ปวดคอ…ทำยังไงดี จะอันตรายมากไหม?

www.medi.co.th



สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ แนะปวดกระดูกคอ ปวดบ่า ปวดไหล่ ร้าวลงไปที่แขน มีอาการชาและอ่อนแรง บางรายเป็นมากพึงระวัง เพราะอาการเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม กดทับเส้นประสาท หรือไขสันหลังได้


นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลัง เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกสันหลัง หรือมีการฉีกขาดของเยื่อหุ้มหมอนรองกระดูกสันหลังส่วนคอ อาจเกิดจากอุบัติเหตุ การขยับคอผิดจังหวะอย่างรวดเร็วและรุนแรง ซึ่งส่งผลให้ชิ้นส่วนของหมอนรองกระดูกสันหลังบางส่วนเคลื่อนหลุดออกมากดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังได้ โดยแบ่งอาการได้เป็น 2 กลุ่ม 1. อาการของการกดทับเส้นประสาท ผู้ป่วยจะมีอาการ ปวดต้นคอ ร้าวไปตามต้นแขน แขนหรือมือตามตำแหน่งที่เส้นประสาทเส้นใดถูกกด ผู้ป่วยที่มีอาการมากขึ้นอาจมีอาการอ่อนแรงแขนหรือมือได้ 2. อาการของการกดไขสันหลัง ผู้ป่วยจะมีอาการ ขาอ่อนแรง เดินลำบาก เวลาเดินจะมีอาการขาตึง ๆ ชาตามลำตัว และลามไปถึงขาทั้ง 2 ข้างได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการมืออ่อนแรงร่วมด้วย โดยที่ไม่มีอาการปวดตามขาหรือแขนที่อ่อนแรง ส่วนอาการปวดคออาจจะมีหรือไม่มีก็ได้

  นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาจะเริ่มจากการให้ผู้ป่วยรับประทานยาแก้ปวด แก้อักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด การปรับพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ในผู้ป่วยบางรายที่ปวดมากอาจจำเป็นต้องใช้เฝือกอ่อนพยุงคอ (soft collar) เพื่อช่วยลดการขยับคอ ซึ่งทำให้หายปวดได้เร็วขึ้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นมากหรือหายได้ แต่ถ้าหากอาการปวดยังไม่หายหลังจากการรักษา 6-8 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยเริ่มมีอาการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขนหรือมือร่วมด้วย แพทย์จะแนะนำให้ผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังเพื่อลดการกดทับเส้นประสาท ส่วนการรักษาโรคหมอนรองกระดูกสันหลังที่คอกดทับไขสันหลัง เนื่องจากไขสันหลังที่ถูกกดเป็นเวลานานจนมีอาการอ่อนแรงของขา หรือในบางรายมีการอ่อนแรงของมือร่วมด้วย หากไม่ได้รับการผ่าตัดเพื่อเอาหมอนรองกระดูกที่กดทับ    ไขสันหลังออก ผู้ป่วยอาจมีภาวะพิการหรืออัมพาตถาวรได้ ดังนั้น ประสาทศัลยแพทย์จะแนะนำผ่าตัดเกือบทุกราย ส่วนการผ่าตัดหมอนรองกระดูกสันหลังทางด้านหน้า (ACDF) เป็นวิธีที่ประสาทศัลยแพทย์นิยมและได้ผลดีที่สุด โดยการเอาหมอนรองกระดูกที่เป็นกดทับเส้นประสาทหรือไขสันหลังออก หลังจากนั้นประสาทศัลยแพทย์จะเสริมช่องว่างที่เกิดขึ้น โดยใช้ชิ้นกระดูก   ที่ได้มาจากการตัดกระดูกบริเวณสะโพกของผู้ป่วย หรือใช้วัสดุค้ำแทนที่หมอนรองกระดูก เพื่อเชื่อมกระดูกชิ้นบนและล่างให้กลายเป็นกระดูกชิ้นเดียวกัน ในกรณีที่มีปัญหาหลายระดับและจำเป็นต้องผ่าตัดมากกว่า 1-2 ช่อง จะมีการยึดบริเวณด้านหน้ากระดูกสันหลังด้วยแผ่นโลหะและสกรู เพื่อป้องกันไม่ให้วัสดุที่ใส่ไว้แต่ละช่องเกิดการเลื่อนหลุดออกมาหลังการผ่าตัด วัสดุที่ใส่ไว้ในแต่ละระดับจะใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 2-3 เดือน เพื่อเชื่อมต่อเป็นข้อเดียวกัน ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัสดุที่ใช้ค้ำบริเวณช่องว่างกระดูกสันหลัง ด้วยวัสดุที่เลียนแบบธรรมชาติของหมอนรองกระดูกที่สามารถทำให้ขยับก้มเงย หมุนคอ และเอียงคอได้เหมือนธรรมชาติ เรียกว่า หมอนรองกระดูกเทียม (artificial disc replacement) ซึ่งประสาทศัลยแพทย์ ในประเทศไทยได้ทำการรักษามานานกว่า 10 ปี แต่ด้วยวัสดุมีราคาแพงจึงยังไม่เป็นที่นิยม