รพ.มิตรประชาพร้อมรับส่งต่อผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง

www.medi.co.th

โรงพยาบาลมิตรประชาพร้อมร่วมเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองพื้นที่ฝั่งธนใต้ ลั่นมีแพทย์รองรับทุกสาขา ให้บริการประชาชนตามมาตรฐานที่ สปสช. กำหนด


นพ.ธราธิป วนาวณิชย์กุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพชรเกษมการแพทย์ จำกัด ซึ่งประกอบกิจการโรงพยาบาลมิตรประชา กล่าวถึงการเข้าร่วมเป็นหน่วยบริการตามมาตรา 7 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อในการรับส่งต่อผู้ป่วยนอก/ผู้ป่วยใน สิทธิบัตรทองในพื้นที่ กทม. ว่า เหตุผลที่โรงพยาบาลมิตรประชาตัดสินใจเข้าร่วมให้บริการเนื่องจากโรงพยาบาลเคยดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทองมานานแล้ว แต่หยุดให้บริการไปในปี 2563 อย่างไรก็ดี ในระยะหลังมานี้ พื้นที่ กทม. ยังมีปัญหาขาดแคลนหน่วยบริการ ประกอบกับประชาชนในพื้นที่ฝั่งธนใต้ เช่น เขตภาษีเจริญ เขตหนองแขม เขตบางบอน และเขตตลิ่งชัน ที่เคยมารับบริการกับโรงพยาบาลมิตรประชา ยังมีความประสงค์จะมารับบริการอยู่ จึงตัดสินใจร่วมมือกับ กทม. และ สปสช. เพื่อเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อแก่ผู้ป่วยที่หาโรงพยาบาลรับส่งต่อไม่ได้


นพ.ธราธิป กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของความพร้อมในการให้บริการนั้น โรงพยาบาลมิตรประชามีเตียงสำหรับผู้ป่วยระดับทุติยภูมิ 148 เตียง ในระดับตติยภูมิก็ห้องผ่าตัด 3 ห้อง ตลอดจนมีแพทย์ครบทุกแผนก ทุกสาขา และในกรณีที่จำเป็นต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลระดับสูงกว่าก็มีเครือข่ายรองรับ เช่น ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ที่สามารถส่งต่อผู้ป่วยได้


“ส่วนเรื่องมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา แพทย์เฉพาะทาง หรือเครื่องมือพิเศษ ฯลฯ เว้นแต่ว่ารายการไหนที่ สปสช. ไม่ให้เบิกแต่ผู้ป่วยประสงค์จะใช้ เราก็จะแจ้งให้ผู้ป่วยทราบก่อนว่ารายการนั้น สปสช. ไม่อนุญาตให้เบิก ถ้าผู้ป่วยจะใช้ต้องตัดสินใจเอง แต่รายการไหนที่ สปสช. ประกาศไว้แล้วก็สามารถให้บริการได้เลย”นพ.ธราธิป กล่าว


นพ.ธราธิป กล่าวต่อไปว่า หลังจากที่มีการแถลงความร่วมมือในวันนี้แล้ว อยากให้มีการปรับระบบส่งต่อให้ผู้ป่วยมีความสะดวกมากขึ้น เพราะแต่เดิมผู้ป่วยสามารถแจ้งความประสงค์ผ่านหน่วยบริการปฐมภูมิแล้วถือใบส่งตัวมารับบริการได้ แต่ปัจจุบันมีการปรับระบบให้ผู้ป่วยไปผ่านหน่วยบริการเดิมก่อน ทำให้คนไข้อาจไม่ได้รับความสะดวกในการรับบริการ ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้หน่วยบริการปฐมภูมิสามารถส่งต่อมาหน่วยบริการตามมาตรา 7 ได้เลย ซึ่งทางโรงพยาบาลมีความพร้อมให้บริการอยู่แล้ว


“ถ้าโรงพยาบาลเอกชนสามารถแบ่งเบาภาระได้และอยู่ในเงื่อนไขที่จะส่งต่อ เช่น เกินศักยภาพของหน่วยบริการปฐมภูมิ ก็น่าจะอนุญาตให้ทำใบส่งตัวมาได้ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย ทั้งตัวคนไข้ ผู้ให้บริการภาครัฐและเอกชน”นพ.ธราธิป กล่าว