รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอาภัทรสา เล็กสกุล ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการแต่งตำรา เรื่อง “เทคนิคการผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่”

www.medi.co.th

“โรคตาเหล่” เป็นโรคที่ตา 2 ข้างไม่ได้มองไปในทิศทางเดียวกัน มีได้หลายรูปแบบ สำหรับรูปแบบที่พบบ่อย คือ ตาเหล่ออกและตาเหล่เข้า ผู้ป่วยที่มีอาการตาเหล่ให้เห็นตลอดเวลา ตาจะมองเห็นได้ทีละข้าง ไม่สามารถมอง 2 ตาพร้อมกันได้ ทำให้สูญเสียการมองเห็นภาพ 3 มิติ ซึ่งเป็นศักยภาพที่คนปกติควรจะมี จากการศึกษาวิจัยพบว่าจำนวนผู้ป่วยโรคตาเหล่ทั่วโลก มีอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2 ของประชากรทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเชื้อชาติ บางเชื้อชาติอาจจะมีจำนวนผู้ป่วยตาเหล่มากหรือน้อยกว่าอัตราเฉลี่ยดังกล่าว โรคตาเหล่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องของความสวยงามที่เห็นได้อย่างชัดเจน ในเด็กเล็กอาจถูกเพื่อนล้อเลียนได้ สำหรับในผู้ใหญ่มักทำให้ขาดความมั่นใจในการดำเนินชีวิต ซึ่งถ้าผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดแก้ไขให้ตากลับมาตรงได้ชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่สำหรับความสามารถในการมองเห็นภาพ 3 มิตินั้น จะกลับมาเหมือนคนปกติหรือไม่ ขึ้นอยู่กับรูปแบบตาเหล่ของผู้ป่วยและอายุของผู้ป่วยตอนได้รับการผ่าตัด

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอาภัทรสา เล็กสกุล กล่าวว่า ปรัชญาที่ใช้ยึดถือในการดำเนินชีวิตและการทำงานมาโดยตลอด คือ ต้องเป็นคนขยัน ไม่ปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ ยึดถือปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง ประพฤติตนให้เป็นแบบอย่างที่ดี น่าเชื่อถือ และในฐานะจักษุแพทย์ จะต้องให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเต็มกำลังความสามารถเท่าที่จะทำได้ สำหรับแรงบันดาลใจในการแต่งตำราเรื่อง “เทคนิคการผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่” เพื่อต้องการแบ่งปันประสบการณ์ องค์ความรู้ต่าง ๆ ในการผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่ซึ่งทำมากว่า 25 ปี ตั้งแต่การตรวจวินิจฉัย การวัดมุมเหล่ การกำหนดวิธีผ่าตัด การวางระยะบนตัวกล้ามเนื้อตาที่ต้องการผ่าตัด รูปแบบการเย็บกล้ามเนื้อตา เป็นต้น ซึ่งแต่ละขั้นตอนของการผ่าตัดรักษา มีรายละเอียด และเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ สอดแทรกอยู่พร้อมภาพประกอบในตำราเล่มนี้ เพื่อให้จักษุแพทย์ที่มีความสนใจในการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา ได้เรียนรู้และศึกษารายละเอียดที่มีความสำคัญในการผ่าตัดได้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและผ่าตัดแก้ไขอย่างถูกวิธี ส่งผลให้การผ่าตัดแก้ไขโรคตาเหล่ประสบความสำเร็จในอัตราที่สูงขึ้น ลดการผ่าตัดซ้ำ  


“อยากให้ตำราเล่มนี้ ทำให้จักษุแพทย์ ที่อาจยังไม่มั่นใจในการผ่าตัดกล้ามเนื้อตาให้แก่ผู้ป่วย ได้มีความรู้ ความมั่นใจมากยิ่งขึ้น เพื่อการผ่าตัดที่มีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จในอัตราที่สูงขึ้น”


รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงอาภัทรสา เล็กสกุล กล่าวเพิ่มเติมว่า ความยากของการแต่งตำราเล่มนี้ คือ การเรียบเรียงให้ทฤษฎีและประสบการณ์ที่อาจจะมีความแตกต่างให้เข้าใจได้ง่าย การเก็บรวบรวมภาพถ่ายผู้ป่วยตาเหล่ในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบางรูปแบบพบเจอน้อย ต้องใช้เวลาในการรอคอย และต้องคัดเลือกผู้ป่วยให้เหมาะสมในการนำเสนอ โดยใช้เวลาในการเขียน เรียบเรียง รวมทั้งใส่ภาพประกอบประมาณ 6 เดือน และใช้เวลาในการตรวจสอบแก้ไขจากผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งจัดทำรูปเล่มอีก 6 เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์


รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 ประเภทดีเด่นเฉพาะทาง สาขาการแต่งตำรา ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มาก รู้สึกเป็นเกียรติกับตนเองและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง เป็นรางวัลที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับอาจารย์ทั้งหลายในการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ออกมาเป็นตำราให้ดีที่สุด ทั้งนี้ต้องขอขอบพระคุณคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ประสิทธิ์ประสาทวิชาแพทย์ให้กับตนเอง ตั้งแต่เป็นนักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้านจักษุวิทยา และหลังจากได้รับเลือกให้เป็นอาจารย์แพทย์ ได้มีโอกาสทำการตรวจรักษาและผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยโรคตาเหล่เป็นจำนวนมาก สามารถนำเอาประสบการณ์มาแต่งตำราจนได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้


สุดท้ายนี้ ขอขอบพระคุณ “โครงการตำรารามาธิบดี” ที่ให้คำแนะนำและช่วยปรับปรุงแก้ไขตำราเล่มนี้ จนเสร็จสมบูรณ์และได้รับรางวัลในที่สุด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าตำราเล่มนี้จะมีประโยชน์ต่อวงการจักษุแพทย์ ในการเพิ่มพูนศักยภาพในการผ่าตัดกล้ามเนื้อตา และประสบความสำเร็จในการผ่าตัดรักษาให้แก่ผู้ป่วยโรคตาเหล่