กระทรวงสาธารณสุข สนับสนุนการแพทย์แผนไทย วางแผนขับเคลื่อนงานแพทย์แผนไทยฯ ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ดึงจุดแข็งสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะ สร้างความมั่นคงในระบบสุขภาพ เผยปี 2565 มีการใช้ยาสมุนไพรดูแลผู้ป่วยโควิด 19 ส่งผลมูลค่าการใช้สมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุขเพิ่มขึ้น 3 เท่า
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกร่วมกับชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด โดยมี นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด นายแพทย์เชี่ยวชาญ (ด้านเวชกรรมป้องกัน) รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด และหัวหน้ากลุ่มงานการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมประชุมจำนวน 200 คน พร้อมทั้งมีการมอบประกาศเกียรติคุณสถานประกอบการที่ผ่านการประเมินมาตรฐานเป็นศูนย์เวลเนส (Wellness Center) และแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 5ประเภท ได้แก่ 1.ที่พักนักท่องเที่ยว 2.ภัตตาคาร (ร้านอาหาร) 3.นวดเพื่อสุขภาพ 4.สปาเพื่อสุขภาพ 5.สถานพยาบาล ให้แก่ผู้ประกอบการในจังหวัดอุบลราชธานี รวม 14 แห่ง
นายแพทย์โอภาสกล่าวว่า ในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก สมุนไพร ภูมิปัญญาไทย และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยนำจุดแข็งที่สำคัญของการแพทย์แผนไทย คือ ความเข้าอกเข้าใจ (Empathy), การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม, สามารถบำบัดรักษาในกลุ่มโรค/อาการเพื่อลดผลข้างเคียงของยาแผนปัจจุบัน และศักยภาพในการผลิตยาสมุนไพรของประเทศ มาพัฒนาต่อยอดสร้างรายได้และสร้างความมั่นคงในระบบสุขภาพ รวมถึงยังเป็นการปกป้อง คุ้มครองภูมิปัญญาไม่ให้สูญหาย ขณะที่การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ผสานอัตลักษณ์ความเป็นไทย ทำให้มีความน่าสนใจและเป็นที่ชื่นชอบโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งคาดว่าในปี 2566 จะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
นายแพทย์ธงชัยกล่าวว่า การดำเนินงานของกรมฯ มุ่งเน้น 3 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การสร้างความเชื่อมั่นและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ในกลุ่มอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ (Chronic pain & Insomnia), ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care : IMC), เรื้อนกวาง (Psoriasis) และ การลดอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) 2.การบริหารจัดการโรงงาน GMP ในเขตสุขภาพ ปัจจุบันมีโรงพยาบาลที่ผลิต
ยาสมุนไพรทั้งหมด 61 แห่ง (โรงพยาบาลรัฐพัฒนามาตรฐานร่วมกับกรมฯ 52 แห่ง) ผ่านมาตรฐาน GMP 45 แห่ง อยู่ระหว่างพัฒนาให้ได้มาตรฐาน 7 แห่ง และในปี พ.ศ. 2565 ที่มีการระบาดของโรคโควิด 19 กรมฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนยาสมุนไพรเพื่อดูแลผู้ป่วย ทำให้มีมูลค่าการใช้ยาสมุนไพรในระบบบริการสาธารณสุข 5,295 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2564 ถึง 3 เท่า 3.ขับเคลื่อนศูนย์เวลเนสอัตลักษณ์ไทย (Thainess Wellness Center) เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ช่วยกระตุ้นภาคเศรษฐกิจ ล่าสุดมีสถานประกอบการขอรับรองเป็นศูนย์เวลเนส 570 แห่ง ได้การรับรองแล้ว 160 แห่ง
นอกจากนี้ ได้มีแผนขับเคลื่อนงาน ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) โดยมีเป้าหมายสำคัญคือ 1.ประชาชนเชื่อมั่น โดยมีการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยด้วยยาสมุนไพรเพิ่มขึ้นจาก 1.48% เป็น 15% 2.บริการเป็นเลิศ โดยเลือกใช้บริการการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก เมื่อเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นจาก 4.58% เป็น 20% และ 3.ภูมิปัญญาสร้างคุณค่า โดยมีการบริโภคสมุนไพรในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90,000 ล้านบาท และเป็น 1 ใน 3 ของเอเชีย ภายในปี 2570