สธ.- สกมช. เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยไซเบอร์ คุ้มครองข้อมูลสุขภาพผู้รับบริการ

www.medi.co.th

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เดินหน้าพัฒนาบุคลากรในการป้องกันและตอบโต้ภัยคุกคามทางไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มครองความปลอดภัยข้อมูลสุขภาพของผู้รับบริการ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชน


นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีเปิดการอบรมการจัดการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ด้านการบริหารศูนย์ปฏิบัติการความมั่นคงและปลอดภัยไซเบอร์ (Security Operation Center : SOC) ภายใต้โครงการสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ สำหรับหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) ด้านสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ โดยมี พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นประธานในพิธี


นายแพทย์พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาระบบสุขภาพดิจิทัลที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ซึ่งสถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ จึงเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ทั้งข้อมูลสุขภาพของผู้ป่วย การให้บริการและการรักษา เป็นต้น ความปลอดภัยของข้อมูลจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในหน่วยงานสาธารณสุขและโรงพยาบาล เพื่อยกระดับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ตลอดจนการป้องกัน รับมือ ตอบโต้และลดความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์


ด้านพลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเป็นหน่วยงานที่มีระบบและข้อมูลสารสนเทศในกระบวนการปฏิบัติงานของแพทย์ พยาบาลและผู้รับบริการที่มีความสำคัญทั้งสิ้น การอบรมครั้งนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับทักษะความเชี่ยวชาญ สร้างความรู้ความเข้าใจที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเสริมการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข ให้สามารถตรวจจับการโจมตี เพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองและบรรเทาภัยคุกคามทางไซเบอร์ ทำให้การบริการดำเนินต่อไปได้ โดยไม่กระทบต่อประชาชน


สำหรับการอบรมในครั้งนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ สถานการณ์ การรับมือและการป้องกัน ตลอดจนการใช้เครื่องมือเพื่อตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ ให้กับบุคลากรผู้ปฏิบัติงานดูแลระบบสารสนเทศของหน่วยงาน ซึ่งจะช่วยเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ของแต่ละหน่วยงาน สร้างความปลอดภัยให้กับข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลของผู้รับบริการ รวมถึงป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการให้บริการโดยจัดในรูปแบบออนไซต์และออนไลน์ ระหว่างวันที่ 28 สิงหาคม - 1 กันยายน 2566 โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจำนวน 90 คน จากสำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ อาทิ โรงพยาบาลอุดรธานี โรงพยาบาลลำปาง โรงพยาบาลขอนแก่น โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลพุทธชินราช