ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เผย 3 โรงพยาบาลในจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี โรงพยาบาลชะอำ โรงพยาบาลท่ายาง และทีมสหสาขาวิชาชีพจาก 8 จังหวัดในเขตสุขภาพ ผนึกกำลังตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยวิธีการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) ให้กับชาวเพชรบุรีที่มีผลตรวจคัดกรองเบื้องต้นเป็นบวก ช่วยค้นพบผู้ป่วยมะเร็ง 12 ราย ได้เข้าสู่การรักษาที่รวดเร็ว เพิ่มโอกาสรอดชีวิต วางแผนตรวจเพิ่มเดือนละ 30 ราย ส่วนปีต่อไปหมุนเวียนให้บริการในโรงพยาบาลต่างๆ เพิ่มขึ้น
พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 เปิดเผยว่า โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง เป็น 1 ใน 5 ของโรคมะเร็งที่พบมากในคนไทยและมีอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุขจึงมีการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงให้กับประชาชน ด้วยวิธีตรวจหาเลือดแฝงในอุจจาระ (FIT test) โดยผู้ที่มีผลการตรวจเป็นบวกจะได้รับการตรวจด้วยการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) เพื่อค้นหาโรคมะเร็งและส่งเข้าสู่ระบบการรักษาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิต โดยในปีงบประมาณ 2565 – 2566 จังหวัดเพชรบุรีมีการตรวจคัดกรองประชาชนด้วยวิธี FIT test จำนวน 10,203 ราย ผลตรวจเป็นบวก 1,309 ราย (ร้อยละ 12.83) ในจำนวนนี้ ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี Colonoscopy แล้ว 567 ราย ยังเหลือผู้ป่วยคงค้างอีก 742 ราย ซึ่งอาจทำให้เสียโอกาสในการเข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว หากป่วยด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง
พญ.อัจฉรา กล่าวต่อว่า เพื่อเร่งรัดการตรวจคัดกรองผู้ป่วยกลุ่มตกค้างดังกล่าว โรงพยาบาล 3 แห่ง ในจังหวัดเพชรบุรี ได้แก่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี โรงพยาบาลชะอำ และโรงพยาบาลท่ายาง จึงร่วมมือกันจัดทำโครงการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยวิธี Colonoscopy และศึกษาเปรียบเทียบการส่องกล้องลำไส้ใหญ่โดยใช้นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ ดำเนินการ ณ ศูนย์ผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) ของโรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาล 8 จังหวัดในเขตสุขภาพที่ 5 (นครปฐม, กาญจนบุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เพชรบุรี) ทั้งทีมศัลยแพทย์ วิสัญญีแพทย์ วิสัญญีพยาบาล พยาบาลห้องผ่าตัด พยาบาลศัลยกรรม และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องทำการตรวจทั้งหมด 412 ราย พบติ่งเนื้อในลำไส้ใหญ่ที่อาจจะกลายเป็นมะเร็งในอนาคต ถึง 145 ราย (ร้อยละ 35.2)ซึ่งแพทย์ได้ทำการตัดติ่งเนื้อจนผู้ป่วยปลอดภัยทุกราย และพบผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งในลำไส้ 12 ราย (ร้อยละ 2.9) ซึ่งได้ส่งเข้าสู่กระบวนการรักษาในโรงพยาบาลแล้ว
สำหรับผู้ป่วยกลุ่มเป้าหมายที่ยังตกค้างและผู้ป่วยรายใหม่ โรงพยาบาลทั้ง 3 แห่ง ได้วางแผนให้บริการตรวจเพิ่มรวมเดือนละ 30 ราย โดยโรงพยาบาลชะอำและโรงพยาบาลท่ายางได้ส่งพยาบาลเข้ารับการเพิ่มพูนความรู้และฝึกประสบการณ์เพิ่มเติมที่ โรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี ส่วนในปีถัดไปจะจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติมเพื่อหมุนเวียนไปให้บริการในโรงพยาบาลต่างๆ และจัดช่วงเวลารณรงค์ตรวจคัดกรองด้วยวิธี Colonoscopy เพื่อลดระยะเวลารอคอยให้สั้นลง ซึ่งโครงการนี้ นอกจากช่วยให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากโรคมะเร็งลำไส้แล้ว ยังถือเป็นโครงการต้นแบบตามนโยบาย one hospital one province one region ที่ช่วยลดแออัด ลดการรอคอยเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยอีกด้วย