดินเข้าห้องน้ำ หรือทำงานบ้าน เมื่อคล่องขึ้นก็จะสามารถทำกิจวัตรนอกบ้านได้ ส่วนการออกกำลังกายจะสามารถทำได้ใกล้เคียงหลังพ้นช่วงฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัด