วิวาทะการุณยฆาต สวิตเซอร์แลนด์ ดินแดนที่เปิดช่องโหว่ให้กับการฆ่าตัวตายอย่างถูกกฎหมาย

Tuesday, 27 September 2022
ฌ็อง-ลุก กอดาร์ (Jean-Luc Godard) ผู้กำกับภาพยนตร์ นักเขียนบทภาพยนตร์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส เป็นผู้บุกเบิกแนวภาพยนตร์คลื่นลูกใหม่ฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1960 เสียชีวิตในวัย 91 ปี เมื่อวันที่ 13 กันยายน ค.ศ. 2022 ที่บ้านพักของเขา ในเมืองรอล รัฐโว ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จากการจบชีวิตตนเอง ภายใต้ความช่วยเหลือทางการแพทย์
การเสียชีวิตของ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ ถือเป็นข่าวใหญ่ในตัวมันเองอยู่แล้ว เพราะเขาถือเป็นศิลปินเอกของโลกในด้านภาพยนตร์ แต่สิ่งที่เป็นประเด็นตามมา คือ การที่เขาเลือกที่จะตายด้วย "การุณยฆาต" (Euthanasia) ซึ่งในสวิตเซอร์แลนด์เป็นเรื่องถูกกฎหมาย "ในระดับหนึ่ง" (แต่ถ้าทำผิดแนวทางก็จะผิดกฎหมายได้) แต่มันยังเป็นเรื่องผิดกฎหมายฝรั่งเศส บ้านของ ฌ็อง-ลุก กอดาร์
ในเวลาที่ ฌ็อง-ลุก กอดาร์ เลือกที่จะตายเองนั้น ฝรั่งเศสกำลังเกิดวิวาทครั้งใหญ่เรื่องการผลักดันให้การุณยฆาตเป็นเรื่องที่ถูกกฎหมาย
     ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง ได้เปิดประเด็นเรื่องนี้ในระดับชาติเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการทำให้การุณยฆาตถูกกฎหมาย หลังจากคณะกรรมการจริยธรรมที่ปรึกษาแห่งชาติของประเทศ (CCNE) ตัดสินว่า "ความช่วยเหลืออย่างจริงจังให้จบชีวิต" สามารถนำมาใช้ในฝรั่งเศสได้ "ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดบางประการ"
     ในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งใหม่ มาครงได้สัญญาว่าจะเปิดการอภิปรายเรื่องการุณยฆาต โพลของฝรั่งเศสเมื่อเร็ว ๆ นี้พบว่า คนส่วนใหญ่ในวงกว้างก็สนับสนุนการเคลื่อนไหวเช่นกัน ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่เป็นฝ่ายค้าน กล่าวว่า ฝรั่งเศส “ต้องไม่ก้าวข้าม” กฎหมายปัจจุบัน
ทั้งนี้ ภายใต้กฎหมายปัจจุบันปี 2016 แพทย์ชาวฝรั่งเศสสามารถรักษาผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้อยู่ในสภาวะสงบจนเสียชีวิตได้ กล่าวคือ ต้องอยู่ในภาวะ “หมดสติระดับลึกและต่อเนื่องที่เปลี่ยนแปลงระดับจิตสำนึกจนกระทั่งตาย” และจะทำแบบนี้ก็เฉพาะในกรณีที่สภาพของคนไข้เป็นสาเหตุให้เกิด “ความทุกข์ทรมานอย่างใหญ่หลวง” และมีแนวโน้มที่จะนำไปสู่ความตายอย่างรวดเร็ว(1) นี่คือแนวทางที่ใกล้เคียงกับการช่วยให้เสียชีวิตที่ใกล้เคียงที่สุดแล้ว แต่การฆ่าตัวตายด้วยความช่วยเหลือจากผู้อื่นนั้นไม่ถูกกฎหมาย
ความที่มันยังไม่ชัดเจนแบบนี้ ทำให้ชาวฝรั่งเศสต้องไปพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านกันก่อน โดยปัจจุบัน การทำการุณยฆาตเป็นเรื่องถูกกฎหมายในประเทศเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก และสเปน ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ อนุญาตให้ช่วยฆ่าตัวตายได้ โดยที่ผู้ป่วยต้องรับยาที่ทำให้ถึงตายได้เอง


 

กรณีของประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีความน่าสนใจ ควรค่ากับการขยายความ เพราะนอกจากจะเกี่ยวข้องกับสิ่งที่กำลังเป็นกระแสตอนนี้แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นในสวิตเซอร์แลนด์ยังสะท้อนถึงทัศนะของสาธารณชนที่เปลี่ยนไปต่อการทำการุณยฆาต หากสาธารณชนที่มีทัศนคติแตกแยกในเรื่องนี้ได้รับชุดข้อมูลบางอย่างจนทำให้หันมายอมรับการทำการุณยฆาตในที่สุด
     ทั้งนี้ การุณยฆาตอย่างแข็งขันนั้นผิดกฎหมายในสวิตเซอร์แลนด์ แต่การจัดหาวิธีการฆ่าตัวตายนั้นถูกกฎหมาย ตราบใดที่การกระทำที่ทำให้เสียชีวิตโดยตรงนั้นดำเนินการโดยบุคคลที่ปรารถนาจะตาย การช่วยฆ่าตัวตายส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับผู้สูงอายุที่เป็นโรคระยะสุดท้าย
ตามประมวลกฎหมายอาญาของสวิส 1937 กำหนดให้การกระทำนี้ผิดกฎหมาย คือ "การยุยงหรือให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตายด้วยแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัว" (มาตรา 115) บทบาทใด ๆ ในการทำการุณยฆาตโดยสมัครใจ ("การฆ่าตามคำขอ") ก็ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายเช่นกัน แม้ว่าจะกระทำจาก "แรงจูงใจที่ควรคล้อยตาม" เช่น การสังหารด้วยความเมตตา (มาตรา 114) อย่างไรก็ตาม การช่วยฆ่าตัวตายจากแรงจูงใจที่ไม่เห็นแก่ตัวถือว่าถูกกฎหมาย ตัวอย่างเช่น อาจมีการสั่งยาที่ทำให้ถึงตายได้ตราบใดที่ผู้รับยามีบทบาทอย่างแข็งขันในการบริหารยาเอง แต่การุณยฆาตแบบช่วยเหลืออย่างจริง ๆ จัง ๆ (เช่น ช่วยลงมือฉีดสารที่ทำให้ถึงตาย) นั้นไม่ถูกกฎหมาย
การุณยฆาตทุกรูปแบบ เช่น การฉีดสารที่ทำให้ถึงตาย ยังคงถูกห้ามในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กฎหมายของสวิสอนุญาตให้จัดแจงวิธีฆ่าตัวตายเท่านั้น และเหตุผลในการทำเช่นนั้นต้องไม่อยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตน (เช่น ผลประโยชน์ทางการเงิน)
สรุปก็คือ สวิตเซอร์แลนด์ปล่อยช่องโหว่ให้มีการทำการุณยฆาตได้ โดยเปิดช่องให้มีเครื่องไม้เครื่องมือและการเข้าถึงกระบวนการในการจบชีวิตที่ไม่เจ็บปวดตามที่ผู้ต้องการจะทำเอง โดย "ผู้ช่วยเหลือ" ต้องคอยประสานงานในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เนื่องจากมันยังเป็นอะไรที่กึ่งผิดกึ่งถูก (แม้จะชัดเจนในระดับหนึ่ง) เมื่อมีการประกาศการช่วยเหลือฆ่าตัวตาย ตำรวจอาจเปิดการสอบสวน แต่เนื่องจากไม่มีการก่ออาชญากรรมโดยปราศจากแรงจูงใจที่เห็นแก่ตัว กรณีเหล่านี้จึงถือเป็น "คดี" ที่ง่ายต่อการตัดสินใจว่าควรจะดำเนินการต่อไปหรือไม่ ซึ่งการดำเนินคดีอาจเกิดขึ้นได้หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับความสามารถของผู้ป่วยในการตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง หรือเกี่ยวกับแรงจูงใจของผู้ที่เกี่ยวข้องในการช่วยฆ่าตัวตาย (คือ ต้องสงสัยว่าทำไปโดยเห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตน)

       ผู้ที่อาศัยช่องโหว่นี้ คือองค์กรที่เรียกว่า Dignitas เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ให้ความช่วยเหลือในการฆ่าตัวตายโดยแพทย์แก่สมาชิกที่ป่วยระยะสุดท้าย หรือเจ็บป่วยทางร่างกายหรือจิตใจขั้นรุนแรง โดยได้รับการสนับสนุนจากแพทย์อิสระชาวสวิส ภายในสิ้นปี 2020 พวกเขาได้ช่วยเหลือผู้คน 3,248 คน ด้วยการฆ่าตัวตายที่บ้านในสวิตเซอร์แลนด์ และที่บ้าน/แฟลตของ Dignitas ใกล้ซูริก(4) โดยพวกเขาให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคอง คำสั่งล่วงหน้าด้านการดูแลสุขภาพ และการป้องกันความพยายามฆ่าตัวตาย และการแนะกฎหมายสำหรับกฎหมายว่าด้วยสิทธิในการตายทั่วโลก
วิธีการคร่าว ๆ คือ ผู้ที่ต้องการฆ่าตัวตายต้องมีวิจารณญาณที่ดีตามที่องค์กร Dignitas กำหนด สามารถทำให้ตนเองถึงแก่ตายได้ และส่งคำขออย่างเป็นทางการพร้อมจดหมายอธิบายความประสงค์ที่จะตาย และรายงานทางการแพทย์ที่แสดงการวินิจฉัยและพยายามรักษา สำหรับผู้ที่มีอาการป่วยทางจิตขั้นรุนแรง จำเป็นต้องมีรายงานทางการแพทย์เชิงลึกที่จัดทำโดยจิตแพทย์เพิ่มเติมตามคำตัดสินของศาลฎีกาสวิส(5)
โดยทั่วไป Dignitas ใช้กระบวนการต่อไปนี้เพื่อช่วยในการฆ่าตัวตาย คือ ให้รับประทานยา antiemetic ในช่องปาก ตามด้วยการใช้ยาเพนโทบาร์บิทัล (pentobarbital) เกินขนาด 15 กรัม ชนิดผงที่ละลายในแก้วน้ำ หากจำเป็น สามารถกินยาผ่านหลอดดูดดื่มได้ ยาเพนโทบาร์บิทัลที่เกินขนาดจะกดระบบประสาทส่วนกลางทำให้ผู้ป่วยง่วงนอนและหลับไปภายใน 3-5 นาที หลังจากดื่ม การดมยาสลบจะช่วยให้เข้าสู่อาการโคม่า ตามมาด้วยการหยุดหายใจและเสียชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นภายใน 30-40 นาที หลังจากกินยาเพนโทบาร์บิทัล
ด้วยความที่มีช่องโหว่ที่เหมือนจะไม่มีกฎหมายห้าม สวิตเซอร์แลนด์ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสให้คนในประเทศของตนรับการทำการุณยฆาตด้วย และยังอำนวยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การท่องเที่ยวเพื่อฆ่าตัวตาย" (Suicide tourism) ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่การท่องเที่ยวเพื่อความเพลิดเพลิน แต่เป็นการมาเยือนประเทศที่มีช่องทางทำการุณยฆาตต่างหาก
      นอกจาก ฌ็อง-ลุก กอดาร์ ที่ใช้บริการ Suicide tourism ของสวิตเซอร์แบนด์แล้ว ในเดือนกรกฎาคม 2009 เซอร์เอ็ดเวิร์ด ดาวเนส วาทยกรชาวอังกฤษและโจนภรรยาของเขาเสียชีวิตพร้อมกันที่คลินิกฆ่าตัวตายนอกเมืองซูริก "ภายใต้สถานการณ์ที่พวกเขาเลือกเอง" เซอร์เอ็ดเวิร์ดไม่ได้ป่วยหนัก แต่ภรรยาของเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว(6)
ในเดือนมีนาคม 2010 รายการ Frontline ของรายการทีวี PBS ของสหรัฐอเมริกา ได้ฉายสารคดีชื่อ The Suicide Tourist ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวของศาสตราจารย์ เครก อิวเวิร์ท ครอบครัวของเขา และ Dignitas และการตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการใช้โซเดียม เพนโทบาร์บิทัล ในสวิตเซอร์แลนด์ หลังจากที่เขาได้รับการวินิจฉัยและต้องทุกข์ทรมานด้วย ALS(7)
อ้างอิง :
1. "France launches national debate on legalising euthanasia". (13/09/2022). Euronews.
2. Hurst SA, Mauron A (February 2003). "Assisted suicide and euthanasia in Switzerland: allowing a role for non-physicians". BMJ. 326 (7383): 271–3. doi:10.1136/bmj.326.7383.271. PMC 1125125. PMID 12560284.
3. "Assisted Suicide Laws Around the World - Assisted Suicide". Assistedsuicide.org.
4. Karin. "Statistics". www.dignitas.ch.
5. "Supreme Court of Switzerland, decision BGE 133 I 58 of November 3, 2006"
6. Lundin, Leigh (2 August 2009). "YOUthanasia". Criminal Brief. Retrieved 9 July 2013.
7. "The Suicide Tourist - FRONTLINE - PBS". pbs.org.
ขอขอบคุณ : จิกิตสา วิทยา, https://www.hfocus.org/content/2022/09/26052