จากการเปิดกว้างต่อการใช้กัญชาทางการแพทย์ในหลายประเทศ ซึ่งมีหลายระดับ ตั้งแต่อนุญาตให้ใช้ยาที่ผลิตจากสารสกัดจากกัญชาเพื่อเป็นยาเสริมหรือใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาปกติ บางประเทศอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการผ่อนคลาย บางประเทศลดโทษทางอาญาในการเสพและถือครอง1 สำหรับประเทศไทยมีการประกาศพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อเปิดโอกาสให้มีการอนุญาตให้ประชาชนใช้กัญชาและพืชกระท่อมเพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคและประโยชน์ในทางการแพทย์และเพื่อการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ภายใต้การดูแลและควบคุมของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ทั้งนี้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หรือหมอพื้นบ้านตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ซึ่งเป็นผู้ให้การรักษา ให้กระท าได้ เมื่อได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการฯ
หลังจากพระราชบัญญัตินี้ประกาศใช้ มีประชาชนให้ความสนใจอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะมีการใช้กัญชาเพื่อลดอาการทางจิต เช่น นอนไม่หลับ วิตกกังวล สมองเสื่อม ปวดเมื่อยร่างกาย ส่งผลกระทบให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ เช่น ประสาทหลอน วิงเวียนศีรษะ กระวนกระวาย จนต้องเข้ารับการรักษาที่แผนกฉุกเฉินในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ผู้ให้บริการทางการแพทย์หลายคนต่างอยากทราบแนวทางการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต
สารสกัดกัญชาที่สำคัญมี 2 ชนิดที่มีการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ คือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) เมื่อเข้าสู่สมองจะจับกับ cannabinoid receptors (CB) ทั้งชนิด CB1 และ CB2 ทำให้เกิดอาการเคลิ้ม (euphoria) ผ่อนคลายวิตกกังวล รู้สึกเป็นสุข (sense of well being) แต่บางรายมีอาการกระวนกระวาย เดินเซ มีการรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไป เช่น หูแว่ว เห็นภาพหลอน (hallucination) หรือ หลงผิด (delusion) ความจำบกพร่อง สมาธิไม่ดี การตัดสินใจเสีย ส่วนสารสำคัญชนิดที่ 2 คือ cannabidiol (CBD) ซึ่งมีฤทธิ์ต่อจิตประสาทน้อยกว่า แต่จะจับกับ cannabinoid receptors ชนิด CB2 มากกว่า ซึ่ง CB2 พบมากในระบบภูมิคุ้มกัน (immune system) และประสาทส่วนปลาย (peripheral nerves) ทำหน้าที่ antinociception ควบคุมการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน และปฏิกิริยาการอักเสบ (cytokines) โดยลดการทำงานของ T-lymphocyte และลดการหลั่งสาร cytokines หลายชนิด เช่น Interferon gamma หรือ Interleukin-12 จึงมีฤทธิ์ลดการอักเสบบริเวณปลายประสาทและลดปวดในระบบประสาท จากกลไกการออกฤทธิ์ของสารสกัดกัญชาดังกล่าว จึงมีการนำมาใช้รักษาโรค จากหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีคุณภาพดีพบว่า สารสกัดกัญชาได้ประสิทธิผลในการรักษาโรคเจ็บปวดเรื้อรัง (chronic pain) โรคปวดเส้นประสาท (neuropathic pain) กล้ามเนื้อเกร็งจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (spasticity associated with multiple sclerosis) โรคลมชักในเด็ก ใช้เป็นยาลดการคลื่นไส้ อาเจียนในผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ได้รับผลข้างเคียงจากเคมีบำบัด ใช้เป็นยาเพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยเอดส์ที่มีการสูญเสียมวลกล้ามเนื้ออย่างมาก (significant muscle loss) แต่สารสกัดกัญชายังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่มีคุณภาพดีพอที่จะยืนยันประสิทธิภาพในการรักษาโรคทางจิตเวช ในทางกลับกันพบว่าอาจจะส่งผลเสียต่อการดำเนินโรค ตัวอย่างเช่น
1) กลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) พบว่าผู้ป่วยโรคตื่นตระหนก (panic disorder) มีแนวโน้มจะใช้กัญชาเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา เพราะต้องการบรรเทาอาการวิตกกังวล (self-medication) คนใช้กัญชาบ่อย ๆ มีความชุกของโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นและผู้ป่วยวิตกกังวลมีความสัมพันธ์กับอัตราการใช้กัญชาสูง แสดงถึงการใช้กัญชามีผลเสียต่อโรควิตกกังวล ผู้เสพกัญชาเป็นประจำแบบติดมีความสัมพันธ์กับโรคกลัวสังคม (social anxiety disorder) การลดการใช้กัญชาสัมพันธ์กับการดีขึ้นของอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า และคุณภาพการนอน5 มีงานวิจัย 1 ชิ้น สนับสนุนว่าการใช้สารสกัดกัญชาชนิด cannabidiol (CBD) ช่วงสั้นๆ อาจน ามาใช้รักษาโรคกลัวสังคมได้6 รายงานผลวิจัยการใช้กัญชาในโรคเครียดหลังประสบภัยพิบัติ (post-traumatic stress disorder, PTSD) ในประเทศแคนาดามีผู้ป่วย 588 ราย ใช้กัญชาโดยแพทย์เป็นผู้สั่งยา ติดตามผลหลังจากนั้น 4-10 เดือน โดยการส ารวจให้ตอบแบบสอบถามอาการที่เกี่ยวข้องกับ PTSD จ านวน 3 ครั้งคือ ก่อนใช้ยา เดือนที่ 4 และเดือนที่ 10 ผลวิจัยพบว่า ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยส าคัญทางสถิติทั้งด้านการนอนหลับ อาการปวด อารมณ์ทั่วไป สมาธิรวมถึงคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตามงานวิจัยที่ทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับประสิทธิผลของการใช้กัญชาเพื่อรักษาโรค PTSD ไม่ยืนยันผลดังกล่าว และงานวิจัยทั้งสองชิ้นเป็นเพียง observational study ยังต้องการงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มเลือกเปรียบเทียบที่มีคุณภาพเพื่อยืนยันประสิทธิผลของการรักษาด้วยสารสกัดกัญชาดังกล่าว
2) โรคซึมเศร้า (depressive disorders) มีรายงานวิจัย พบว่า การใช้กัญชาเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าโดยขึ้นกับปริมาณที่ใช้ อัตราเสี่ยงสัมพัทธ์ 1.17 เท่าในผู้ใช้กัญชา หากใช้ปริมาณมาก (heavy users) มีอัตราเสี่ยงสัมพัทธ์เพิ่มเป็น 1.629 นอกจากนี้คนใช้กัญชาแบบปริมาณมากและถี่มีความคิดฆ่าตัวตายมากกว่าคนไม่ใช้โดยเฉพาะเพศหญิง10 ณ ปัจจุบันยังไม่มีผลวิจัยจากการทดลองแบบ randomized controlled trials (RCT) ที่สนับสนุนประสิทธิผลของสารสกัดกัญชาในการรักษาโรคซึมเศร้า
3) โรคอารมณ์สองขั้ว (bipolar disorders) จากรายงานวิจัยของ Lev-Ran et al. 2013 พบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีปัญหาการใช้กัญชาในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 7.2 ซึ่งสูงกว่าประชากรทั่วไปที่พบเพียงร้อยละ 1.7 การใช้กัญชาพบมากขึ้นในผู้ที่เริ่มป่วยที่อายุน้อยกว่า ปริมาณกัญชาและความถี่ของการใช้จ านวนมากกว่า กัญชามีผลทำให้อาการของผู้ป่วยแย่ลง12 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาการแมเนีย (mania) กำเริบ มีความเสี่ยงสัมพัทธ์ถึง 3 เท่า (Odds Ratio: 2.97; 95% CI: 1.80-4.90)
4) โรคจิตเภท (schizophrenia) มีหลักฐานเชิงประจักษ์หลายชิ้นที่สนับสนุนว่า การใช้กัญชามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคจิตเภทหรือโรคจิตชนิดอื่นๆ อย่างมีนัยส าคัญทางสถิติโดยเฉพาะผู้ใช้กัญชาเป็นประจำปริมาณมากๆ มีประวัติเคยเป็นโรคจิตมาก่อนหรือมีประวัติคนในครอบครัวป่วยทางจิต โดยอัตราเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเกิดโรคจิตในผู้ใช้กัญชาเป็น 1.41 เท่า (pool adjusted odds ratio = 1.41, 95% CI 1.20 to 1.65) หากใช้กัญชาปริมาณมากและถี่มากขึ้น อัตราเสี่ยงสัมพัทธ์ต่อการเกิดโรคจิตยิ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า (OR = 2.00 95% CI 1.54 to 2.84)14 อย่างไรก็ตามมีแนวคิดเรื่อง การใช้สารสกัดกัญชาชนิด CBD มารักษาโรคจิตเภท พบว่ากลุ่มผู้ป่วยโรคจิตเภทที่ได้รับ CBD 200-800 mg. ต่อวัน ช่วยลดปริมาณสาร anadamide ในน้ำไขสันหลัง ซึ่งเป็นสารที่พบมากในผู้ป่วยจิตเภท รวมทั้งการศึกษาแบบ RCT โดย Leweke และคณะ (2012) รายงานว่า CBD ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการลดอาการทางจิต เทียบกับก่อนได้ CBD แต่ผลลัพธ์ที่ได้ไม่ต่างอย่างมีนัยส าคัญจากกลุ่มควบคุมซึ่งได้ยา amisulpide ซึ่งเป็นยารักษาโรคจิตเภทแผนปัจจุบัน15 นอกจากนี้มีการศึกษาแบบ RCT โดย McGuire และ คณะ (2018) รายงานว่า การใช้ CBD เสริมยารักษาโรคจิต ให้ผลลัพธ์ที่ดีในการลดอาการทางจิตในผู้ป่วยจิตเภท โดยกลไกการออกฤทธิ์ไม่เกี่ยวข้องกับ dopamine receptor antagonism ซึ่งจากผลการศึกษานี้อาจบ่งบอกถึงกลไกการออกฤทธิ์ชนิดใหม่ของการรักษาโรคนี้ ข้อจำกัดของการศึกษานี้คือ จำนวนประชากรที่ใช้ในการศึกษามีจำนวนน้อย (43 ราย) และติดตามผลไปเพียงแค่ 6 สัปดาห์เท่านั้น จึงจ าเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในจ านวนประชากรที่มีขนาดใหญ่และติดตามผู้ป่วยเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี17
5) ปัญหานอนไม่หลับ (insomnia) ในงานวิจัยช่วงแรกเกี่ยวกับการใช้สารสกัดกัญชามารักษาปัญหานอนไม่หลับ พบว่าสาร CBD มีประสิทธิผลดีกว่า THC18 ซึ่งมีผลต่อการลด sleep latency แต่ทำให้คุณภาพการนอนเสียในระยะยาว ฤทธิ์ของสารสกัดกัญชาต่อการนอน เกิดจากการจับกับตัวรับ CB1 กับ orexin ซึ่งอยู่ใน hypothalamus ทำให้เกิดการนอนหลับ ในการศึกษาวิจัยใหม่ๆ เกี่ยวกับการใช้สารสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธ์ของสาร THC ชื่อ nabilone และ dronabinol ในกลุ่มโรคนอนกรนจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ได้ประโยชน์จาก nabilone และ dronabinol เมื่อใช้ระยะสั้น เนื่องจากมี modulatory effects ต่อ serotonin-mediated apneas นอกจากนี้ CBD ยังมีแนวโน้มนำมาใช้กับ REM sleep behavior disorder และ excessive daytime sleepiness ในขณะที่ nabilone อาจช่วยลดอาการฝันร้ายในผู้ป่วยโรค PTSD และช่วยการนอนหลับในผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง อย่างไรก็ตามยังต้องมีการศึกษาวิจัยอีกมาก เก็บข้อมูลระยะยาวเพื่อเรียนรู้และเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับประโยชน์และผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้น
กล่าวโดยสรุป แนวทางการใช้สารสกัดกัญชาในผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิตยังมีข้อมูลจำกัดในด้านประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคจิต โรคอารมณ์ผิดปกติทั้งโรคซึมเศร้า (depressive disorder) และอารมณ์แมเนีย (mania) กลุ่มโรควิตกกังวล (anxiety disorders) และ ปัญหานอนไม่หลับ (insomnia) กลุ่มผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงและมักแสวงหาความสุขช่วงสั้นๆ (getting high) จากการใช้กัญชา และเกิดผลเสียจากการใช้ เช่น อาการโรคจิต อารมณ์แมเนียกำเริบ หรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย อีกทั้งเสี่ยงต่อการติดสารเสพติด อย่างไรก็ตามปัจจุบันยังขาดข้อมูลหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ดีพอในการนำกัญชามาใช้รักษาทางการแพทย์ในโรคทางจิตเวช จึงเห็นสมควร ให้ความสนับสนุนในการทำวิจัยในเรื่องนี้ตามระเบียบวิธีการทางวิทยาศาสตร์ต่อไป และในโรคที่มียารักษาได้ผลอยู่แล้ว ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนมาใช้กัญชาในการรักษา
การใช้สารสกัดกัญชาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพจิต
ศาสตราจารย์ พญ. สุวรรณา อรุณพงศ์ไพศาล
รองประธานราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย