สปสช.เตรียม 5 แนวทางหารือ สธ.ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์

www.medi.co.th

สปสช.เตรียม 5 แนวทางช่วยลดภาระแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ดึงเทคโนโลยีสารสนเทศช่วยจัดระบบใหม่ เตรียมยกเลิกการการคีย์ข้อมูลเพื่อเบิกจ่ายใน รพศ./รพท. ใช้ระบบเดียวกับของโรงพยาบาล ให้สายด่วน 1330 ช่วยกระจายและประสานหาเตียงให้ผู้ป่วยในที่ต้องรอคิวนานไปให้โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วม ผลักดันนวัตกรรมบริการเพื่อลดการมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 30 หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพของ สธ. ร่วมมือกับหน่วยบริการส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเอง


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุขเตรียมนัดหารือกับ สปสช.ในประเด็นเรื่องภาระงานของแพทย์ที่เพิ่มขึ้นมากจากการให้บริการ ซึ่งส่วนหนึ่งเชื่อมโยงกับด้านสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่า ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ สปสช.ดูแลอยู่เพื่อให้ประชาชนไทยกว่า 48 ล้านคนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขตามสิทธินั้น อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ในวิชาชีพอื่นๆ มีภาระงานเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมา สปสช.มีการบริหารจัดการและมีนวัตกรรมรูปแบบต่างๆ โดยใช้ไอทีหรือเทคโนโลยีสารสนเทศใหม่ๆ เพื่อลดภาระการทำงานของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์หลายแนวทาง ทั้งนี้ สปสช.ได้เตรียม 5 แนวทางในการหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ไว้ดังนี้


1.เสนอยกเลิกการคีย์ข้อมูลหรือบันทึกข้อมูลในระบบเพื่อการเบิกจ่ายเงินค่าบริการทางการแพทย์กับ สปสช. โดยจะนำร่องในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปทุกแห่ง และสามารถดำเนินการได้ทันทีหากโรงพยาบาลมีความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบกับ สปสช. โดยจะเป็นการเชื่อมโยง API (Application Programming Interface) หรือการเชื่อมต่อระบบของทางโรงพยาบาลโดยตรง ทั้งนี้การบันทึกข้อมูลในระบบนั้นมีประโยชน์ในการตรวจสอบการเบิกจ่าย การนำข้อมูลมาใช้วางแผนเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ


2.เสนอให้ สายด่วน สปสช. 1330 ช่วยกระจายผู้ป่วยใน (IPD) ที่รอเตียงเพื่อการรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งจุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาลและอาจจะสร้างความกดดันให้กับแพทย์ได้ ซึ่งบริการนี้ สปสช.ได้เริ่มดำเนินการแล้วในพื้นที่กรุงเทพมหานครขณะนี้มีเตียงจากโรงพยาบาลเอกชนนอกระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เข้ามาเป็นสถานพยาบาลกรณีเหตุสมควรตามมาตรา 7 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 สำรองประมาณ 600 เตียงในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น หากข้อเสนอนี้ผ่านการหารือและตกลงร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข สายด่วน สปสช. 1330 ก็จะทำหน้าที่กระจายผู้ป่วยในที่รอเตียงได้ได้ด้วย โดยกระจายไปยังโรงพยาบาลชุมชนและโรงพยาบาลเอกชนที่มีเตียงว่าง


3.ผลักดันนวัตกรรมบริการเพื่อลดการมาโรงพยาบาลโดยความร่วมมือกับหน่วยบริการต่างๆ ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่านวัตกรรมบริการสุขภาพวิถีใหม่นี้จะช่วยลดการมาโรงพยาบาลได้ร้อยละ 30 หรือ 60 ล้านครั้งต่อปี ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล บริการบางรายการที่สามารถทำนอกโรงพยาบาลได้และมีหน่วยบริการอื่นที่มีความพร้อม ได้แก่ เจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการรับยาที่ร้านพร้อมรับคำปรึกษาจากเภสัชกร ซึ่งจากการดำเนินการที่ผ่านมาพบว่าให้บริการผู้ป่วยไปแล้วว่า 1.4 แสนรายคิดเป็นจำนวนรับบริการกว่า 2.02 แสนครั้ง นอกจากนั้นยังมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังรับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน, จัดส่งยาและเวชภัณฑ์ทางไปรษณีย์, เจาะเลือดหรือตรวจแล็บใกล้บ้าน, กายภาพบำบัดที่คลินิกกายภาพบำบัด, บริการพยาบาลพื้นฐาน เช่นการทำแผลชนิดต่างๆ ที่คลินิกการพยาบาล, บริการแพทย์แผนไทย, บริการสาธารณสุขทางไกล (Telemedicine), บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (ODS), บริการผ่าตัดผ่านกล้องแผลเล็ก (MIS) และบริการเคมีบำบัดที่บ้านในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ (Home Chemotherapy)


4.สนับสนุนนโยบายห้องฉุกเฉินคุณภาพ เพื่อให้ห้องฉุกเฉินเป็นห้องฉุกเฉินจริงๆ คือ เป็น emergency room ไม่ใช่ everything room ตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข โดยโรงพยาบาลจัดแยกบริการเป็น 2 ส่วน คือ “ห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) และผู้ป่วยฉุกเฉินเร่งด่วน (สีเหลือง) มีการจัดห้องแยกเฉพาะ พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรตามแนวทางการจัดบริการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต และ “ห้องบริการแยกจากห้องฉุกเฉิน” เป็นบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรง กรณีมีเหตุสมควรและกรณีเจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นผู้มีสิทธิที่ต้องเข้ารับบริการนอกเวลาราชการ ซึ่งต้องมีห้องเพื่อบริการที่แยกจากห้องฉุกเฉิน พร้อมอุปกรณ์และบุคลากรทางการแพทย์ ขณะนี้มีหน่วยบริการ 129 แห่ง ได้ดำเนินการตามแนวทาง “บริการเจ็บป่วยฉุกเฉินคุณภาพ” ซึ่งเป็นข้อเสนอของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยอุบัติเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ฉุกเฉินเร่งด่วน และเพื่อให้ผู้ป่วยฉุกเฉินไม่รุนแรงกรณีมีเหตุสมควร หรือผู้เจ็บป่วยทั่วไปที่เป็นความจำเป็นของผู้มีสิทธิ มีสิทธิเข้ารับบริการนอกเวลาที่หน่วยบริการตามที่กำหนดโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


5.ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลตนเองหรือ self care โดย สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถไปรับยาที่ร้านยาได้ หรือหากอยู่ในกรุงเทพฯ ใช้บริการการแพทย์ทางไกลหรือพบหมอออนไลน์พร้อมจัดส่งยาถึงบ้านกับแอปพลิเคชันสุขภาพ 4 แห่งที่เข้าร่วม ซึ่งเป็นการดูแลตนเองโดยไม่จำเป็นต้องไปที่โรงพยาบาล นอกจากนั้น สปสช.ร่วมกับหน่วยบริการยังแจกถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิดเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Test รวมถึงชุดตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง “HPV DNA Self Collection” ชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเอง การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น


“ทั้ง 5 แนวทางนี้ สปสช.ได้เตรียมหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อการดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สปสช.ตั้งเป้าว่าจะช่วยลดภาระงานของแพทย์และบุคลากรลงได้ ทั้งยังช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่เจ็บป่วยเบื้องต้นหรือเจ็บป่วยเล็กน้อยไม่ต้องไปแออัดที่โรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย คือ ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็วขึ้นผ่านเทคโนโลยีที่ทันสมัย ขณะที่แพทย์ก็ได้ลดภาระการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคเบื้องต้นที่เป็นการเจ็บป่วยเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ก็จะมีเวลาให้กับการรักษาผู้ป่วยในเคสที่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล ในส่วนของการคีย์ข้อมูล ก็ใช้ระบบเดียวกับของโรงพยาบาล โดย สปสช.ไปเชื่อมต่อเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลการเบิกจ่ายต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว