ม.มหิดลเสนอปรับดัชนีคุณภาพอากาศเพิ่มข้อมูลแนะนำสุขภาพ-สร้างห้องปลอดมลพิษในกทม.

www.medi.co.th

เมื่อต้องออกเดินทางในทุกวันนี้เหมือนกับการต้องออกไปเผชิญกับมลพิษทางอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อนอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะเกิดภาวะวิกฤติในช่วงสภาวะอากาศปิด


รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการสื่อสารสถานการณ์คุณภาพอากาศจะใช้ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศเป็นค่า AQI (Air Quality Index) ซึ่งแสดงค่าสารมลพิษที่มีความเข้มข้นสูงสุดเพียง 1 ชนิดจาก 6 ชนิดของสารมลพิษหลัก ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ โอโซน ไนโตรเจนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ที่มีระดับความรุนแรงจากน้อยไปมาก ผ่านสีฟ้า เขียว ส้ม และแดง ตามลำดับ


เพื่อให้มีการสื่อสารที่สะท้อนต่อความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสารมลพิษทางอากาศ ในปัจจุบันประเทศชั้นนำของโลก อาทิ แคนาดา และฮ่องกง ได้มีรายงานการศึกษาวิจัยและการประกาศใช้ค่า AQHI (Air Quality Health Index) จากหน่วยงานภาครัฐ สำหรับประเทศไทยในส่วนของภูมิภาคได้มีการปรับค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศโดยเพิ่มมิติทางด้านสุขภาพ หรือการแสดงค่า AQHI เพื่อการเฝ้าระวังผลกระทบสุขภาพจากกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง PM2.5 จากภาคเกษตรกรรม


ด้วยทุนโครงการขับเคลื่อนนโยบายชี้นำสังคม ประจำปีงบประมาณ 2566 จากมหาวิทยาลัยมหิดล และจาก TCELS - ศูนย์ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา เตรียมศึกษาวิจัยเพื่อขยายผลสู่การใช้ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพ (AQHI) ในเขตกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก


ค่า AQHI นอกจากเป็นการเตือนถึงปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศโดยปกติทั่วไปแล้ว ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครจะได้รับข้อแนะนำทางสุขภาพ เมื่อจำเป็นต้องใช้ชีวิตกลางแจ้ง เพื่อเฝ้าระวังผลกระทบจากปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศด้วย


โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่งได้แก่ ผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพในระบบทางเดินหายใจ เพื่อประกอบการตัดสินใจได้อย่างมั่นใจในการวางแผนก่อนออกเดินทางฝ่ามลพิษในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5


รองศาสตราจารย์ ดร.สุวิมล กาญจนสุธา มองว่าการปรับค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศโดยเพิ่มการวิเคราะห์เชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งในมิติสะท้อนความเสี่ยงเชิงสุขภาพได้ดียิ่งขึ้น


นอกจากนั้นอาจช่วยเสริมการขับเคลื่อนนโยบายการลดมลพิษจากแหล่งกำเนิดที่มาจากการเผาไหม้ในภาคส่วนต่างๆ ส่งผลให้เกิดการผลักดันต่อการปฏิบัติตามมาตรการเศรษฐกิจโลก ที่กำหนดให้ทุกประเทศมีการประเมิน “คาร์บอนเครดิต” ในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า โดยจะเป็นการช่วยลดมลพิษตั้งแต่จุดกำเนิด ก่อนปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม


ซึ่งนอกจากการปรับค่าดัชนีชี้วัดฯดังกล่าวแล้ว ต่อไปจะได้เสนอให้มี “ห้องปลอดมลพิษ” ที่สร้างขึ้นภายใต้ระบบ “ห้องความดันบวก” (Positive Pressure Room) ตามหน่วยงานสถานพยาบาล โรงงาน และสถานประกอบการต่างๆ ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง ให้ได้มี “พื้นที่อากาศปลอดภัย” (Safer Zone) ไว้พักสูดอากาศบริสุทธิ์ผ่านเครื่องกรองอากาศที่ได้มาตรฐานซึ่งติดตั้งไว้ภายในห้องที่ออกแบบไว้โดยเฉพาะ เพื่อป้องกันมลพิษจากภายนอกห้องได้ด้วยในขณะเดียวกัน


ในเบื้องต้นจะได้มีการทดลองใช้ค่าดัชนีชี้วัดคุณภาพอากาศที่เชื่อมโยงมิติทางด้านสุขภาพ (AQHI) ก่อนภายในมหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตพญาไท และย่านนวัตกรรมการแพทย์โยธี (YMID - Yothi Medical Information District) ซึ่งมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นภาคีเครือข่าย ภายในปี 2566 นี้


จากนั้นจะต่อยอดสู่เขตพื้นที่โดยรอบ และผลักดันให้เกิดผลในระดับนโยบายต่อไป เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญในการชี้นำสังคมด้วยองค์ความรู้อันเป็นประโยชน์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ


ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210