โลกในทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งจากวิกฤติ COVID-19 ปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งทางเศรษฐกิจ และสังคม ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ ความท้าทายในการดูแลประชาชนนับจากนี้ไป คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางใจ
รองศาสตราจารย์ ดร.นพพร ว่องสิริมาศ รองคณบดีฝ่ายวิจัย และอาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงบทบาทของพยาบาลจิตเวชในปัจจุบันว่า ไม่ได้มีภารกิจแต่เพียงการดูแลผู้ป่วยทางจิตเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่ในการดูแล และส่งเสริมสุขภาพจิต เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมของโลกที่เปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างเป็นปกติสุข
ความเจ็บป่วยทางกาย หรือสภาพปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากทุกคนมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี ก็จะมีภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ที่จะทำให้มีความสามารถในการปรับตัว และยืนหยัดอยู่ได้อย่างมั่นคงในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายนี้ได้
การที่บุคคลมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี คือ การที่บุคคลมีสภาวะที่ปราศจากปัญหาสุขภาพจิต และมีสภาวะที่สมบูรณ์ในสมรรถนะของตน
นั่นคือ เขาจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ยอมรับ และรู้จักตนเอง มีความสามารถในการเรียนรู้ และรู้จักสิ่งแวดล้อมที่ตนเองอยู่ได้ดี มีเป้าหมายในชีวิต และสามารถพัฒนาตนเองเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนั้น รวมทั้งมีสัมพันธภาพที่ดีกับผู้คนรอบข้างด้วย
การส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี เป็นบทบาทที่สำคัญในปัจจุบันของพยาบาลจิตเวชในการส่งเสริมสุขภาพจิตของประชาชน
ซึ่งเคล็ดลับเล็กๆ ข้อหนึ่งที่สำคัญ และทำได้ง่ายๆ ในทุกๆ วันในการส่งเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางจิตใจที่ดี คือ การฝึกให้มี "การรู้สึกตัวให้อยู่กับปัจจุบัน"
ซึ่งสามารถทำได้โดยการฝึก "รับรู้สภาวะของอารมณ์" หรือ "ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ" ทุกๆ วันรวมทั้งการฝึกแยก "อารมณ์" หรือ "ความรู้สึก" และ "ความคิด" ออกจากกัน
ซึ่งจะทำให้เราเห็นการเชื่อมโยงของความคิด และความรู้สึกได้ว่า "อารมณ์" หรือ "ความรู้สึก" มักจะเกิดตามหลัง "ความคิด" ดังนั้น การฝึกแบบนี้จะทำให้เรามองเห็น "ความคิด" ที่ทำให้เรารู้สึกแย่ๆ หรืออารมณ์เสีย
ซึ่งเมื่อเรารู้สึกตัว เราก็จะรู้เท่าทันความคิดที่ไม่ดีทั้งหลายเหล่านั้น และมองหาหนทางที่จะจัดการความคิดที่จะทำให้เรารู้สึกแย่ๆ นั้นออกไป
ดังนั้น เมื่อเรามีความว่องไวในการรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เราก็จะมีความไวในการมองเห็นความคิดที่ทำให้เกิดอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น และจะทำให้เราตอบสนองต่อสถานการณ์ต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างมีสติ
รวมทั้งส่งผลให้ความรู้สึกแย่ๆ หรืออารมณ์เสียที่นำความทุกข์มาสู่ตัวเราก็จะอยู่กับเราไม่นาน ทั้งหมดนี้จะทำให้เราสามารถจัดการกับปัญหาต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตได้ดีด้วย
เราจะพบว่าเหตุการณ์ที่เราพบเจอ จะเป็นปัญหากับเราหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับตัวเราเองว่าเราเผชิญกับปัญหานั้นอย่างไร ตราบใดที่เรายัง "มีสติอยู่กับปัจจุบันขณะ" รู้เท่าทันอารมณ์ และความรู้สึกของตนเอง เผชิญกับความรู้สึกที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ยอมรับ แล้วปรับมุมมองเสียใหม่ สิ่งที่เข้ามากระทบจะส่งผลเบาบาง หรือไม่เป็นปัญหากับเรา และไม่นำความทุกข์รุนแรงต่อตัวเราเอง
วัยรุ่นหลายรายต้องพ่ายแพ้ต่ออารมณ์ที่เกิดจากความผิดหวัง เสียใจในสิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดคิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรัก เรื่องเพื่อน การเรียน หรือครอบครัว หากเผชิญอย่างมีสติ รับรู้สภาวะอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะตามความเป็นจริง ยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น หยุดความคิดทางลบ แต่ไม่หยุดยั้งที่จะก้าวไป ด้วยการปรับเปลี่ยนมุมมอง โดยลองค้นหาวิธีการ หรือเป้าหมายที่แตกต่าง จะทำให้พร้อมเดินหน้าต่อไปได้ไม่ยาก
เช่นเดียวกับในยามที่ต้องเผชิญกับความเจ็บป่วย แม้กายป่วย แต่ใจมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ใจก็จะไม่ป่วย ส่วนหนึ่งสามารถพัฒนาได้จากการฝึกตระหนัก รู้สภาวะอารมณ์ในปัจจุบันขณะ
มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมเป็นกำลังใจให้ชาวไทยทุกคนพร้อมสู้ต่อไปในโลกที่เปลี่ยนแปลงด้วยความเข้มแข็งและมั่นคง โดยพร้อมนำองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นต่อไป ติดตามได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210