กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในผืนแผ่นดินเดียวกับพลเมืองอื่นๆ ในประเทศ แม้จะมีภาษาและวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน แต่ก็มีฐานะเป็นพลเมืองของประเทศเช่นเดียวกัน จึงมีสิทธิมีเสียงที่ทุกคนในประเทศต้องรับฟัง
รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา ประธานศูนย์ภารตะศึกษา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาศาสตร์ สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในสังคมพหุวัฒนธรรมที่ประกอบไปด้วยผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรมมาอยู่ร่วมกัน
ปัญหาที่ยังคงพบตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน คือ "การยอมรับในความต่าง" หลาย "ความขัดแย้ง" ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มาจากการยึดมั่นในความคิดที่ว่า "ชนกลุ่มชาติพันธุ์" เป็นเพียงแค่ "ชนกลุ่มน้อย" และจากการถูกคาดหวังให้ดำเนินชีวิตตามกรอบ จนต้องสูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรม ซึ่งเปรียบได้กับการ "สูญเสียมรดก" ของมวลมนุษยชาติ
ในงานวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย เมียนมา และไทย เป็นบริเวณซึ่งมีลักษณะทางชาติพันธุ์แบบมองโกลอยด์ ภาษาตระกูลธิเบต-พม่า และวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน รองศาสตราจารย์ ดร.โสภนา ศรีจำปา ได้แนะนำถึงปัจจัยสำคัญของการปกป้องชนกลุ่มชาติพันธุ์
ซึ่งมีภาษาและวัฒนธรรมอันเป็นคุณค่าและความรุ่มรวยของมนุษยชาติที่แตกต่างหลากหลายไม่ให้สูญสลาย คือ "การสร้างการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และเท่าเทียมกัน" ซึ่งสำคัญต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมด้วยความสันติสุข
ตัวอย่างกรณีศึกษาจาก "รัฐมณีปุร์" ที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายพันปี มีประชากรราว 3.4 ล้านคน แต่มีกลุ่มชาติพันธุ์ราว 30 กลุ่ม
ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐอินเดีย ชนกลุ่มชนกลุ่มชาติพันธุ์ใน "รัฐมณีปุร์" มีสิทธิและมีส่วนร่วมในการบริหารและปกครองรัฐผ่านการเลือกตั้งภายในรัฐ
โดยมีมุขมนตรีเป็นหัวหน้าและเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารภายในรัฐ และมีสภานิติบัญญัติแห่งรัฐที่ชนกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งได้รับเลือกตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นในการวางแผนบริหารจัดการภายในพื้นที่การปกครองได้อย่างเต็มที่ ซึ่งสามารถนำมาเป็นตัวอย่างในการศึกษาแนวทางในการบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรมได้
นอกจากนี้ ยังพบว่าคุณค่าทางภูมิปัญญาของกลุ่มชาติพันธุ์ อาจแปรเปลี่ยนสู่การสร้างมูลค่าได้อย่างนึกไม่ถึง ตัวอย่างเช่น ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ด้วยภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาของกลุ่มชาติพันธุ์ อิ้นต้า (Intha) ทำให้วิถีชีวิตที่ต้องอยู่ท่ามกลางทะเลสาบอินเลไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำการเกษตรลอยน้ำ จากภูมิปัญญาในการนำเศษวัชพืชมาซ้อนทับด้วยดินโคลนและพืชน้ำเพื่อทำการเกษตรปลูกผักผลไม้ในทะเลสาบ
ซึ่งเป็นวิถีธรรมชาติที่อาจนำไปประยุกต์ใช้เป็นต้นแบบเพื่อรับมือกับสภาพการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) ในพื้นที่อื่นๆ ของโลกได้ต่อไปในอนาคต นอกจากความยั่งยืนจากรายได้ที่สร้างขึ้นจากการจำหน่ายผักผลไม้ซึ่งเป็นผลิตผลจากการทำเกษตรลอยน้ำดังกล่าวแล้ว ยังสามารถใช้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และวัฒนธรรมได้อีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย แนวทางการบริหารจัดการกลุ่มชาติพันธุ์อาจนำมาปรับใช้ด้วยการจัดทำและบรรจุเนื้อหาเรื่องความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทยไว้ในหลักสูตรตั้งแต่ระดับประถมศึกษาขึ้นไป เพื่อสร้างความรู้เรา รู้เขา เข้าใจในคุณค่า และอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ
อีกทั้งควรส่งเสริมการรู้เรา รู้เขาระหว่างสังคมไทยและแรงงานข้ามชาติ จะทำให้คนไทยเข้าถึงการอยู่ร่วมกันในระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กับประเทศอื่นๆ ได้อย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และเป็นสุข ดังเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในเสาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมไทยและประชาคมอาเซียนไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210