โรช ไดแอกโนสติกส์ ร่วมประชุมวิชาการประจำปีสมาคมเทคนิคการแพทย์ 2566 จัดเสวนา “HPV DNA Self-Sampling กุญแจสำคัญสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งปากมดลูกในไทยให้สิ้นซาก”

www.rodweekly.com

            บริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมงานประชุมวิชาการสมาคมเทคนิคการแพทย์ (ACMTT) ครั้งที่ 45 จัดโดยสมาคมเทคนิคการแพทย์ประจำปี 2566 จัดเสวนาวิชาการ “HPV DNA Self-Sampling กุญแจสำคัญสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งปากมดลูกในไทยให้สิ้นซากเพื่อให้ความรู้ ข้อมูลสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแก่นักเทคนิคการแพทย์ อัพเดทสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพสำหรับประชาชน รวมทั้ง รณรงค์สตรีไทยที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว หรือมีอายุตั้งแต่ 30 – 59 ปี ให้ตระหนักถึงความสำคัญของการเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ตอกย้ำแนวคิดตรวจพบเชื้อ HPV ตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้แพทย์ทำการรักษาได้ทันท่วงที และหากผลเป็นบวกอย่านิ่งนอนใจ ต้องเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม จะช่วยลดโอกาสเป็นมะเร็งปากมดลูก และเสียชีวิตได้! โดยภายในงานได้รับเกียรติจาก ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเสวนา


          โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 5 ของโรคมะเร็งในผู้หญิงไทย  โดยมีข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่ป้องกันได้ถึงร้อยละ 80 หากได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยการตรวจหาเชื้อ HPV อย่างสม่ำเสมอ โดยในปัจจุบันสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้บรรจุการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA และ HPV DNA Self-Sampling แบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูก ทั้งยังเพื่อแก้ปัญหาความเขินอาย และกังวลใจในการขึ้นขาหยั่ง ให้สตรีที่มีอายุ 30-59 ปีสามารถรับสิทธิ์ได้ฟรีผ่านแอปพลิเคชั่น เป๋าตัง อย่างไรก็ตามยังมีสตรีจำนวนมากที่เมื่อตรวจพบเชื้อ HPV สายพันธุ์เสี่ยงสูงซึ่งเป็นสาเหตุของของโรคมะเร็งปากมดลูกถึง 70% แล้ว กลับไม่ดำเนินการเข้ารับการตรวจเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการรักษาก่อนที่เชื้อจะพัฒนาไปเป็นมะเร็ง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าปัจจุบันคนไทย 48 ล้านคน มีสิทธิบัตรทองที่เมื่อเจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง แต่มี สปสช. เป็นตัวแทนรัฐบาลในการรับผิดชอบค่าใช้จ่ายตามหลักเกณฑ์ นอกจากการรักษาพยาบาล สปสช.ยังมีสิทธิประโยชน์ด้านการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งดูรายละเอียดได้ผ่านแอปเป๋าตัง ซึ่งจะมีการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้หญิงอยู่ 22 รายการ จำแนกตามเพศและกลุ่มอายุ สำหรับสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งปากมดลูกปีนี้ตั้งเป้าหมายไว้ 1.2 ล้านคน ดำเนินการไปแล้ว 7 แสน หรือราวๆ 56.8% จึงอยากเชิญชวนให้สตรีกลุ่มเสี่ยงมาใช้สิทธิ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการเป็นมะเร็งปากมดลูก เพราะหากพบเชื้อระยะต้นๆ จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาได้ทันท่วงที และหากผลออกมาเป็นลบ แปลว่าท่านปกติ อีก 3-5 ปี ค่อยมาตรวจใหม่


          “ปัจจุบันการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของสตรีไทยอายุ 30-59 ปี สามารถขอรับชุดเก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ที่โรงพยาบาลของรัฐที่เข้าร่วมโครงการ และขอรับชุดเก็บตัวอย่างได้ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง โรคมะเร็งปากมดลูกนับเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของประเทศไทย และแม้ว่าเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 5 ในผู้หญิงไทย และมีอัตราการเสียชีวิตปีละเกือบ 5,000 ราย แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นมะเร็งที่รักษาได้หากพบในระยะแรกเริ่ม เนื่องจาก 70% ของโรคเกิดจากการติดเชื้อ HPV (เอชพีวี) สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้น การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาการติดเชื้อเอชพีวีในระยะแรกเริ่ม เพื่อนำไปสู่การรักษา จึงเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญเพื่อลดจำนวนหญิงไทยที่มีความเสี่ยงเจ็บป่วยด้วยโรคมะเร็งปากมดลูก จึงหวังว่าการร่วมกับภาคเอกชนประชาสัมพันธ์ให้สตรีรับทราบข้อมูลมากขึ้น เกิดความเข้าใจ จะทำให้สตรีเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้นตามนโยบายของ สปสช.” ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ กล่าวเสริม

ด้าน นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย และโฆษกรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การตรวจคัดกรองด้วยวิธีเก็บตัวอย่างด้วยตนเองจะช่วยแก้ปัญหาอายแพทย์ และกังวลการขึ้นขาหยั่งได้ ทำให้ผู้เข้ารับการตรวจมีความสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศแล้วว่าการตรวจ HPV DNA Self-Sampling มีความคุ้มค่า แนะนำให้เป็นมาตรฐานการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สําหรับประเทศที่มีรายได้ปานกลาง รายได้ต่ำ ซึ่งในอดีตการตรวจแบบนี้จะมีเฉพาะในประเทศที่รายได้สูงแต่ล่าสุด WHO ได้ประกาศแล้วว่าการตรวจนี้มีความคุ้มค่า เนื่องจากสามารถเข้าถึงได้ง่าย เก็บตัวอย่างด้วยตนเองได้ รวมทั้งประเทศไทยมีสิทธิประโยชน์ให้ตรวจฟรี จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าด้วยทางเลือกใหม่ที่เพิ่มเข้ามา จะช่วยให้ผู้หญิงเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ มากขึ้น


          “วิธีการเก็บตัวอย่างด้วยตนเองไม่ยุ่งยาก หมอแนะนําให้ใช้เก้าอี้ หรือว่าเข้าห้องน้ำ ล้างมือให้สะอาด ยกขาข้างหนึ่งไว้ จับก้านไม้ตรวจแล้วสอดเข้าไปให้ลึกตามรอยเครื่องหมายที่อยู่บนก้านแปรงเก็บตัวอย่าง จากนั้นให้หมุนๆ ทำตามคู่มือ แล้วเก็บใส่หลอดเก็บตัวอย่าง ปิดฝา แล้วดำเนินการส่งให้ห้องแล็บตรวจต่อไป แนะนําว่าเมื่อรับชุดเก็บมาแล้ว ให้เก็บตัวอย่างด้วยตนเอง เก็บตัวอย่างเสร็จแล้ว ก็ส่งที่จุดตรวจ เมื่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางหน่วยงานที่เก็บจะส่งผลตรวจกลับมาที่แอพเป๋าตังเหมือนเดิม” นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์ กล่าว


          อย่างไรก็ตาม นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์กล่าวว่าเมื่อพบเชื้อเอชพีวี สิ่งที่สำคัญมากคือการตรวจเพิ่มเติม เช่น แพทย์ต้องทำการการส่องกล้องเข้าไปดูแบบขยายสี่สิบเท่า (Colposcopy) แล้วชโลมน้ำยาบางอย่างเพื่อให้เห็นรอยโรคชัดขึ้น และตัดเอาเนื้อชิ้นเล็ก ๆ ไปตรวจ ซึ่งผลชิ้นเนื้อนี้ จะบอกได้ว่าเป็นระยะใดนั่นเอง เช่น ระยะก่อนเป็นมะเร็ง ระยะหนึ่ง ระยะสอง เป็นต้น


          “เมื่อพบเชื้อในระยะแรกเริ่ม การรักษาจะสามารถทำได้ง่าย สะดวก มีโอกาสรักษาได้ เช่น สมมุติว่าเป็นระยะศูนย์ จะตัดแค่บริเวณชิ้นเนื้อแค่ปากมดลูก ไม่ต้องถึงขั้นตัดมดลูก ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ใช้วิธีฉีดยาชาที่ปากมดลูก แล้วก็ใช้ขดลวดไฟฟ้าตัด เสร็จแล้วกลับบ้านได้เลย ดังนั้น นี่คือความสําคัญที่อยากจะบอกคนไข้ทุกคนว่าหากผลตรวจออกมาเป็นบวก ให้รีบมาพบแพทย์ บางคนอาจจะไม่เป็นอะไรเลยก็ได้ หรือหากพบเชื้อจะได้ทําการรักษาแต่เนิ่น ๆ อย่าลืมว่ามะเร็งในระยะแรกเริ่ม อาจจะแสดงอาการผิดปกติใดๆ  กว่าจะไปรู้อีกทีก็กลายเป็นมะเร็งไปแล้ว และแม้ว่าโรคนี้ไม่ถึงกับรักษาไม่ได้ แต่มันต้องเสียทรัพยากรในการรักษา ซึ่งในเมื่อหลีกเลี่ยงได้ด้วยการเข้ารับการตรวจคัดกรองโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยแล้ว จึงอยากรณรงค์ให้ผู้หญิงกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรอง HPV DNA จะแบบคุณหมอตรวจให้ หรือจะเก็บตัวอย่างด้วยตนเองแบบ HPV DNA Self-Sampling ก็ได้ เพราะเชื้อ HPV ยิ่งตรวจพบไวยิ่งดีจะได้ทำการรักษาก่อนเชื้อพัฒนาไปเป็นมะเร็ง เพราะกันไว้ดีกว่าแก้ มดลูกแย่จะแก้ไม่ทัน!!” นพ. โอฬาริก มุสิกวงศ์กล่าวปิดท้าย