ผลกระทบจากวิกฤติ COVID-19 ได้นำไปสู่ปรากฏการณ์ "สภาวะจิตใจตกต่ำ" ที่มาคอยคุกคามแม้ในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากได้ผ่านพ้นไปแล้ว
รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงทางออกของ "สภาวะจิตใจตกต่ำ" จากวิกฤติ COVID-19 สามารถใช้ "จิตตปัญญา" เป็นเครื่องมือ ด้วยการเรียนรู้ และฝึกการจัดการจากภายใน สร้าง mindset หรือฝึกวิธีคิดเพื่อเตรียมใจให้มองเห็นการเปลี่ยนแปลงทั้งหลายว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ ฝึกใจให้พร้อมเผชิญกับความไม่แน่นอน ไม่คาดคิด ซึ่งสามารถฝึกได้กับทุกเพศ วัย และอาชีพ
ในช่วงวิกฤติ COVID-19 ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำโครงการ "8 at Home" ที่ให้ทุก 8 โมงเช้าและสองทุ่มของทุกวันมีความหมาย โดยการเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจซึ่งไม่จำกัดเพศ วัย และอาชีพ ได้ร่วมทำกิจกรรมออนไลน์ ฝึกทำสมาธิภาวนาเพื่อการตื่นรู้ - เจริญสติในชีวิตประจำวัน เป็นพื้นที่สงบใจร่วมกันในการอยู่ท่ามกลางวิกฤติ
รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง ได้กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่หาได้ยากในโลกยุคใหม่ คือ "ความสงบเย็น" ซึ่งการฝึกสติรู้เท่าทันด้วยหลักแห่งจิตตปัญญาเพื่อป้องกันไม่ให้สภาวะจิตใจตกไปในความวุ่นวาย สับสน ทุกข์เศร้า กังวล ดีใจ เสียใจจนเกินพอดี สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกคน ในทุกวิถีการใช้ชีวิต แม้กระทั่งในการเตรียมพร้อมก่อนการทำงาน และการเรียนสำหรับนักเรียนทั่วไป
COVID-19 ไม่ได้ส่งผลเฉพาะด้านลบกับชีวิตเราเมื่อมองอย่างรอบด้าน วิกฤติครั้งนี้สร้างโอกาสในการได้กลับมาทบทวนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะความหมายของชีวิต สุขภาพ หรือแม้กระทั่งความตาย
ชีวิตที่ต้องหยุดชะงักทำให้หลายคนได้มีโอกาสทบทวนสิ่งต่างๆ และหันมาใช้ชีวิตที่เนิบช้าและสมดุลขึ้น มีเวลาอยู่กับตัวเอง และครอบครัวมากขึ้น ได้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อน ซึ่งมักไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตปกติ การฝึกให้เกิดการมองเห็นภาพรวมของความจริงทั้งหมดเหล่านี้ จะช่วยทำให้เราวางสภาวะจิตใจในยามวิกฤติได้ดีขึ้น ไม่ "จุ่มจม" อยู่ในความวิตก กังวล ทุกข์ เศร้า หากต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และไม่คาดคิดเช่นนี้ในอนาคต
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210