นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ผู้ป่วยไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 77 ในการทดลองด้วยวิธีใหม่กับยุงที่แพร่เชื้อ โดยคณะผู้วิจัยได้ใช้ยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรีย “มหัศจรรย์” ช่วยลดความสามารถของแมลงในการแพร่กระจายโรค
การทดลองครั้งนี้ดำเนินการที่เมืองยอกยาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และช่วยให้มีความหวังเพิ่มขึ้นในการกำจัดไวรัสไข้เลือดออก
มีประชากรไม่กี่คนที่ได้ยินโรคไข้เลือดออกเมื่อ 50 ปีก่อน แต่การแพร่ระบาดขยายตัวช้า ๆ ติดต่อกัน จนจำนวนผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
ในปี 1970 มีเพียง 9 ประเทศ ที่เผชิญกับการระบาดของโรคไข้เลือดออก ปัจจุบันมีการติดเชื้อมากถึง 400 ล้านคน ในแต่ละปี
ไข้เลือดออกเป็นสาเหตุให้ปวดกล้ามเนื้อและกระดูก และการระบาดทำให้มีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลได้
การทดลองครั้งนี้ใช้ยุงที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ซึ่ง Dr Katie Anders หนึ่งในคณะผู้วิจัยเรียกแบคทีเรียนี้ว่า “มหัศจรรย์จากธรรมชาติ”
Wolbachia ไม่ทำร้ายยุง แต่มันจะอาศัยอยู่ในร่างกายในตำแหน่งเดียวกับที่ไวรัสไข้เลือดออกต้องการรุกเข้าไป
แบคทีเรียจะแข่งขันค้นหาทรัพยากรและทำให้ไวรัสไข้เลือดออกทำสำเนาเพิ่มจำนวนได้ยาก ดังนั้น ยุงจึงมีโอกาสน้อยลงที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อ เมื่อไปกัดคนอีก
การทดลองได้ทำให้ไข่ยุง 5 ล้านฟอง ติดเชื้อ Wolbachia แล้ววางไข่ในถังน้ำภายในเมืองทุก 2 สัปดาห์ และกระบวนการสร้างประชากรยุงติดเชื้อนี้ใช้เวลา 9 เดือน
เมืองยอกยาการ์ตาแบ่งออกเป็น 24 เขต และได้ปล่อยยุงลงเพียงครึ่งหนึ่งของเขตเหล่านี้ และผลลัพธ์ที่เผยแพร่ใน New England Journal of Medicine แสดงว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกลดลงร้อยละ 77 และลดจำนวนผู้ป่วยที่จะต้องเข้าโรงพยาบาลร้อยละ 86 เมื่อมีการปล่อยยุงออกไป
“ผลที่ได้รับน่าตื่นเต้นมาก ดีกว่าที่คาดหวังไว้จริง ๆ” Dr.Anders กล่าวกับบีบีซี
เทคนิคนี้ประสบผลสำเร็จมากจนมีการปล่อยยุงออกไปทั่วทั้งเมือง และโครงการนี้กำลังคืบหน้าไปยังพื้นที่รอบ ๆ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการกำจัดไข้เลือดออกในภูมิภาคให้หมดไป
Dr. Anders ซึ่งเป็นผู้อำนวยการด้านประเมินผลกระทบที่ World Mosquito Programme ด้วย กล่าวว่า “ผลลัพธ์นี้เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน”
“เราคิดว่าเทคนิคนี้จะส่งผลกระทบมากขึ้น เมื่อนำไปใช้ในเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกที่ไข้เลือดออกเป็นปัญหาทางสาธารณสุข”
เราสามารถจัดการกำกับ Wolbachia ได้ และสามารถเปลี่ยนการเจริญพันธุ์ของโฮสต์ได้ด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าแบคทีเรียนี้ผ่านไปถึงประชากรยุงรุ่นต่อไป
นั่นหมายความว่า เมื่อ Wolbachia มีฐานที่อยู่มั่นคงแล้ว มันจะคงอยู่เป็นเวลานานและป้องกันการติดเชื้อไข้เลือดออกต่อไป
วิธีนี้แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการควบคุมด้วยวิธีอื่น เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงหรือปล่อยยุงเพศผู้ที่ปลอดเชื้อออกไปจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องติดตามเพื่อควบคุมยุงดูดเลือด
Dr. Yudiria Amelia หัวหน้าฝ่ายป้องกันโรคในเมืองยอกยาการ์ตา กล่าวว่า “เราดีใจกับผลลัพธ์ของการทดลอง เราหวังว่าจะสามารถนำวิธีนี้ไปใช้ในทุกพื้นที่ของยอกยาการ์ตาและขยายต่อไปยังทุก ๆ เมืองในอินโดนีเชีย”
การทดลองครั้งนี้เป็นสัญลักษณ์ที่มีนัยสำคัญหลังจากการวิจัยที่ดำเนินมาหลายปี เนื่องจากยุงชนิดที่แพร่โรคไข้เลือดออก คือ Aedes aegypti โดยปกติจะไม่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia
การศึกษายังพยากรณ์ว่า Wolbachia จะเพียงพอต่อการปราบไข้เลือดออกให้หมดไป ถ้าแบคทีเรียนี้ตั้งฐานได้มั่นคง
David Hamer ศาสตราจารย์สาขาสุขภาพและการแพทย์ระดับโลกที่ Boston University กล่าวว่า วิธีนี้มีศักยภาพที่น่าสนใจสำหรับโรคอื่น ๆ อย่างเช่น ซิก้า ไข้เหลือง และชิคุนกุนยา ซึ่งแพร่ระบาดด้วยยุงที่กัดคน
ยุงติดเชื้อแบคทีเรีย‘มหัศจรรย์'ลดผู้ป่วยไข้เลือดออกได้ร้อยละ77
BBC News