Home PC Happy everywhere : การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้าย แบบประคับประคองที่บ้าน

www.medi.co.th

โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กรมการแพทย์ ได้รับรางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2566 จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ประเภทพัฒนาการบริการ ระดับดี ในผลงาน Home PC Happy everywhere : การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายแบบประคับประคองที่บ้าน


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตเป็นอันดับหนึ่ง ติดต่อกันหลายสิบปี โดยจากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ถึงปีละกว่า 67,000 คน และจากสถานการณ์ปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วยมะเร็งที่เข้าเกณฑ์การดูแลแบบประคับประคอง/ระยะท้าย จำนวน 185,577 ราย แต่มีเพียง 65.46 % ที่เข้าถึงบริการการดูแลแบบประคับประคอง กระทรวงสาธารณสุขเล็งเห็นปัญหาจึงมีนโยบาย “สถานชีวาภิบาล” เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพิ่มคุณภาพชีวิต และลดภาระค่าเดินทาง ลดระยะเวลารอคอยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่บ้าน (Home ward) เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้เกิดความมั่นใจว่าผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัวสามารถเข้าถึงบริการและได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง

นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ริเริ่มให้มีการจัดตั้งหออภิบาลคุณภาพชีวิต (Quality of life care unit : QCU) ตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งเป็นการดูแลที่มุ่งเน้นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและครอบครัว ภายใต้การจัดสิ่งแวดล้อมเสมือนบ้านหลังที่สอง มีการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัวก่อนกลับไปใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายที่บ้าน สำหรับรางวัลเลิศรัฐสาขาบริการภาครัฐเป็นรางวัลที่มอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีผลการพัฒนาคุณภาพการให้บริการเพื่อประชาชน ซึ่งในผลงานการพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายแบบประคับประคองที่บ้าน (Home PC Happy Everywhere) เป็นผลงานพัฒนาบริการ ส่งผลให้ผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัวได้รับการดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ครอบครัว โดยลดวันนอนพักที่โรงพยาบาล ลดค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและครอบครัวทั้งในส่วนของการเดินทางและค่าใช้จ่ายระหว่างอยู่โรงพยาบาล โดยผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายได้รับการดูแลแบบประคับประคองตามความต้องการของผู้ป่วยและครอบครัว กลับไปใช้ชีวิตในวาระสุดท้ายที่บ้านจนกระทั่งเสียชีวิตท่ามกลางบุคคลอันเป็นที่รักในสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย โดยมีทีมสหวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเข้ามาใช้ในการดูแลติดตามผู้ป่วยที่บ้าน ผ่านระบบการแพทย์ทางไกล (Tele medicine) มีการประสานงานกับทีมสาธารณสุขและผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ เพื่อวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่การดูแลที่บ้าน


สามารถติดต่อได้ที่หมายเลข 02 546 1960-6 ต่อ 1200