9 สมุนไพร “เครื่องตุ๋นยาจีน” บำรุงร่างกาย น้ำซุปหอม ๆ รสกลมกล่อม!

โดย MissSkyy

"เครื่องตุ๋นยาจีนมีอะไรบ้าง แต่ละอย่างมีสรรพคุณที่ดีต่อสุขภาพยังไง พร้อมสูตรไก่ตุ๋นสมุนไพรที่กินแล้วจะทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น เตรียมพร้อมรับมือกับโรคภัยต่าง ๆ" (ทำเป็นไฮไลต์)


การแพทย์แผนโบราณของชาวฮั่น มีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 5,000 ปีมาแล้ว โดยการรักษานั้นมีหลากหลายวิธี เช่น ใช้วิธีการฝังเข็ม การใช้ยาสมุนไพร การนวดทุยหนา ชี่กง และการกินอาหารที่เป็นยา เน้นวินิจฉัยและปรับสมดุลของร่างกายตามหลักหยิน-หยาง, ปัญจธาตุ และลมปราณ แต่ละคนก็มีธาตุในตัวและมีปัจจัยที่แตกต่างกัน ยาบางตัวกินเกินขนาดจะส่งผลลบมากกว่า คนที่ร่างกายไม่แข็งแรงควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยา ไม่ควรซื้อมากินเอง


การกินอาหารเพื่อเป็นยาบำรุงร่างกาย เป็นยาบำรุงสมองนั้น เป็นวิทยาการและภูมิปัญญาที่ได้ตกทอดมาจนถึงยุคปัจจุบัน สมุนไพรจีนที่ใช้เป็นเครื่องตุ๋นยาจีนส่วนใหญ่มักจะมีรวม ๆ อยู่ในถุง บางคนก็อาจจะไม่รู้ว่าในนั้นมีอะไรบ้าง ออกฤทธิ์ต่อร่างกายยังไง วันนี้เรามีความรู้เกี่ยวกับเครื่องยาจีนมาฝากเพื่อน ๆ ค่ะ

สมุนไพรจีน : เก๋ากี้
"เก๋ากี้" หรือ "โกจิเบอร์รี" เป็นสมุนไพรจีนที่มีมานานกว่า 2,000 ปีแล้ว หลิน หยูอี้ นักกวีชาวจีนสมัยราชวงศ์ถัง เคยแต่งกวีที่มีชื่อว่า บ่อน้ำแห่งความเยาว์วัย และได้พูดถึงเก๋ากี้ในบทกลอนด้วย หมอคนนึงได้ไปเยี่ยมหมู่บ้านนานชูในจีนที่มีคนอายุยืนมากกว่า 100 ปี หลายคน เขาได้ค้นพบว่า เคล็ดลับของความอายุยืน คือ ในหมู่บ้านมีบ่อน้ำที่ล้อมรอบไปด้วยต้นเก๋ากี้ และเมื่อผลเก๋ากี้หล่นลงไปในบ่อน้ำ ทำให้ในน้ำนั้นอุดมไปด้วยวิตามิน และทำให้คนที่ดื่มน้ำในบ่อน้ำนั้นมีอายุที่ยืนยาวกว่าคนทั่วไป
- คุณสมบัติทางยา : มีรสหวาน สุขุม ช่วยบำรุงตับและไต ช่วยบำรุงสายตา มีวิตามินซีสูง มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ อุดมไปด้วยวิตามิน B1, B2, B6 และมีแร่ธาตุที่สำคัญอีกหลายชนิด
- ปริมาณที่ควรกิน : 6-12 กรัมต่อวัน
- เมนูที่สามารถทำได้ : ต้มจืดมะระ, ข้าวต้มสมุนไพร, ทำแยม, ชาเก๋ากี้ หรือจะกินคู่กับโยเกิร์ตก็ได้ค่ะ

สมุนไพรจีน : ตังกุย
"ตังกุย" หรือ "โสมตังกุย" ชื่อไทยเรียกว่า "โกฐเชียง" เป็นสมุนไพรที่ไม่ได้นิยมแค่ในจีนเท่านั้น แต่ญี่ปุ่นและเกาหลีก็นิยมกินตังกุยเพื่อบำรุงร่างกายเช่นกัน ตังกุยถือว่าเป็นสมุนไพรสำหรับสตรี เพราะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดประจำเดือน อาการร้อนวูบวาบที่เกิดจากวัยทอง และเป็นสมุนไพรที่ช่วยเรื่องการไหลเวียนของระบบเลือดในร่างกาย เป็นสมุนไพรที่มีคุณประโยชน์หลากหลาย
- คุณสมบัติทางยา : รสหวาน เผ็ด ขมเล็กน้อย บำรุงตับ หัวใจ และม้าม บำรุงเลือด ช่วยการไหลเวียนของเลือด ทำให้ประจำเดือนสม่ำเสมอ ช่วยบรรเทาอาการปวดไมเกรนและปวดประจำเดือน เป็นยาระบาย
- ปริมาณที่ควรกิน : 6-12 กรัมต่อวัน
- เมนูที่สามารถทำได้ : ชงชา, ใช้เป็นเครื่องตุ๋นยาจีน


สมุนไพรจีน : ฮ่วยซัว
เป็นพืชหัวตระกูลกลอย หลาย ๆ คนอาจจะเรียกว่า "กลอยจีน" หรือ "มันเทศจีน" เป็นสมุนไพรที่ช่วยปรับพลังหยินในร่างกาย มีฤทธิ์เย็น ในญี่ปุ่นหรือเกาหลีนิยมกินแบบสด ๆ หรือนำมาแปรรูปเป็นเส้น ทำเป็นเส้นบะหมี่ หรือนำมาโรยตกแต่ง
- คุณสมบัติทางยา : ช่วยเสริมสมรรถภาพทางเพศ ช่วยบำรุงร่างกาย ฟื้นฟูพละกำลัง แก้เหนื่อยล้า บำรุงกระเพาะ ม้าม ไต บำรุงสมอง ขับของเสีย ช่วยเรื่องหวัดและแก้ร้อนใน
- ปริมาณที่ควรกิน : 10-30 กรัมต่อวัน
- เมนูที่สามารถทำได้ : ชงชา, ใช้เป็นเครื่องตุ๋น, ทำเป็นสมูธตี โดยใส่หัวสดปั่นรวมกับแอปเปิล นม และน้ำผึ้ง

สมุนไพรจีน : พุทราจีน
เป็นผลไม้ที่พบเห็นได้ทุกที่ในประเทศไทย เพราะสามารถปลูกในประเทศไทยได้ พุทราจีนมีต้นกำเนิดจากประเทศจีนตอนใต้ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามิน มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์ ช่วยบำรุงผิว และเป็นผลไม้ที่มีแคลอรีต่ำ เหมาะสำหรับผู้ที่กำลังลดน้ำหนัก
- คุณสมบัติทางยา : มีรสหวาน อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยบำรุงผิวพรรณ ช่วยบำรุงกระเพาะ ม้าม ระบบย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ บำรุงเลือด เพิ่มพละกำลัง แก้ความอ่อนเพลีย เปลือกของพุทรามีฤทธิ์แก้ท้องเสีย
- ปริมาณที่ควรกิน : 6-15 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : น้ำกระเจี๊ยบพุทราจีน, ชาเก๋ากี้พุทราจีน, พุทราจีนเชื่อม
- ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้ท้องอืด สตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยเบาหวาน ไม่ควรกิน


 

สมุนไพรจีน : ชวงเกียง
หรือในภาษาไทยเรียกว่า "โกฐหัวบัว" สมุนไพรที่นิยมใช้แพร่หลายทั้งในจีนและในไทย เป็นพืชล้มลุก ส่วนที่นำมาทำยาเป็นส่วนเหง้า มีหลากหลายสายพันธุ์ในประเทศไทย ส่วนใหญ่ใช้เป็นส่วนผสมในยาหอม ยาแก้ไข้ แก้ไอ กลิ่นหอมฉุน รสขม เผ็ด หวานเล็กน้อยตามด้วยชาลิ้น
- คุณสมบัติทางยา : มีฤทธิ์กระตุ้นการไหลเวียนของพลังชี่และเลือด เป็นยาขับลม ช่วยบรรเทาอาการจุกเสียด แน่นท้องจากลมที่มีมากเกินในกระเพาะ ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยทางร่างกาย ระงับปวด เป็นยาแก้ไข้ แก้ไอ บำรุงโลหิต แก้ริดสีดวง
- ปริมาณที่ควรกิน : ครั้งละ 3-9 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : ใช้เป็นเครื่องตุ๋น, ชงชา
- ข้อควรระวัง : หญิงมีครรภ์ที่มีอาการตกเลือด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

สมุนไพรจีน : เง็กเต็ก
เป็นพืชหัว ส่วนที่นำมาทำยาคือส่วนราก มีรสชาติหวานปนฝาดเล็กน้อย ส่วนใหญ่นำมาทำเป็นเครื่องตุ๋น หรือใส่ในบักกุ๊ดเต๋ มีฤทธิ์เย็น ช่วยขจัดความร้อนออกจากร่างกาย บำรุงพลังหยิน แก้ร้อนใน ช่วยปรับสมดุลให้ร่างกาย
- คุณสมบัติทางยา : รักษาอาการไอแห้งหรืออาการไอแบบมีเสมหะที่เกิดจากความร้อนที่ปอด บรรเทาอาการปวดศีรษะ ช่วยรักษาอาการปวดท้อง ท้องอืด
- ปริมาณที่ควรกิน : 9-15 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : ใช้เป็นเครื่องตุ๋น, ใส่ในข้าวต้ม
- ข้อควรระวัง : ไม่ควรกินมากเกินไป เพราะจะทำให้ร่างกายไม่สมดุล


สมุนไพรจีน : ชะเอม
เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ทั้งในจีนและในประเทศไทย แม้แต่อินเดียเองก็ใช้ชะเอมเป็นเครื่องเทศใส่ในอาหาร ขึ้นชื่อเรื่องการขับสารพิษ มีรสหวาน จึงมักนำไปผสมในยาแก้ไอ เพื่อให้รู้สึกชุ่มคอ ส่วนที่นำมาใช้คือส่วนต้นและผล ถึงจะเป็นสมุนไพร แต่ก็ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นระยะนาน
- คุณสมบัติทางยา : มีรสหวาน สุขุม มีผลต่อหัวใจ ปอด ม้าม และกระเพาะอาหาร มีรสหวาน ชุ่มคอ มีสรรพคุณบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื้น แก้ไอ ทำให้ชุ่มคอ ใช้ปรุงแต่งรสยาให้รับประทานง่าย
- ปริมาณที่ควรกิน : 1.5-9 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : ใช้เป็นเครื่องตุ๋นสมุนไพร, เครื่องตุ๋นพะโล้, เครื่องตุ๋นยาจีน สามารถนำไปใส่ในเบเกอรีหรือเครื่องดื่มได้
- ข้อควรระวัง : ห้ามใช้ร่วมกับสมุนไพรบางชนิด ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ตับแข็ง ภาวะไตเรื้อรัง และหญิงมีครรภ์ไม่ควรใช้


 

สมุนไพรจีน : อึ่งคี้
"อึ่งคี้" หรือ "ปักคี้" สมุนไพรจีนที่เป็นพืชล้มลุกตระกูลถั่ว มีกลิ่นหอม รสหวาน มักจะใช้ส่วนลำต้นมาตากแดด อบแห้ง หรือรมควัน เพื่อทำเป็นส่วนประกอบของยาสมุนไพร กรรมวิธีทำต่างกัน ก็จะทำให้ได้คุณสมบัติทางยาที่ต่างกันด้วย
- คุณสมบัติทางยา : มีรสหวาน อุ่นเล็กน้อย ช่วยบำรุงปอด และม้าม ระงับเหงื่อ ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม ทำให้เลือดลมไหลเวียนดี ระงับปวด ช่วยรักษาบาดแผลและสร้างเนื้อเยื่อ
- ปริมาณที่ควรกิน : 10-15 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : ใช้เป็นเครื่องตุ๋นสมุนไพร
- ข้อควรระวัง : ไม่ควรใช้ยาในปริมาณมากเกินไป และอึ่งคี้ส่งผลต่อเรื่องภูมิคุ้มกัน ผู้เป็นโรคภูมิแพ้ตัวเอง หรือกินยากดภูมิคุ้มกันไม่ควรใช้

สมุนไพรจีน : ตังเซียม
ตังเซียม สมุนไพรบำรุงพลังชีวิต มีคุณสมบัติคล้ายโสม แต่ฤทธิ์อ่อนกว่า บางครั้งก็นิยมนำมาใช้แทนโสม ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ และได้รับฉายาว่า “โสมคนจน” ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย แก้อาการอ่อนเพลีย เหนื่อยล้า
- คุณสมบัติทางยา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจ ช่วยในการนอนหลับ ใช้รักษาอาการนอนไม่หลับในผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับเรื้อรัง ช่วยปรับระบบทางเดินอาหาร
- ปริมาณที่ควรกิน : ใช้ครั้งละ 6-14 กรัม
- เมนูที่สามารถทำได้ : ใช้เป็นเครื่องตุ๋นสมุนไพร
- ข้อควรระวัง : หากใช้ผิดวิธีจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง


ข้อมูลอ้างอิง


             - ข้อมูลสมุนไพรจีน. “หัวเฉียวแพทย์แผนจีน ” [Online] เข้าถึงได้จาก : https://www.huachiewtcm.com/categorycontent/1826/ สืบค้น 30 พฤษภาคม 2564 


           - วารสารสำนักการแพทย์ทางเลือก. 2556. "การแพทย์แผนจีน (Traditional Chinese Medicine)" [Online] เข้าถึงได้จาก : https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2019/07/การแพทย์แผนจีน.pdf สืบค้น 30 พฤษภาคม 2564 


        - Claire Turrell. 2020. "The berry that keeps Asia looking young" [Online] เข้าถึงได้จาก : http://www.bbc.com/travel/story/20200226-the-berry-that-keeps-asia-looking-young  สืบค้น 30 พฤษภาคม 2564 

สูตรไก่ตุ๋นยาจีน
สูตรสำหรับ 3-4 คน
ส่วนผสม
- สะโพกไก่ 3-4 ชิ้น
- เห็ดหอมตามใจชอบ
- เครื่องยาจีน 1 ห่อ
- เกลือ 1 ช้อนชา
- น้ำมันหอย 3 ช้อนโต๊ะ
- ซีอิ๊วขาว 2 ช้อนโต๊ะ
- น้ำตาล 1/2 ช้อนโต๊ะ
- ซุปก้อน 1 ก้อน
วิธีทำ
1. ล้างสะโพกไก่ให้สะอาด
2. แช่เห็ดหอมในน้ำเปล่า (ถ้าใช้เห็ดหอมสด ไม่ต้องแช่)
3. ต้มน้ำให้เดือด ใส่ไก่ลงไป คอยช้อนฟองทิ้ง ใช้ไฟอ่อน ๆ เพื่อน้ำซุปจะได้ใส
4. ใส่เครื่องยาจีน ปรุงรสด้วยเครื่องปรุงที่เตรียมไว้
5. ใส่เห็ดหอม ปิดฝาตั้งไฟอ่อน ตุ๋นทิ้งไว้ 1 ชั่วโมง
6. ชิมรสตามชอบใจ ตักใส่ถ้วยพร้อมเสิร์ฟ
สูตรโดยคุณ LunnyToon
เป็นอย่างไรกันบ้างคะ ทีนี้ก็รู้แล้วใช่ไหมคะว่าสมุนไพรจีนแต่ละอย่างนั้น เรียกว่าอะไร มีฤทธิ์อย่างไร และใช้ทำเมนูอะไรได้บ้าง นอกจากกินอาหารที่มีประโยชน์แล้ว ก็อย่าลืมออกกำลังกายและรักษาสุขภาพจิตใจกันด้วยนะคะ จะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงจากภายในสู่ภายนอก


ขอขอบคุณแหล่งที่มาของข้อมูล :https://www.wongnai.com/food-tips/chinese-herbs