นักอาชญาวิทยาวิเคราะห์เกมสร้างพฤติกรรมรุนแรงให้วัยรุ่นได้จริงหรือไม่

IMAGES

ที่ผ่านมา หนึ่งในข้อสันนิษฐานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อคดีอาชญากรรมครั้งที่มีผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มเยาวชน คือ "การเล่นเกม" หรือ "การติดเกม" ที่เป็นบ่อเกิดแห่งพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก
อย่างกรณีล่าสุดที่มีเยาวชนชายวัย 14 ปี ใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. ที่ผ่านมา เหตุร้ายครั้งนี้ได้คร่าชีวิตชาวต่างชาติไป 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บทั้งคนไทยและต่างชาติรวมกันอีก 5 ราย
ในช่วงหนึ่งของการสัมภาษณ์กับสื่อมวลชน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้สันนิษฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อเหตุว่า มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็น ได้แก่ การป่วยจิตเวช แรงกดดันจากสภาพแวดล้อมของผู้ก่อเหตุ และ "การเล่นเกม"
แล้วการเล่นเกมเพียงลำพังมีส่วนกระตุ้นให้ผู้เล่นกลุ่มเยาวชนมีพฤติกรรมรุนแรงได้จริงหรือไม่
ผศ.ดร.อารณีย์ วิวัฒนาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต บอกกับบีบีซีไทยว่า ไม่ควรมุ่งประเด็นไปที่การเล่นเกมเพียงอย่างเดียว เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่มีส่วนเสริมให้วัยรุ่นที่ติดเกมกลายเป็นผู้ก่อเหตุรุนแรงได้ ไม่ว่าจะเป็นความเครียดจากทางครอบครัว การอยากได้รับการยอมรับในหมู่เพื่อน รวมไปถึงสภาพแวดล้อมและสังคมที่ใช้ชีวิต

                                                                      ตำรวจสอบสวนกลาง
"เยาวชนชายวัย 14 ปีใช้อาวุธปืนก่อเหตุยิงกลางห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 66 เหตุร้ายครั้งนี้ได้คร่าชีวิตชาวต่างชาติไป 2 ราย และมีผู้บาดเจ็บทั้งชาวไทยและต่างชาติอีก 5 ราย"
แต่ ผศ.ดร.อารณีย์ก็ไม่ปฏิเสธว่า หากผู้ก่อเหตุเล่นเกมต่อสู้เป็นระยะเวลานาน ก็มีโอกาสทำให้เกิดการซึมซับพฤติกรรมได้ เพราะจากผลการวิจัยที่ผ่านมาพบว่า เวลาเด็กเล่นเกมและไม่มีการควบคุมจำนวนชั่วโมงการเล่นเกม มีโอกาสทำให้เด็กซึมซับพฤติกรรมโดยไม่รู้ตัว และจำลองตัวเองเป็นตัวละครในเกมได้
"เมื่อเขามีพฤติกรรมซ้ำ ๆ เป็นระยะเวลานาน และหากครอบครัวไม่ได้วางระเบียบให้ เช่น ระยะเวลาการเล่นเกม จึงส่งผลให้เด็กได้ซึมซับความรุนแรงไปโดยไม่รู้ตัว และเมื่อถึงจุดที่เรื่องนี้ไปฝังอยู่ใต้จิตสำนึก เขาก็จะแสดงพฤติกรรมออกมาแบบตัวละครในเกม"
เมื่อถามว่าการเล่นเกมดีไหม นักอาชญาวิทยากล่าวว่า ดีในกรณีที่ผู้ปกครองเลือกประเภทเกมที่ดีให้กับลูก รวมทั้งการพิจารณาเรื่องระดับหรือเรตติ้งของเกม เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงวัยของเด็ก โดยในต่างประเทศก็มีมาตรการเข้มงวดด้านนี้อยู่
"ตามทฤษฎีอาชญาวิทยาระบุว่า การที่เด็กมีพฤติกรรมตามตัวละครจะสอดคล้องกับทฤษฎีการเลียนแบบ อย่างไรก็ตาม ก็จำเป็นต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ สำหรับกรณีผู้ก่อเหตุวัย 14 ปี" เธอตั้งคำถาม
ปัจจัยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมรุนแรงในเด็ก
นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา ม.รังสิต อธิบายเพิ่มเติมว่า พฤติกรรมรุนแรงในเด็กจริง ๆ แล้วมาจากปัจจัยหลัก ๆ หลายปัจจัย ซึ่งการเล่นเกมที่มีเนื้อหารุนแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่เข้ามาสนับสนุน โดยปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจหนุนเสริมพฤติกรรมรุนแรงในเยาวชน มีดังนี้
- ปัจจัยพื้นฐานทางครอบครัว-ความเครียดจากการเลี้ยงดู
นอกจากพฤติกรรมเล่นเกมเป็นเวลานานแล้ว "ความเครียดจากการเลี้ยงดู" และ "สัมพันธภาพภายในครอบครัว" ถือเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย
"บางทีพ่อแม่อาจจะมองว่าลูกทำตามคำสั่งมาโดยตลอด แต่กลับไม่เคยพิจารณาดูจากอารมณ์ความรู้สึกของลูกที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน เด็กบางคนอาจจะบอกว่า เล่นเกมเพราะคลายเครียด แต่จริง ๆ อาจไม่ใช่ เขาอาจมีความเครียดในครอบครัว และการเล่นเกมอาจจะเพิ่มความเครียดให้เด็กมากขึ้นอีก จึงส่งผลให้เกิดการกระทำรุนแรง ซึ่งถือว่ามีผลมาก" เธออธิบาย

                                                                   ผศ.ดร.อารณีย์ วิวัฒนาภรณ์


หากพิจารณากรณีตัวอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นจะพบว่า ผู้ก่อเหตุอยู่ในช่วงย่างเข้าวัยรุ่น พัฒนาการทางร่างกาย ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง และความต้องการการยอมรับในกลุ่มเพื่อนและคนในสังคม ประกอบกับสภาพพื้นฐานทางจิตใจของเด็กร่วมด้วย
- การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน
จากพฤติกรรมที่สื่อมวลชนรายงานเกี่ยวกับการเล่นเกม คือ เมื่อเอาชนะในเกมได้สำเร็จ ผู้ก่อเหตุจะบันทึกภาพหน้าจอแล้วส่งให้กลุ่มเพื่อนเพื่อต้องการรับคำชมจากเพื่อน ๆ ซึ่งเป็นลักษณะทั่วไปของกลุ่มวัยรุ่นที่ต้องการ "การยอมรับจากกลุ่มเพื่อน"
ขณะที่สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานว่า ในโทรศัพท์ของผู้ก่อเหตุที่เจ้าหน้าที่อายัดไว้ พบคลิปวิดีโอบันทึกภาพการซ้อมการเปลี่ยนแม็กกาซีนบรรจุกระสุนปืนเก็บไว้ที่คลังภาพ และก่อนจะเข้ามาก่อเหตุในห้าง ผู้ก่อเหตุได้ส่งภาพแม็กกาซีนบรรจุกระสุนไปให้เพื่อนในแชท ก่อนที่จะเข้ามาก่อเหตุในห้างดังกล่าว
แม้จะยังไม่สามารถหาส่วนเชื่อมโยงระหว่างการกระทำดังกล่าว แต่นักวิชาการรายนี้เชื่อว่า เป็นความต้องการทำให้เพื่อน ๆ ยอมรับ
- สังคม-สภาพแวดล้อม
โดยปกติแล้ว สังคมและสภาพแวดล้อมมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ แต่สำหรับเด็กตามช่วงวัยต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่กำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น ที่ต้องการการยอมรับทั้งจากคนในครอบครัว กลุ่มเพื่อน แล้วยังรวมถึงสังคมด้วย
"แม้ว่าเด็กบางคนอาจจะเกิดมาในครอบครัวที่ไม่สมบูรณ์นัก เช่น ครอบครัวที่เคยหย่าร้าง หากว่าอยู่ในสังคมและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างกระบวนการคิด และสร้างความมั่นคงทางจิตใจได้ ผ่านต้นแบบที่ดี ก็จะทำให้เขามีพฤติกรรมที่ดี" ผศ.ดร.อารณีย์อธิบาย
นอกจากนี้ เธอยังแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับนักศึกษาในประเด็นดังกล่าว โดยพบว่าแม้นักศึกษาจะเลือกเล่นเกมออนไลน์ที่มีเนื้อหาต่อสู้กัน แต่ด้วยสภาพการเลี้ยงดู สังคม และสิ่งแวดล้อมต่างกัน ก็อาจจะไม่ลงเอยด้วยการมีพฤติกรรมเลียนแบบจนนำไปสู่เหตุแห่งความรุนแรงได้
- แนะปลูกฝังวินัยเด็กไม่ให้ใช้เวลาเล่นเกมออนไลน์นานเกินไป
ย้อนกลับไปปี 2564 สมาคมวิทยุและสื่อเพื่อเด็กและเยาวชน (สสดย.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยผลวิจัย เรื่อง "การศึกษาการเล่นเกมของเด็กไทย: สถานการณ์ความรับผิดชอบทางสังคมและข้อเสนอนโยบาย" พบว่า พฤติกรรมการเล่นเกมของเด็กไทยส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสุขภาพ เช่น เนื้อหาเกมที่รุนแรงไม่เหมาะสมตามช่วงวัย การเล่นเกมที่ใช้เวลามากเกินพอดี
ในการเสวนาครั้งนั้น ดร.ธีรารัตน์ พันทวี วงศ์ธนะเอนก นายกฯ สสดย. อธิบายเพิ่มเติมต่อผลการวิจัยดังกล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลในกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ตลอดจน ปวส. และปริญญาตรี จำนวน 3,292 คน เด็กกว่า 85% ตอบว่าเคยเล่นเกม โดยในจำนวนนี้เกือบ 1 ใน 3 เล่นเกมเป็นประจำทุกวัน และมีถึง 10% ที่เล่นเกมมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง ส่วนในวันหยุดมีกลุ่มตัวอย่างถึง 18.05% ที่เล่นมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน

IMAGES


"การเล่นเกมส่งผลต่อพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจากการวิจัยพบว่า มีกลุ่มตัวอย่างที่ตอบว่าเคยเล่นเกม 32.56% แสดงอาการหงุดหงิดไม่พอใจเมื่อถูกห้ามเล่นเกม อีก 8.1% เถียงกับคนที่ห้ามเล่นเกมแต่ยังไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือ และที่น่าเป็นห่วงที่สุด คือ กลุ่มตัวอย่างจำนวน 5.71% ที่มีพฤติกรรมเก็บตัว ไม่ไปโรงเรียน หรือไม่พูดจากับใคร หากถูกห้ามไม่ให้เล่นเกม" เขาอธิบาย
ขณะที่ ดร.อารณีย์เสนอแนะทางแก้ไขในเรื่องนี้ คือ ผู้ปกครองต้องหันมาใส่ใจบุตรหลาน และสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวให้เกิดขึ้น เน้นการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และปลูกฝังหลักคิดทักษะการใช้ชีวิตที่ถูกที่ควรให้ลูกของตัวเอง รวมทั้งปลูกฝังวินัย และหมั่นดูแลไม่ให้เด็กใช้เวลากับการเล่นเกมนานเกินไป


ขอขอบคุณ : วัชชิรานนท์ ทองเทพ , ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.bbc.com/thai/articles/cz9r70w63q3o


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของภาพ :GETTY IMAGES, ตำรวจสอบสวนกลาง