สถานการณ์ไข้เลือดออกในประเทศไทยมีการระบาดหนักที่สุดในรอบ 5 ปี รวมยอดผู้ป่วยสะสมแล้วกว่า 1.1 แสนราย และผู้เสียชีวิตอีกกว่า 100 รายแถมมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มวัย ตั้งแต่เด็กวัยเรียนไปจนถึงวัยทำงาน กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร ทาเคดา ประเทศไทย และพันธมิตรความร่วมมือ Dengue-zero จึงเนรมิตพื้นที่โซน Central Court ชั้น 1 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ จัดงาน “ส่งต่อความหวังจากอิงมา ชวนคนไทย ปักหมุด หยุดไข้เลือดออก” เพื่อเป็นความหวังใหม่ในการต่อสู้กับโรคไข้เลือดออกด้วยมาตรการ การเฝ้าระวัง การควบคุมจำนวนลูกน้ำยุงลายเพื่อไม่ให้แพร่พันธุ์ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคไข้เลือดออกด้วยการฉีดวัคซีน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อร่วมถ่ายทอดความรู้บนเวทีเสวนา “ส่งต่อความหวังใหม่เพื่อปกป้องสังคมไทยจากไข้เลือดออก” เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้คนไทยปลอดภัยจากไข้เลือดออก
ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และโรคไข้หวัดใหญ่ ศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่คุ้นเคยกับโรคติดเชื้อในเด็กเป็นอย่างดี เผยถึงวิธีการสังเกตอาการโรคไข้เลือดออก คือ จะมีไข้สูงลอย กินยาลดไข้แต่ไม่ค่อยได้ผล โดยอาการช่วงแรกของการติดเชื้อ อาจมีอาการใกล้เคียงกับโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ แต่สำหรับผู้ที่เป็นไข้เลือดออกจะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารที่เด่นกว่า เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือปวดท้อง เป็นต้น
“ไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกคน รวมถึงคนที่มีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การติดตามอาการ ถ้ามีอาการเลือดออกที่ไม่ใช่ตามผิวหนัง เช่น เลือดกำเดาไหลหรืออาเจียนเป็นเลือด ถือเป็นสัญญาณที่อันตราย ส่วนถ้าใครอาเจียนหรือปวดท้องมากขี้นเรื่อย ๆ เป็นสัญญาณที่บอกว่าไข้เลือดออกมีโอกาสที่จะรุนแรง และควรไปพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด” ศ. นพ.ชิษณุ กล่าวเสริม
ความเชื่อที่ว่า “ไข้เลือดออกเป็นโรคของเด็ก” ไม่สะท้อนความเป็นจริง เนื่องจากไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยในปัจจุบันมีกลุ่มเด็กโต วัยรุ่น ไปจนถึงคนวัยทำงานติดเชื้อไข้เลือดออกเพิ่มมากขึ้น ทางด้านศ. พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อในผู้ใหญ่ กล่าวว่า “กลุ่มผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไข้เลือดออกแม้จะมีอาการที่คล้ายกับเด็กแต่ส่วนใหญ่จะมีปัจจัยความเสี่ยงด้านโรคประจำตัวเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่น บางคนอาจเป็นโรคไต โรคเบาหวาน หรือโรคหัวใจ ที่ส่งผลให้อาการไข้เลือดออกรุนแรงมากขึ้น รวมไปถึงจะทำให้การรักษาไข้เลือดออกยุ่งยากมากขึ้นไปด้วย อย่างเช่นการให้น้ำเกลือให้ผู้ป่วย บางคนเป็นโรคไต ให้น้ำเกลือมากไปไม่ได้เพราะเสี่ยงน้ำเกินหรือหัวใจวาย เพราะฉะนั้นกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีโรคร่วมจึงมีความเสี่ยงเป็นไข้เลือดออกรุนแรงสูงกว่า”
เนื่องจากไข้เลือดออกเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus) ที่มีมากถึง 4 สายพันธุ์ คนที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกมาแล้วมีโอกาสเป็นซ้ำได้อีก ดังนั้น ประชาชนควรหมั่นปฏิบัติตามมาตรการในการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด เช่น ปิดภาชนะเก็บกักน้ำให้มิดชิด ป้องกันยุงลายวางไข่ เปลี่ยนน้ำในภาชนะอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปล่อยปลากินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำ และปรับปรุงสิ่งแวดล้อมรอบข้างให้ปลอดโปร่ง ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการฉีดวัคซีนเพื่อลดอาการรุนแรงของโรค และการนอนโรงพยาบาลได้ร้อยละ 80-90* อีกทั้งยังสามารถป้องกันไข้เลือดออกได้ถึง 4 สายพันธุ์ โดยสามารถปรึกษาแพทย์หรือสถานพยาบาลใกล้ท่านเพื่อขอรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนไข้เลือดออก
*คำแนะนำการให้วัคซีนป้องกันโรคสำหรับผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2566