ในอีก 27 ปีข้างหน้า ประชากรโลกที่ต้องทนทรมานกับอาการปวดหลังส่วนล่าง (low back pain) จะทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างน่าวิตก โดยตัวเลขอาจพุ่งทะยานจาก 600 ล้านคน ในปัจจุบัน ขึ้นไปถึง 843 ล้านคน ภายในปี 2050
การคาดการณ์ข้างต้นมาจากผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Lancet Rheumatology โดยทีมนักการสาธารณสุขนานาชาติ นำโดยแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย ได้เผยถึงงานวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมของอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งถือเป็น “ภาระทางสุขภาพ” ที่หนักหน่วง อันเกิดขึ้นจากการแพร่ขยายลุกลามของอาการดังกล่าวในหมู่ประชากรโลกที่มีอายุตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป
ดร.เจมี สไตน์เมตซ์ หัวหน้านักวิจัยด้านสุขภาพประชากร ประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตันของสหรัฐฯ กล่าวว่า อาการปวดหลังส่วนล่างเป็นสาเหตุหลักอันดับหนึ่งที่นำไปสู่ความพิการตลอดช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา
ผลการวิเคราะห์ทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในอดีต 500 ชิ้น ชี้ว่าหากองค์กรด้านสาธารณสุขทั่วโลกไม่มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาเพื่อจัดการกับปัญหานี้อย่างเด็ดขาด จะทำให้ตัวเลขผู้ป่วยพุ่งทะยานขึ้นอย่างมากในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า
ผลวิจัยยังชี้ว่า ปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ความอ้วน, การสูบบุหรี่ และสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (ergonomics) ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของอาการปวดหลังส่วนล่าง ซึ่งหากวงการสาธารณสุขสามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ก็จะช่วยลดภาระทางสุขภาพทั้งที่เป็นตัวเงินและคุณภาพชีวิตที่ต้องสูญเสียไปลงได้ถึง 39%
ทีมผู้วิจัยชี้แจงว่า การสูบบุหรี่นั้นทำลายระบบไหลเวียนโลหิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเส้นเลือดฝอยที่เข้าไปเลี้ยงโครงสร้างส่วนย่อยของกระดูกสันหลัง อย่างเช่น ข้อต่อและหมอนรองกระดูกสันหลัง ทั้งยังทำให้เนื้อกระดูกอ่อนแอลง ส่วนความอ้วนนั้นทำให้กระดูกสันหลังต้องแบกรับน้ำหนักตัวมากเกินไป ทำให้บาดเจ็บและเกิดการอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคข้ออักเสบได้ง่าย
ดร.สไตน์เมตซ์ยังกล่าวด้วยว่า ความซับซ้อนทางกายภาพของกระดูกสันหลังมนุษย์ ทำให้การวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการปวดหลังส่วนล่างในแต่ละคนเป็นไปได้ยาก เช่น แพทย์ไม่อาจจะบอกได้แน่ชัดว่า หมอนรองกระดูกหรือกล้ามเนื้อส่วนไหนกันแน่ที่มีปัญหา แม้จะได้ใช้เทคโนโลยีการสแกนหรือฉายภาพอวัยวะภายในที่ทันสมัยแล้วก็ตาม ทำให้หลายคนต้องทนทรมานกับอาการนี้ติดต่อกันนานหลายปี ทั้งที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักหายได้ภายใน 6 สัปดาห์แรกของการรักษา
ผลการวิจัยยังพบว่า อาการปวดหลังส่วนล่างพบในผู้หญิงได้มากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า ทั้งยังเกิดกับคนชราที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป มากที่สุด แทนที่จะเป็นกลุ่มคนวัยทำงานตามที่เคยเชื่อกันมา
ทีมผู้วิจัยแถลงสรุปทิ้งท้ายว่า วงการแพทย์มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องคิดค้นและหาวิธีรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างที่มีประสิทธิภาพดีกว่าการให้ยาแก้ปวดหรือการผ่าตัดตามเทคนิควิธีในปัจจุบัน ซึ่งมักจะไม่ได้ผลหรือได้ผลน้อยมาก
ขอขอบคุณแหล่งที่มาขอลข้อมูล : https://www.bbc.com/