ก้าวที่สำคัญก่อนการบรรลุเป้าหมาย 9 to zero หรือภาวะไร้ซึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างสมบูรณ์ คือ "การมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Carbon Neutral) หรือการไม่ปฏิเสธต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเริ่มทำอย่างจริงจัง จากก้าวเล็กๆ สู่อนาคตที่ยิ่งใหญ่
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกฤต เนียมหอม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมคณะฯ ในการเป็น "ส่วนงานนำร่องสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Green and Carbon Neutral Faculty)
หนึ่งในอุปสรรคสำคัญในการเดินหน้า "ภารกิจสีเขียว" ที่สำคัญของคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เกิดจาก "ข้อจำกัดในเชิงพื้นที่" จากสถานที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตเมืองหลวง ที่มีความแออัดและเต็มไปด้วยมลพิษ แตกต่างไปจากวิทยาเขตอื่นๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลที่อยู่ในต่างจังหวัดซึ่งยังคงแวดล้อมไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
แต่ยังคงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเท่าใดนัก หากนับรวมพื้นที่รับผิดชอบในเขตอำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ของ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มี "การดูดกลับ" ด้วยการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น
โดยเมื่อปี พ.ศ. 2565 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษาปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนามแนวทางขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก พบว่า มีการปล่อยระบายคาร์บอนจากทั้ง 3 scope จำนวน 1,474 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งพบว่า แหล่งกำเนิดที่ปล่อยมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ สูงถึง 74%
เพื่อลดอัตราการใช้ไฟฟ้า คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มีแนวทางสอดคล้องกับการช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การติดตั้ง Solar Rooftop ร่วมกับการจัดการขยะ และลดการใช้ถุงพลาสติกที่ยังคงมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน โดยจะทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จากประมาณ 20% เหลือเพียงประมาณ 1,180 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ซึ่งเป็นการแบ่งเบาภาระจำเป็นจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มาจากการใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากในอาคารเรียน - สำนักงาน พื้นที่ส่วนกลาง และพื้นที่ให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชนของคณะฯ
โดยดำเนินการตามกลยุทธ์เพื่อรักษาสมดุลระหว่างมลภาวะ (Pollution) สุขภาวะ (Health) และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนกฤต เนียมหอม มองว่า เรื่องของ SDGs หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ เป็นเรื่องที่ทุกองค์กรจะต้องให้ความสำคัญ และดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะบรรลุเป้าหมายได้เร็วยิ่งขึ้น หากสามารถนำทุกกิจกรรมมาคำนวณออกมาเป็นตัวเลข แล้วนำไปเทียบกับการใช้จริงในชีวิตประจำวัน โดยจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจน และเกิดความตระหนักร่วมกันมากยิ่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น การทำให้เห็นว่า หากสามารถประหยัดน้ำได้เพียงวันละ 5 ลิตร เมื่อรวมกัน 1 ปี จะเท่ากับปริมาณน้ำที่นำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้เป็นจำนวนมากเพียงใด เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมองว่าปฏิบัติการ "ลดปล่อย" พร้อม "ดูดกลับ" ก๊าซเรือนกระจก เทียบไม่ได้กับการซื้อ-ขาย "คาร์บอนเครดิต" กันในปัจจุบัน ซึ่งอาจเป็นเพียงตัวเลขที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ถึงอย่างไรยังนับว่าดีต่อ "การสร้างแรงกระเพื่อม" ให้เกิดความตระหนักในอนาคตของ "โลกสีเขียว" ที่ถือเป็น "ความรับผิดชอบร่วมกัน"
เช่นเดียวกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่พร้อมมุ่งสู่การเป็น "ส่วนงานนำร่องสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Green and Carbon Neutral Faculty) และเพื่อเป็นต้นแบบของการใช้พลังงาน และอนุรักษ์ของพื้นที่พญาไท กรุงเทพฯ
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ภาพโดย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล