นักวิจัย ชี้ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่” ประสบความสำเร็จ ลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน เข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน พร้อมแนะประเด็นเชิงคุณภาพการรักษาสู่การพัฒนา
นพ.ณัฐวุฒิ เอี่ยงธนรัตน์ ตัวแทนคณะผู้วิจัยติดตามโครงการเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (UCEP) กล่าวถึงผลการศึกษาการดำเนินงานของนโยบาย UCEP ที่ผ่านมาว่า ถ้ามองความสำเร็จเชิงนามธรรมบนหลักการที่วางไว้ พบว่า มีความสำเร็จ 3 เรื่อง คือ 1.ผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้ป่วยในภาพรวม ทำให้ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินระหว่างสิทธิการรักษาลดลง และเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะก่อนมีนโยบาย UCEP ผู้เข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินส่วนใหญ่ คือสิทธิสวัสดิการข้าราชการ แต่หลังจากมี UCEP แล้ว สิทธิบัตรทองกลายเป็นกลุ่มหลักที่เข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ดังนั้นอนุมานได้ว่า การมีนโยบาย UCEP ทำให้เกิดความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินมากขึ้น มีสัดส่วนตัวเลขที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากกว่าเดิม
2.กระบวนการประเมินคัดแยกผู้ป่วยเพื่ออนุมัติสิทธิ ได้รับการยอมรับจากภาคเอกชน เพราะมีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าอาการแบบไหนคือฉุกเฉินวิกฤต และช่วยแก้ปัญหาการสื่อสารระหว่าง 3 กองทุน โรงพยาบาลเอกชนและผู้ป่วยเข้าใจได้ง่าย และ 3.วิธีการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการแบบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิการรักษาใด ส่งผลให้คุณภาพการรักษาเท่าเทียมกัน อัตราการเสียชีวิตในแต่ละสิทธิการรักษาไม่แตกต่างกัน
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จ 3 ข้อนี้เป็นคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในเชิงนามธรรม แต่ถ้ามองความสำเร็จในเชิงรูปธรรมโดยยึดคำว่าเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ จากการศึกษาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบหลักฐานสนับสนุนว่าผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินตรงตามระดับความเร่งด่วนของการรักษาพยาบาลตามที่โฆษณาไว้
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวอีกว่า ส่วนปัญหาในการดำเนินนโยบาย จากการศึกษาพบ 4 ประเด็น เชิงคุณภาพการรักษา คือ 1. ความแตกต่างของคุณภาพบริการในแต่ละภูมิภาค โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีผลลัพธ์และความก้าวหน้าดีที่สุด ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของจากสมรรถนะการบริการจัดการเครือข่ายแพทย์ฉุกเฉินของแต่ละพื้นที่ ระบบสารสนเทศที่มีข้อจำกัดเรื่องความสมบูรณ์ของข้อมูล ทำให้ผู้บริหารในระดับพื้นที่นำมาวิเคราะห์และพัฒนาได้ยาก รวมทั้งการตัดสินใจเชิงบริหารที่อาจมีอุปสรรคเรื่องระเบียบทางการเงินที่ยังไม่ยืดหยุ่นพอ
2. มีช่องว่างในกระบวนการดูแลก่อนถึงโรงพยาบาล ทั้งการคัดกรองและการจ่ายงาน ข้อมูลที่สะท้อนภาพได้ดี คือการนำส่งตัวผู้ป่วยสีเหลืองซึ่งควรถูกรับตัวด้วยรถพยาบาลระดับสูง กลับได้รับการใช้รถพยาบาลระดับเบื้องต้นเกือบ 80% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงเกินไป และ 3. ผู้ป่วยร้อยละ 20-30 มีปัญหาถูกเรียกเก็บเงินมัดจำก่อนให้บริการใน รพ.เอกชน มีช่องว่างการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจในหลักเกณฑ์ประเมินคัดแยกผู้ป่วยเพื่ออนุมัติสิทธิ และร้อยละ 33-55 ไม่พอใจผลการประเมิน เพราะคิดว่าตัวเองฉุกเฉินแต่เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่ฉุกเฉิน อีกทั้งพบว่าการเข้ารับบริการผ่านระบบของสายด่วน 1669 ยังน้อยกว่า 10% ส่วนผู้ป่วยที่เหลือเข้าถึงบริการด้วยตัวเอง
และ 4. การบันทึกข้อมูล pre-authorization ของผู้ให้บริการที่ไม่ครบถ้วน ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน บางแห่งบันทึกข้อมูลทุกราย บางแห่งบันทึกเฉพาะผู้ที่แพทย์ประเมินว่าฉุกเฉินวิกฤต เป็นต้น เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ที่ให้ส่งต่อภายใน 72 ชม. ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพอาการป่วยของผู้ป่วยแต่ละราย บางคนอาจส่งต่อได้เร็ว บางคนอาจส่งต่อได้ช้ากว่านั้น และความเข้าใจหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายหลัง 72 ชม. ยังแตกต่างกันระหว่างสถานพยาบาล ไม่มีระเบียบแบบแผนชัดเจน ขณะเดียวกันก็พบว่ามีผู้ป่วยบางรายที่ไม่สามารถส่งต่อไปโรงพยาบาลตามสิทธิได้หลัง 72 ชม. เพราะโรงพยาบาลตามสิทธิไม่มีเตียงสำรองไว้ให้
นพ.ณัฐวุฒิ กล่าวต่อว่า ส่วนข้อเสนอนโยบาย เพื่อพัฒนาระบบ UCEP โดยในส่วนของรัฐบาลให้ขยายนโยบาย UCEP ไปสู่ รพ.รัฐทั่วประเทศ เพื่อเป็นหลักประกันให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างทันการณ์ พร้อมกับแก้ไขกฎระเบียบด้านการเงินให้ยืดหยุ่นใกล้เคียงโรงพยาบาลเอกชน ขณเดียวกันก็ส่งเสริมองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่รับถ่ายโอนภารกิจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีบทบาทพัฒนาเครือข่ายบริการกู้ชีพร่วมกับโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และมูลนิธิต่างๆ เพื่อลดความแตกต่างของบริการกู้ชีพระหว่างภูมิภาค
ส่วนระบบสารสนเทศ ควรพัฒนาให้รองรับนโยบายการแพทย์ฉุกเฉิน ใช้กลไกการจ่ายเงินแบบ fee schedule และเพิ่มขีดความสามารถสถานพยาบาลในการวิเคราะห์ข้อมูล แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถานพยาบาลและหน่วยกู้ชีพ เพื่อให้เกิดการบริการแบบไร้รอยต่อ สุดท้ายคือควรวิจัยต่อยอดวิธีการจ่ายชดเชยค่าบริการให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สอดคล้องกับขีดความสามารถและต้นทุนบริการของ รพ.ที่แตกต่างกัน
รวมไปถึงการยืดหยุ่นหลักเกณฑ์ 72 ชม. ตามสภาวะฉุกเฉินที่มีความไม่แน่นอน