จากการติดตามข่าวสารในยุคปัจจุบันมักจะเห็นข่าวคราวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนไทยที่มี “พฤติกรรมติดเกม” มากขึ้น โดยกลุ่มผู้เล่นเกมที่ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่สุดก็คือ เด็กและเยาวชนที่ยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ในปัจจุบันมีเด็กไทยที่เป็นโรคติดเกมมากถึงร้อยละ 13 – 14 จากจำนวนเด็กทั้งหมด อีกทั้งยังมีเด็กที่เข้าข่ายพฤติกรรมเสี่ยงเป็นโรคติดเกมอีกประมาณร้อยละ 10 ดังนั้นทุกภาคส่วนในสังคม โดยเฉพาะสถาบันครอบครัวซึ่งเป็นหน่วยย่อยที่สุดของสังคม ต้องตระหนักถึงปัญหานี้ว่าอยู่ในขั้นวิกฤติและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนควรจะร่วมมือกันเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง
อ.พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า โดยปกติแล้วเด็กและเยาวชนมักจะเล่นเกม แต่เมื่อเล่นเกมมากเกินไปจนเข้าสู่ภาวะติดเกมแล้วจะถือเป็นความผิดปกติที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อตัวเด็ก โดยที่เด็กไม่สามารถจะหยุดยั้งหรือควบคุมตนเองได้อีกต่อไป พวกเขาจะต้องการเล่นเกมอย่างต่อเนื่องและมีระยะเวลาการเล่นเกมที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่สนใจทำกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้การเล่นเกมยังสัมพันธ์โดยตรงกับพฤติกรรมการติดสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อื่นๆ ที่เป็นหน้าจอดิจิทัล เนื่องจากเด็กมักเล่นเกมผ่านอุปกรณ์หน้าจอเหล่านี้ จึงทำให้เด็กที่ติดเกมมักมีพฤติกรรมติดหน้าจอรวมอยู่ด้วย
สัญญาณของโรคเด็กติดเกมจะปรากฏขึ้นในรูปแบบของพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ โดยมีทั้งในแง่สัญญาณความรุนแรง เช่น หากเด็กได้รับการบอกให้หยุดเล่นเกม เด็กจะมีปฏิกิริยาตอบโต้แบบต่อต้านพ่อแม่ผู้ปกครอง หรืออาจขู่ทำร้ายตนเองและผู้อื่น สัญญาณการเสียหน้าที่ที่ควรจะเป็นตามช่วงวัย เช่น การเรียน การทำการบ้าน ซึ่งจะพบว่าเด็กอาจมีพฤติกรรมไม่ทำหรือไม่ส่งการบ้าน ไม่ตื่นไปโรงเรียน ผลการเรียนตกต่ำ รวมไปถึงไม่สนใจเข้าร่วม
ในกิจกรรมครอบครัว หรือแม้กระทั่งเล่นกับเพื่อน เป็นต้น ตลอดจนอาจสังเกตได้ถึงสัญญาณปัญหาสืบเนื่องที่มาจากพฤติกรรมติดเกม เช่น การที่เด็กยังเป็นผู้ไม่มีรายได้ แต่ต้องพยายามหาเงินมาเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในเกม รวมถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อชั่วโมงอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น
สาเหตุของโรคติดเกมในเด็กอาจเกิดขึ้นได้จากหลากหลายปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ที่ในโลกยุคปัจจุบันเป็นโลกแห่งเทคโนโลยีและดิจิทัล เกม อินเทอร์เน็ต สื่อโซเชียลมีเดียและอุปกรณ์หน้าจอ ฯลฯ ล้วนเป็นสิ่งแวดล้อมรอบตัวของเด็กนอกเหนือจากการเรียนหนังสือ อีกทั้งยังมีอิทธิพลของสื่อที่เหนี่ยวนำและกระตุ้นเด็กให้เข้าสู่สิ่งแวดล้อมเทคโนโลยีและดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ปัจจัยด้านครอบครัวและคนใกล้ชิด หมายรวมถึงในแง่ของการเป็นตัวอย่างให้แก่เด็ก เช่น พ่อแม่ที่มีพฤติกรรมติดเกม ติดหน้าจอ เวลารับประทานอาหารต้องใช้อุปกรณ์หน้าจอไปด้วยเด็กก็จะซึมซับและเลียนแบบพฤติกรรมดังกล่าว ยิ่งหากพ่อแม่ทำแต่ห้ามลูกทำ เด็กจะเกิดความสับสน และอาจกลายเป็นพฤติกรรมต่อต้านในที่สุด ขณะเดียวกันสาเหตุของโรคติดเกมในเด็กอาจมาจากการที่ครอบครัวและคนใกล้ชิดมีทัศนคติต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานในลักษณะที่ไม่เข้าใจพัฒนาการตามช่วงวัย เช่น บางครอบครัวส่งเสริมการใช้งานอุปกรณ์หน้าจอแก่เด็กในช่วงเวลาที่ต้องการให้เด็กนิ่ง หรือพ่อแม่ต้องการไปทำกิจกรรมอื่นๆ เพราะอุปกรณ์หน้าจอจะดึงดูดความสนใจของเด็กได้ดี ซึ่งสุดท้ายหากปล่อยให้เด็กใช้อุปกรณ์หน้าจอนานหรือบ่อยเกินไปจนเด็กรู้สึกว่าตัวเองมีสิทธิ์ใช้อย่างไม่มีขอบเขต และพ่อแม่ก็ไม่ได้มีการพูดคุยตกลงเอาไว้ก่อน เมื่อพ่อแม่มาบอกให้หยุดใช้ เด็กก็จะรู้สึกต่อต้านทันที
นอกจากนั้น โรคติดเกมในเด็กยังอาจมีสาเหตุมาจากปัจจัยด้านตัวเด็กเอง โดยเด็กแต่ละคนนั้นจะมีความเสี่ยงติดเกม ติดหน้าจอไม่เท่ากัน บางคนอาจมีโรคหรือภาวะความผิดปกติ เช่น สมาธิสั้น หรือปัญหาด้านสติปัญญาอยู่แล้ว ดังนั้นหากพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ระมัดระวังในการให้เด็กใช้อุปกรณ์หน้าจอ ก็อาจนำเด็กไปสู่ภาวะติดเกมได้ง่าย
ส่วนผลกระทบทางลบของโรคติดเกมในเด็ก อ.พญ.ปริชวัน อธิบายด้วยว่า ในเด็กเล็กอายุ 0 – 5 ปี พัฒนาการทางด้านสติปัญญาของเด็กจะเกิดจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ดังนั้นหากพ่อแม่ใช้อุปกรณ์หน้าจอเป็นสื่อการเรียนรู้ให้กับเด็กวัยนี้ อาจทำให้เด็กสูญเสียโอกาสในการเสริมสร้างพัฒนาการทางสมองที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงอาจสูญเสียโอกาสในพัฒนาการทางร่างกายและทางสังคมจากการไม่ได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น เมื่อสนใจอยู่แต่กับเกมและหน้าจอ ก็ไม่ได้ออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้งหรือออกกำลังกาย ทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทางร่างกายอย่างเหมาะสม สายตาที่ใช้จ้องหน้าจอเป็นเวลานาน ไม่ได้รับสิ่งกระตุ้นพัฒนาการทางสายตาอีกทั้งยังขาดปฏิสัมพันธ์ต่อหน้ากับเพื่อน ซึ่งอาจทำให้เด็กขาดทักษะในการเข้าสังคมและการดำรงชีวิตในอนาคต และที่สำคัญคือเด็กยังไม่มีความสามารถในการควบคุมยับยั้งตนเองได้ จึงเกิดการเสียภาระความรับผิดชอบตามวัย เช่น ความรับผิดชอบต่อการเรียน เป็นต้น
โรคติดเกมในเด็กอาจฟังดูเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากพ่อแม่ผู้ปกครอง และคนในครอบครัวเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่การจัดสรรเวลามาใช้ร่วมกันในการทำกิจกรรมครอบครัว หากิจกรรมที่กระตุ้นความสนใจของเด็กได้เช่นเดียวกับเกม เช่น พาไปเที่ยวสวนสัตว์หรือพิพิธภัณฑ์ ชักชวนกันวาดรูป ออกกำลังกายหรือเล่นดนตรี เป็นต้น กล่าวคือ ต้องพยายามอย่าปล่อยให้เด็กว่างจนถูกอุปกรณ์หน้าจอเหนี่ยวนำเข้าไปสู่โลกของหน้าจอ ในกรณีจำเป็นจึงจะให้เด็กใช้งานอุปกรณ์หน้าจอได้ ในช่วงที่เด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็ไม่ควรให้อุปกรณ์หน้าจอเป็นของใช้ส่วนตัวของเด็ก ควรให้หยิบยืมใช้จากพ่อแม่ผู้ปกครองเป็นครั้งคราว และหากให้ใช้ พ่อแม่ควรพูดคุยทำความเข้าใจถึงขอบเขตการใช้งานเอาไว้ล่วงหน้า ในช่วงเวลากลางคืนไม่ควรให้อุปกรณ์หน้าจออยู่กับเด็กภายในห้องนอน เพราะเป็นเวลาที่เด็กสมควรพักผ่อน และที่สำคัญต้องหมั่นสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี ใช้งานอุปกรณ์หน้าจอเท่าที่จำเป็น สอนบุตรหลานให้รู้จักควบคุมตนเอง และมีขอบเขตการใช้งานที่เหมาะสมโดยใช้วิธีการพูดสอนอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช้คำข่มขู่หรือความรุนแรง
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาโรคติดเกมในเด็กนั้น อย่างแรกที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำคือ พูดคุยกับบุตรหลานในทางบวก โดยต้องให้บุตรหลานตระหนักว่าตัวเขาเองกำลังมีภาวะติดเกม ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางลบหลากหลายด้าน และจำเป็นที่จะต้องขอความร่วมมือจากตัวเด็กในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วย ขณะเดียวกันพ่อแม่ผู้ปกครองก็ต้องร่วมสร้างบรรยากาศที่จะสนับสนุนการลด ละ เลิกพฤติกรรมติดเกมของเด็ก ซึ่งสามารถทำได้ในทำนองเดียวกับแนวทางป้องกันโรคติดเกมในเด็กดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
อ.พญ.ปริชวัน กล่าวสรุปว่า ปัญหาเด็กติดเกมเป็นเพียงผลลัพธ์ที่เกิดจากการกระตุ้นพฤติกรรมการใช้งานอุปกรณ์หน้าจอเป็นเวลานานคล้ายกับการติดยาเสพติด การจะ “แก้ไข” เพื่อเบี่ยงเบนเด็กกลับสู่พฤติกรรมทางบวกก็ย่อมต้องใช้เวลายาวนานเช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ง่ายกว่าหากพ่อแม่ผู้ปกครองจะให้ความสำคัญกับการป้องกันตั้งแต่ปัญหาเด็กติดเกมยังไม่เกิดขึ้น
โรคติดเกม ภาวะคุกคามสุขภาพเด็กไทย ที่พ่อแม่ต้องช่วยดูแลและป้องกัน
อ.พญ.ปริชวัน จันทร์ศิริ
หัวหน้าหน่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ฝ่ายจิตเวชศาสตร์
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย