"พิพิธภัณฑสถาน" ในโลกยุคปัจจุบัน ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่เก็บวัตถุ หรือเอกสารโบราณที่รอวันเสื่อมสลายไปตามกาล แต่เป็นสถานที่ที่เชื่อมโยงเวลาอดีต ปัจจุบัน และอนาคตไว้ด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อให้การศึกษา ความบันเทิงใจและการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของมวลมนุษยชาติไว้ให้ยั่งยืนอย่างมีพลวัต
คำว่า "พิพิธภัณฑ์" นั้นย่อมหมายรวมถึงหอศิลป์ ห้องสมุด หอจดหมายเหตุ และพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑสถาน และแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยต่างๆ พิพิธภัณฑ์จึงนับเป็นชานชาลาของการเรียนรู้ที่สำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน
งานพิพิธภัณฑ์จึงเป็นสายงานที่ต้องอิงอาศัยการทำงานในลักษณะพหุวิทยาการ เชื่อมโยงมากมายหลายสาขาวิชาให้มาทำงานร่วมกันอย่างมีบูรณภาพ
บัดนี้! นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยมหิดล โดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย ได้เปิดหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะสร้างความรู้และกระบวนการเรียนรู้เพื่อช่วยเหลือทุกคนในสังคม มีโอกาสการเรียนรู้อย่างเท่าเทียม ได้อยู่ร่วมกันโดยสันติสุข ท่ามกลางโลกยุคใหม่ที่มีความแตกต่างหลากหลาย (Inclusive Society)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ ประธานหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า เพื่อสืบสานพระราชปณิธานแห่งพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ที่ว่า "ขอให้ถือผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง ลาภทรัพย์และเกียรติยศจะตกมาแก่ท่านเอง ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์" โดยเชื่อมั่นถึงอนาคตของหลักสูตรฯ ว่าจะสามารถตอบสนองการเรียนรู้ของมนุษย์ได้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด
ภายใต้แนวคิด "การคิดเชิงออกแบบ" (Design Thinking) ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามโจทย์ที่ต้องการของสังคม บนพื้นฐานของการฝึกคิดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อการแก้ปัญหาสู่การเป็น "ชานชาลาของการเรียนรู้เชิงปริวรรตเพื่อความเท่าเทียมทางสังคม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ SDG4 เพื่อการศึกษาที่เท่าเทียม (Quality Education) และ SDG10 ที่ว่าด้วยการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม (Reduced Inequalities)
นอกจากนี้ เนื้อหาของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล ยังได้ออกแบบให้สอดคล้องและเท่าทันโลกยุคใหม่ ดังมีรายวิชาที่น่าสนใจ อาทิ พิพิธภัณฑ์กับวัฒนธรรมดิจิทัล การออกแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิตในพิพิธภัณฑ์ และพิพิธภัณฑ์รับใช้สังคม ซึ่งเน้นการสร้าง "พื้นที่ทางวัฒนธรรม" ไปพร้อมๆ กับการสร้างความผูกพัน และความสัมพันธ์กับชุมชน เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น และการบรรลุเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
และด้วยแนวทาง "การเรียนรู้เชิงปริวรรต" ที่เน้นเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงจากประสบการณ์ นักศึกษาของหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้ "ประสบการณ์ตรง" จากการได้ไปฝึกงานจริงในพิพิธภัณฑสถาน และจากการศึกษาดูงานกระบวนการทำงานพิพิธภัณฑ์ ณ พิพิธภัณฑสถาน และแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายในประเทศ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พธู คูศรีพิทักษ์ กล่าวต่อไปว่า ในอนาคต หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จะเปิดกว้างสำหรับเงื่อนไขการเปิดรับนักศึกษา สู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้ปฏิบัติงานในพิพิธภัณฑ์ และองค์กรที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งคาดว่าในปัจจุบันมีมากถึง 6,000 รายทั่วประเทศ ให้ได้เข้าถึงโอกาสศึกษาต่อในหลักสูตรฯ ในการเรียนรู้ลักษณะต่างๆ ทั้งแบบมุ่งปริญญา และไม่เน้นปริญญา หลักสูตรระยะสั้นตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของผู้เรียน และสามารถนำประสบการณ์ในการทำงานพิพิธภัณฑ์มาใช้เทียบโอนเป็นหน่วยกิตได้ต่อไป
และยังจะขยายโอกาสไปยังผู้นำกลุ่มชาติพันธุ์ทั่วประเทศให้ได้มีโอกาสศึกษาต่อ หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำความรู้กลับไปต่อยอดสร้าง "พิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์" ประจำท้องถิ่นของตนเอง ซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของ SDG11 Sustainable Cities and Communities เพื่อการ "อนุรักษ์มรดกโลก"
โดยหวังให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพิพิธภัณฑศึกษา สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล จะได้ชื่อว่าเป็นบัณฑิตด้านพิพิธภัณฑศึกษา ผู้ "รู้ปฏิบัติพร้อมทฤษฎี มีทักษะวิจัย นำไปใช้แก้ปัญหาได้จริง มั่นคงยิ่งในคุณธรรม เป็นผู้นำในวงวิชาการวิชาชีพ” พร้อมนำความรู้ไปต่อยอดสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์สุขแก่มวลมนุษยชาติต่อไป
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210
ภาพโดย สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล