ผู้ที่ประสบกับสถานการณ์การสูญเสียอวัยวะที่ใช้ในการเคลื่อนไหว (ขาขาด) นอกจากจะส่งผลต่อสภาวะจิตใจ การปรับตัวเข้ากับสังคมแล้ว ยังมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรม ที่เผชิญกับปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และการทรงตัว
อาจารย์ ดร.มนัญชยา สามาลา อาจารย์ประจำโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาของผู้พิการขาขาดที่มาเข้ารับบริการขาเทียม ณ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่กว่าจะสามารถใช้ขาเทียมในการเคลื่อนไหวได้ใกล้เคียงปกติ ต้องใช้เวลาในการฝึกใช้ขาเทียมถึง 3 เดือน
ซึ่งขั้นตอนการเข้ารับบริการขาเทียมโดยทั่วไป เริ่มต้นจากการให้ผู้พิการขาขาดเข้ารับการตรวจประเมินโดยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และนักกายอุปกรณ์ เพื่อจัดทำแบบขาเทียมวางแผนการรักษาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนใส่ขาเทียมและวางแผนการฝึกใช้ขาเทียม
โดยผู้พิการจะต้องเดินทางมาทำกายภาพบำบัดฝึกใช้ขาเทียมกับนักกายภาพบำบัดประจำโรงพยาบาลถึง 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นระยะเวลา 3 เดือน จนสามารถใช้ขาเทียมได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งพบว่าเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งทั้งในการเดินทางมาโรงพยาบาล การจัดหาผู้ดูแล และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ
เพื่อเป็นการลดอุปสรรคในการฟื้นฟูและการฝึกใช้ขาเทียมจึงเกิดความร่วมมือเพื่อออกแบบการฟื้นฟูการเดินแบบฝึกที่บ้านด้วยการสร้างจินตภาพ (Motor Imagery (MI)) ร่วมกับการสังเกตการเคลื่อนไหว (Action Observation (AO))
โดยเป็นโครงการวิจัยร่วมระหว่าง มหาวิทยาลัยมหิดล โดยอาจารย์ ดร.มนัญชยา สามาลา นางสาวจุติมา รัตนคชนางสาววิศวภรณ์ เนียมแสง จาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ รองศาสตราจารย์ ดร.วีรวัฒน์ ลิ้มรุ่งเรืองรัตน์อาจารย์ ดร.กิตติชัย ทวารวดีพิมุข อาจารย์ ดร.อัมพิกา นันท์บัญชา จาก วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬาและ Assistant Professor Gary Guerra Briseno จาก St. Mary's University เมืองซาน อันโตนีโอ มลรัฐเท็กซัสสหรัฐอเมริกา
โดยเป็นการฟื้นฟูสามารถประยุกต์ใช้กับผู้พิการขาขาดในการฝึกเดินกับขาเทียมที่ได้รับภายใต้การดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญผ่านสื่อออนไลน์ อาทิ โทรเวชกรรม(Telemedicine) และ Zoom หลังการส่งมอบอุปกรณ์ขาเทียม พบว่าจะสามารถลดระยะเวลาการเข้ารับบริการการฝึกใช้ขาเทียมกับนักกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาลให้เหลือเพียง 1 - 2 ครั้งเท่านั้น
ด้วยหลักการใช้จินตภาพร่วมกับการสังเกตการเคลื่อนไหวและการทำกายภาพบำบัดออนไลน์ จะช่วยให้ผู้พิการขาขาดได้เรียนรู้การเดินที่เหมาะสมเพื่อใช้ในการช่วยเหลือตัวเองจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตที่ใกล้เคียงปกติได้มากที่สุด
ซึ่งการเดินด้วยขาเทียมจะช่วยให้ผู้พิการเคลื่อนไหวได้สะดวกกว่าการเคลื่อนไหวด้วยรถเข็นนั่ง ที่จะสามารถใช้ได้โดยสะดวกเฉพาะในสภาพพื้นทางเรียบ และกว้างพอเท่านั้นอีกทั้งการเดินโดยใช้ขาเทียมที่เหมาะสมทำให้ผู้พิการใช้พลังงานร่างกายในการควบคุมขาเทียมน้อยลง
ปัจจุบันโครงการวิจัยฯ อยู่ระหว่างการทดสอบเครื่องมือที่ใช้ในการวัดท่าเดิน และการประเมินสัญญาณไฟฟ้าสมองที่เกี่ยวข้องกับการฝึกจินตภาพ ร่วมกับการสังเกตการเคลื่อนไหวในเฟสแรก ก่อนจะมีการทดสอบใช้จริงกับผู้พิการขาขาดที่มาเข้ารับบริการที่โรงเรียนกายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อประเมินผลต่อไป
แม้สิ่งที่ขาดหายจะไม่มีวันกลับมา แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือพลังใจที่จะเป็นพลังนำชีวิตให้ก้าวเดินต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดลพร้อมเป็นกำลังใจให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคความสูญเสียทดแทนสิ่งที่ขาดหายด้วยพลังอันยิ่งใหญ่ที่ซ่อนอยู่ภายในตัวเอง
ติดต่อสอบถามรายละเอียดโครงการวิจัยเพื่อการเตรียมพร้อมก่อนเข้ารับบริการขาเทียมได้ที่ โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลโทร. 0-2419-3448
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
Cr: ภาพถ่าย และแบนเนอร์โดย โรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธรคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ม.มหิดล - St. Mary's University สหรัฐอเมริกา วิจัยฝึกใช้ขาเทียมทางไกล
www.medi.co.th