อย. ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป จัดกิจกรรมสัมมนาระดับภูมิภาคระหว่างประเทศพันธมิตรในเอเชีย เกี่ยวกับกฎระเบียบด้านความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหารและพลาสติกรีไซเคิล

www.medi.co.th

อย. ร่วมกับ กรมวิทยาศาสตร์บริการ และคณะกรรมาธิการสหภาพยุโรปจัดกิจกรรม Regional seminar on ‘Food Contact Materials and Safety Requirements applicable to Recycled Plastic’ ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2566 ณ โรงแรม Carlton Hotel Bangkok กรุงเทพมหานคร เพื่อการเพิ่มความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลกฎระเบียบของสหภาพยุโรปด้านวัสดุสัมผัสอาหารและพลาสติกรีไซเคิล และความจำเป็นในการตรวจสอบโรงงานผู้ผลิตพลาสติกรีไซเคิลที่ต้องการส่งออกพลาสติกรีไซเคิลไปยังสหภาพยุโรป

เภสัชกรเลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์บริการและสหภาพยุโรปจัดกิจกรรมการสัมมนาระดับภูมิภาค Regional seminar on ‘Food Contact Materials and Safety Requirements applicable to Recycled Plastic’ ระหว่างวันที่ 26-27 มิถุนายน 2566 โดยการสัมมนาครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพยุโรป ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎระเบียบวัสดุสัมผัสอาหาร ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานประเมินความปลอดภัย (European Food Safety Authority, EFSA)  ผู้เชี่ยวชาญจากห้องปฏิบัติการอ้างอิงด้านวัสดุสัมผัสอาหาร และมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร ได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ หน่วยงานวิจัย และผู้ประกอบการจากภาคอุตสาหกรรม เข้าร่วมการสัมมนา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระชับความร่วมมือด้านวัสดุสัมผัสอาหารระหว่างประเทศในยุโรปและเอเชีย เพิ่มความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลกฎระเบียบของสหภาพยุโรปด้านวัสดุสัมผัสอาหารและพลาสติกรีไซเคิล วิธีการปฏิบัติการบังคับใช้กฎหมาย และร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ เนื่องจากปัจจุบันสหภาพยุโรปได้ออกกฎระเบียบฉบับใหม่ที่กำหนดเงื่อนไขให้ผู้ที่ต้องการส่งออกวัสดุสัมผัสอาหารที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้ผลิตในสหภาพยุโรป โดยต้องมีการยื่นขออนุญาตเทคโนโลยีและกระบวนการรีไซเคิล การขึ้นทะเบียนโรงงานรีไซเคิล รวมถึงต้องมีการตรวจประเมินโรงงานรีไซเคิลโดยหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป หรือหน่วยงานที่มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก ทั้งนี้กฎระเบียบดังกล่าวมีผลกระทบกับผู้ส่งออกอาหารที่ใช้ภาชนะบรรจุที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลเช่นกัน เนื่องจากผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่ที่เกี่ยวข้องต้องสามารถให้ข้อมูลตรวจสอบย้อนกลับเกี่ยวกับที่มาของวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตรวมถึงภาชนะบรรจุอาหารที่ใช้ 


สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ (Asian competent authorities) ของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียที่รับผิดชอบในการกำกับดูแลความปลอดภัยของวัสดุสัมผัสอาหาร รวมทั้งองค์กร หน่วยงาน และภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจต่อกฎระเบียบของสหภาพยุโรปยิ่งขึ้นและรับรู้ถึงความจำเป็นในการตรวจสอบกระบวนการรีไซเคิลตามเงื่อนไขของสหภาพยุโรป เพื่อให้เกิดประโยชน์กับผู้ผลิตในประเทศที่ต้องการส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป และลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งยังสามารถนำความรู้จากการสัมมนาไปประยุกต์ใช้ในการพิจารณากำหนดมาตรการรองรับ หรือพัฒนาแนวทางในการกำกับดูแลของแต่ละประเทศ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองความปลอดภัยจากการใช้ภาชนะบรรจุอาหารของผู้บริโภคภายในประเทศให้ทัดเทียมกับสินค้าที่ส่งออกไปยังต่างประเทศ สำหรับประเทศไทย อย. มีการอนุญาตการใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล โดยต้องมีการประเมินประสิทธิภาพของกระบวนการรีไซเคิลและความปลอดภัยของพลาสติกรีไซเคิลที่จะนำมาผลิตเป็นภาชนะบรรจุอาหาร ในทำนองเดียวกับสหภาพยุโรป เพื่อให้ประชาชนมีความมั่นใจต่อความปลอดภัยของภาชนะบรรจุอาหารโดยเฉพาะที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิล