“ครูแพทย์ต้นแบบด้านเจตคติและจริยธรรม สอนแพทย์ผ่านการปฏิบัติงานจริง” ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ ผู้ได้รับ รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาความเป็นครู

www.medi.co.th

“การที่ได้เห็นลูกศิษย์เติบโต จากการที่ไม่รู้ทำไม่ได้ สามารถเป็นผู้รู้และทำได้อย่างสง่าผ่าเผย จนกระทั่งจบเป็นบัณฑิตของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งนี้คือ “รางวัลของความเป็นครู”


ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นครูแพทย์ที่มีความทุ่มเททั้งทางด้านการสอน มีความเชี่ยวชาญในด้านกุมารเวชศาสตร์ สอนนักศึกษาแพทย์ทั้งระดับปริญญาตรี แพทย์ประจำบ้าน และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นการเป็นครูของศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ ได้รับโอกาสจากอาจารย์อาวุโสให้เข้ามาดูแลด้านการศึกษา ทำให้เห็นถึงปัญหาด้านการศึกษา จากการได้รับมอบหมายให้สอนเกี่ยวกับปัญหาเกลือแร่ สารน้ำและโรคไตในเด็ก นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับนักศึกษา และมีความคิดที่ว่าทำอย่างไรให้นักศึกษาเข้าใจในบทเรียนที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ดังคำพระราชปณิธานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ท่านกล่าวว่า ความสำเร็จ คือ การนำความรู้ไปประยุกต์ เพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ หมายความว่า การสอนแบบความรู้อย่างเดียวไม่พอ เป้าหมายของครู คือ ต้องสอนให้นักศึกษาสามารถประยุกต์ความรู้ของเขาเพื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยได้ ด้วยวิธีการสอนโดยนำเคสกรณีศึกษาของผู้ป่วยที่เป็นเคสจริงมาทำการสอน เริ่มจากการสอนทฤษฎีให้เข้าใจ และการประยุกต์ความรู้กับเคสกรณีศึกษามาให้นักศึกษาเห็น จากนั้น มีการอภิปรายร่วมกัน ทำให้ครูผู้สอนรู้ว่านักศึกษาเข้าใจความรู้นั้นหรือไม่ สามารถนำมาประยุกต์เข้ากับปัญหาของผู้ป่วยได้หรือไม่ อีกทั้ง ผู้สอนยังได้พัฒนาตนเองไปด้วยซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ การสอนด้วยวิธีทำให้นักศึกษาดูและเรียนรู้ในการทำเวชปฏิบัติของครู คือการทำให้ดูว่าครูไม่เพียงแต่รักษาผู้ป่วยทางร่างกาย แต่ต้องมีความเห็นอกเห็นใจผู้ป่วยร่วมด้วย ให้เขาเห็นในอีกมิติหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่มิติการเจ็บป่วยทางร่างกายเพียงอย่างเดียว แค่ผู้ป่วยมีความเจ็บป่วยทางร่างกายก็มีความทุกข์ทางใจอยู่แล้ว ต้องแสดงให้ลูกศิษย์เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่แค่รักษาโรค แต่ต้องดูแลภาวะทางจิตใจของผู้ป่วยด้วย นั่นคือการดูแลผู้ป่วยอย่างองค์รวมนั่นเอง

ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ ได้ริเริ่มและพัฒนานวัตกรรม App Logbook เพื่อนำมาใช้กับนักศึกษาแพทย์ ในรายวิชากุมารเวชศาสตร์ทั้ง 3 ชั้นปี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 จนถึงปัจจุบัน และขยายผลไปใช้ยังโรงพยาบาลสมทบทั้ง 4 แห่ง ทำให้อาจารย์ประจำชั้นและทีมการศึกษาสามารถกำกับดูแล ติดตามการเรียนรู้ของนักศึกษาแบบ real time สามารถช่วยเหลือให้นักศึกษาปฏิบัติหัตถการ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ครบถ้วนก่อนสิ้นสุดรายวิชา โดยนวัตกรรม App Logbook ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การพัฒนาเครื่องมือการสอนต่าง ๆ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้นักศึกษาเป็นแพทย์ที่ดีที่เก่ง จึงเป็นที่มาของการสร้างกรณีศึกษาที่ให้นักศึกษาสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และเป็นการสร้างเครื่องมือให้อาจารย์ท่านอื่นสามารถนำมาใช้ในการสอนได้อีกด้วย โดยได้ทำกรณีศึกษาไว้ประมาณ 20-30 กรณีศึกษา สามารถให้นักศึกษาได้เห็นโรคในผู้ป่วยกว้างขึ้น ในอนาคตอาจมีการพัฒนาแอปพลิเคชันอื่น ๆ ใช้งานผ่านสมาร์ทโฟนเพื่อรองรับการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีในยุคปัจจุบัน ร่วมกับทีมงานในการพัฒนาสื่อการสอน
ครูแพทย์มีส่วนในการสร้างครูแพทย์ที่ดี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง หม่อมราชวงศ์จันทร์นิวัทธ์ เกษมสันต์ เป็นครูผู้ใหญ่ที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้ ทำให้มีโอกาสได้เรียนรู้วิธีการสอน รวมถึงเทคนิคการประเมินผลด้านต่าง ๆ การสอนลูกศิษย์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องประเมินจุดแข็งของเขาได้ ลูกศิษย์มีจุดแข็งอะไร เสริมอะไรให้มีความโดดเด่น หรือมีจุดอ่อนอะไรที่ครูต้องช่วยแก้ไข เริ่มต้นจากภาพเล็กให้เห็นภาพใหญ่ สอนจากการปฏิบัติจริง ทำให้เห็นว่าการดูแลผู้ป่วยสามารถต่อยอดไปสู่การทำงานวิจัยได้ ทำให้ลูกศิษย์มองเห็นว่าการที่จะปฏิบัติหน้าที่ ต้องวิเคราะห์สิ่งที่เราทำอยู่ เพื่อดูว่าส่วนไหนพอที่จะปรับปรุงได้ ในด้านคุณธรรม และจริยธรรม “ครูต้องทำให้ลูกศิษย์เห็นว่าครูมีเมตตาต่อผู้ป่วยอย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในตำรา ต้องใช้ทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ” “ทำให้ผู้ป่วยและญาติรู้สึกว่าเรามีความเห็นอกเห็นใจ รู้สึกว่าพวกเขาโชคดีที่ได้มารักษากับเรา”
บทบาทของความเป็นครูแพทย์และนักวิจัย การทำสองสิ่งพร้อมกันไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างองค์ความรู้ใหม่ การวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการพัฒนา และการมีทีมร่วมวิจัยเป็นสิ่งสำคัญในการทำวิจัย ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก หากไม่มีทีมก็ไม่สามารถผลิตงานวิจัยที่กว้างได้ โดยได้รับการผลักดันจาก ศาสตราจารย์แพทย์หญิง อำไพวรรณ จวนสัมฤทธิ์ ในการได้รับโอกาสทำงานในระดับชาติและนานาชาติ ได้ผลิตผลงานที่เกี่ยวกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และทางคลินิกที่เกี่ยวข้องกับไข้เลือดออก นอกจากนี้ยังได้ทำงานวิจัยเชิงคลินิก ด้านโรคไตในเด็ก และโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) การรักษาด้วยการบำบัดทดแทนไตและปลูกถ่ายไตในเด็กโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยได้ร่วมงานกับ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง โดยนำนวัตกรรมการปลูกถ่ายเซลล์เม็ดเลือดต้นกำเนิดมาทำร่วมกับการปลูกถ่ายไต ทำให้ผู้ป่วยสามารถหยุดยากดภูมิต้านทาน และมีไตใหม่ที่ทำงานได้ยืนยาว เป็นสิ่งที่ทำให้มีภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก การพัฒนาตนเองให้มีความเชี่ยวชาญมากยิ่งขึ้น ทำให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ดีขึ้น และด้วยทีมงานที่มีความหลากหลายสาขาทำให้เห็นมุมมองได้กว้างขึ้น
หลักแนวคิดในการทำงาน คือ มีความรักในงานที่ทำ พัฒนาตนเองให้เก่งในงาน ไม่หยุดที่จะเรียนรู้ วิเคราะห์อยู่ตลอดเวลาว่าเราทำถูกหรือไม่ ประการแรกเป็นเรื่องของงาน ส่วนประการที่สอง คือ การทำงานร่วมกับบุคคลอื่นต้องใช้ใจในการทำงาน ดังคำขวัญของมหาวิทยาลัยมหิดล “อัตตานัง อุปมัง กเร” หรือ พึงปฏิบัติต่อผู้อื่น เหมือนปฏิบัติต่อตัวเอง นั่นคือ “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ทำให้เกิดกัลยาณมิตร ในเรื่องของการสอนลูกศิษย์ใช้หลักปรัชญาพระราชปณิธาณของ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ครูมักจะบอกกับลูกศิษย์เสมอว่า ความสำเร็จคือการนำความรู้ไปประยุกต์แล้วผู้ป่วยได้ประโยชน์ ที่สำคัญต้องมีการ feedback ลูกศิษย์ ด้วยการแจ้งให้เขารู้ว่าเขาเป็นอย่างไร มีจุดด้อยอะไรที่ควรพัฒนา การให้ข้อมูลป้อนกลับนั้น ต้องมีทักษะ อาศัยเทคนิคการสอน ต้องบอกถึงข้อดีและข้อเสีย เพื่อเป็นการชี้แนวทางในการพัฒนา บอกวิธีแก้ไข และหมั่นติดตามลูกศิษย์ว่ามีการพัฒนาหรือไม่ ติดตามว่าลูกศิษย์ได้เรียนรู้อะไรบ้าง โดยมีการประเมินเป็นระยะ เพื่อให้ทราบถึงความคิดเห็นและความต้องการของนักศึกษา
โลกทุกวันนี้มีความก้าวหน้าไปอย่างมาก ครูผู้สอนต้องเปิดใจพูดคุยกับผู้เรียน การรับฟังเป็นสิ่งที่ดี ผู้เรียนมักจะคิดว่าครูผู้สอนรู้มากกว่า ผู้สอนต้องแสดงตนว่าครูไม่ได้รู้ไปทั้งหมด และแนะนำข้อมูลที่ถูกต้องให้เขา ชื่นชมเมื่อเขาทำได้ดี บางอย่างยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ ก็เสนอแนวคิดและแนวทางการสังเคราะห์หลักฐาน ในบางครั้งต้องอาศัยประสบการณ์ของผู้อาวุโส ต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เป็น และใช้หลักฐานเชิงประจักษ์นั้นเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยต่อไป
ครูผู้สอนด้วยหัวใจ ศาสตราจารย์คลินิก แพทย์หญิงกาญจนา ตั้งนรารัชชกิจ กล่าวว่า ในความเป็นครูแพทย์ นั้นทำให้ได้รับรางวัลในทุก ๆ วัน “รางวัลของความเป็นหมอ คือได้เห็นคนไข้หายป่วย ได้เห็นครอบครัวคนไข้ที่มีความทุกข์มา และเขายิ้มกลับไป” “การที่ได้เห็นลูกศิษย์เติบโต จากการที่ไม่รู้ทำไม่ได้ สามารถเป็นผู้รู้และทำได้อย่างสง่าผ่าเผย” จนกระทั่งจบเป็นบัณฑิตที่ดีของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล สิ่งนี้คือ “รางวัลของความเป็นครู” สำหรับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2565 สาขาความเป็นครู เป็นเหมือนสิ่งที่ให้ครูรู้สึกว่า ตลอดระยะเวลาในการทำงาน มีคนเห็น รับรู้ในการทุ่มเทการทำงานในด้านความเป็นครูของเรา อีกทั้ง ยังเป็นรางวัลอันทรงคุณค่า เพราะเป็นรางวัลของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ตนเองรักและเทิดทูน การได้สร้างลูกศิษย์แพทย์จำนวนมากเพื่อออกไปรับใช้สังคม นับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก