สธ. หารือ ก.พ. แก้ปัญหาภาระงาน เพิ่มความก้าวหน้าบุคลากรทางการแพทย์

www.medi.co.th

กระทรวงสาธารณสุข เผย ประชุมหารือร่วม ก.พ. แก้ปัญหาภาระงาน ความก้าวหน้า และขวัญกำลังใจบุคลากร เล็งเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้เต็มกรอบขั้นสูงในปี 2569 หาแนวทางปลดล็อกความก้าวหน้าชำนาญการพิเศษของ "พยาบาล" ขยายการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านในศูนย์แพทย์ฯ ของกระทรวง เพื่อให้แพทย์อยู่ในภูมิภาค และจะเสนอแพทยสภาขอจัดสรรแพทย์ใช้ทุนเพิ่มเป็น 85% ของที่ผลิตแต่ละปี และเพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบทให้ได้แพทย์เข้าระบบปีละ 2 พันคน เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกับ ก.พ. ให้เห็นความคืบหน้าใน 30 วัน


นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายรณภพ ปัทมะดิษ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ ดร.ปิยวัฒน์ ศิวรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ประชุมร่วมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. เพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุข


นพ.โอภาสกล่าวว่า ปัจจุบันภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขเพิ่มขึ้นมาก ทั้งจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุ การให้บริการผู้ป่วยยาเสพติดตาม พ.ร.บ.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่กำหนดให้การบำบัดดูแลผู้ติดยาเสพติดเป็นบทบาทหน้าที่หลักของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประมาณการณ์ว่าจะมีมากถึง 1 ล้านคน การถ่ายโอน รพ.สต. ที่พบปัญหาว่าบางแห่งยังไม่สามารถจัดบริการตามที่ประชาชนคาดหวังได้ ทำให้กลับมารับบริการที่โรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมากขึ้น รวมทั้งประชาชนก็มีความคาดหวังต่อรับบริการสาธารณสุขมากขึ้น ทั้งความครอบคลุมด้านสถานที่ คุณภาพ และห้วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งแม้กระทรวงจะเพิ่มบุคลากรสาธารณสุขมากขึ้น แต่ยังไม่ทันกับภาระงานที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งที่ประชุมเห็นตรงกันว่าต้องมีการวางแนวทางปฏิบัติ วิธีการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อมาแก้ไขปัญหา

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ที่ประชุมในวันนี้มีความก้าวหน้าสำคัญ คือ 1.เห็นชอบที่จะมีการเพิ่มตำแหน่งข้าราชการแต่ละวิชาชีพให้ได้ตามกรอบขั้นสูงที่กำหนด ภายในปี 2569 เช่น แพทย์ปัจจุบันมี 24,649 คน เพิ่มเป็น 35,578 คน พยาบาลปัจจุบันมี 116,038 คน เพิ่มเป็น 175,923 คน เป็นต้น 2.การดูแลเรื่องความก้าวหน้าในวิชาชีพ เช่น วิชาชีพพยาบาล ที่ไม่สามารถขึ้นเป็นระดับชำนาญการพิเศษได้เนื่องจากไม่ตรงตามข้อกำหนดในระเบียบ จะมีการตั้งคณะกรรมการร่วมกันเพื่อดูเกณฑ์ที่ติดขัดว่าผ่อนปรนได้หรือไม่ 3.การจัดสรรบุคลากรให้เพียงพอ โดยเฉพาะแพทย์ รวมทั้งจะเสนอแพทยสภาในการศึกษาต่อแพทย์ประจำบ้าน ให้เพิ่มการฝึกอบรมในโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป 48 แห่งของกระทรวงสาธารณสุขที่เป็นสถานฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านมากขึ้น เพื่อคงอัตรากำลังแพทย์ไว้ในพื้นที่ และเสนอ ก.พ. ไม่นับเป็นการลาศึกษาต่อ เนื่องจากเป็นการไปฝึกปฏิบัติงานในอีกหน่วยบริการหนึ่ง เพื่อให้ไม่เป็นข้อจำกัดในการเลื่อนขั้นเลื่อนระดับ


4.การจัดสรรแพทย์เพิ่มพูนทักษะ (แพทย์ใช้ทุนปี 1) ให้เพียงพอกับภาระงาน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงฯ ได้รับจัดสรรไม่ถึง 70% จะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาจัดสรรนักศึกษาแพทย์ผู้ทำสัญญาการเป็นนักศึกษาแพทย์ (Consortium) ขอรับการจัดสรรเพิ่มเป็น 85% และ 5.โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท (CPIRD) พบว่าแพทย์คงอยู่ในระบบมากถึง 90% ดังนั้นจะขยายการผลิตให้ได้แพทย์ภาพรวมแต่ละปีประมาณ 2 พันคน ตามความต้องการของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะมีการเสนอกับแพทยสภาต่อไป โดยหลังจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข และ ก.พ. จะมีการตั้งคณะกรรมการในระดับปฏิบัติการ เพื่อร่วมกันทำงานในการแก้ไขปัญหา ข้อติดขัดต่างๆ ให้มีความคืบหน้าภายใน 30 วัน