ศาสตราจารย์นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ประสิทธิ์ วัฒนาภา ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลงผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 32 ประจำปี 2566 ณ ห้องสมเด็จพระบรมราชชนก ตึกสยามินทร์ ชั้น 2 โรงพยาบาลศิริราช
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศาสตราจารย์ นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา / อิตาลี
สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) จาก สหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ มีผู้ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ทั้งสิ้น 92 ราย จาก 31 ประเทศ คณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิชาการได้พิจารณากลั่นกรอง และคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ ได้พิจารณาจากผู้ได้รับการเสนอชื่อรวม 3 ปี คือ ปี 2565, 2564, 2563 และนำเสนอต่อคณะกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นประธาน พิจารณาตัดสินเป็นขั้นสุดท้ายเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566
โดยระยะเวลา 31 ปี ที่ผ่านมา มีบุคคลหรือองค์กรได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลรวม 94 รายเป็นคนไทย 4 ราย ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสงค์ ตู้จินดา จากการศึกษาผลกระทบของเชื้อไวรัสเด็งกี่ ต่อความพิการของร่างกายเด็กที่ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก รับร่วมกับศาสตราจารย์แพทย์หญิงสุจิตรา นิมมานนิตย์ จากการจำแนกความรุนแรงของโรคไข้เลือดออก ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการแพทย์ ประจำปี 2539 และนายแพทย์วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้ริเริ่มโครงการส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัย 100% ช่วยป้องกันการแพร่กระจายของโรคเอดส์รับร่วมกับนายมีชัย วีระไวทยะ ผู้ริเริ่มวิธีการสื่อสารรณรงค์เผยแพร่การใช้ถุงยางอนามัย ได้รับพระราชทานรางวัลในสาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2552
และมีผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลจำนวน 6 ราย ซึ่งต่อมาได้รับรางวัลโนเบลจากผลงานเดียวกัน ได้แก่
1. ศาสตราจารย์แบรี่ เจมส์ มาแชล จากประเทศออสเตรเลีย ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2544 จากการค้นพบเชื้อแบคทีเรีย เฮลิโคแบคเตอร์ ไพลอรี่ เป็นสาเหตุของโรคแผลในกระเพาะอาหาร ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2548
2. ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น จากสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ ประจำปี 2551
3. ศาสตราจารย์ซาโตชิ โอมูระ จากประเทศญี่ปุ่น ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2540จากผลงานการศึกษาวิจัยจุลชีพชนิด สเตรฟโตมัยซีส เอเวอร์มิติลิต จนสามารถสังเคราะห์ยา ivermectin เพื่อใช้รักษาและป้องกันโรคตาบอดจากพยาธิและโรคเท้าช้าง ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558
4. ศาสตราจารย์ตู โยวโยว จากสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นสมาชิกของกลุ่ม china cooperative research group on qinghaosu and its derivatives as antimalarials ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2546 จากการศึกษาสารสกัดชิงเฮาซูจนสามารถพัฒนาเป็นยารักษาโรคมาลาเรีย ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2558
5. เซอร์เกรกอรี พอล วินเทอร์ จากสหราชอาณาจักร ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2559 จากการพัฒนาเทคโนโลยีในการสร้าง และดัดแปลงโมเลกุลของแอนติบอดีให้มีประสิทธิภาพสูงและลดความเป็นสิ่งแปลกปลอม (Antibody Humanization) นำไปสู่ความก้าวหน้าในการพัฒนายากลุ่มใหม่ จากชีวโมเลกุลซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการรักษาโรค ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2561
6. ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก และศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ดรู ไวส์แมน จากสหรัฐอเมริกา ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2564 จากการศึกษาวิจัยวัคซีน โควิด-19 ชนิด เมสเซนเจอร์อาร์เอนเอ ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วตอบสนองกับการระบาด ทำให้สามารถลดการติดเชื้อและการเจ็บป่วยรุนแรง อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัย และชีวิตผู้ป่วยหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ต่อมาได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ประจำปี 2566
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 มกราคม 2535 ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเป็นองค์ประธาน มอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลกที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัลและด้านการสาธารณสุข 1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา แต่ละรางวัลประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญสหรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566 ในวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2567 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยในวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2567 คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับ ด้วย
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
สาขาการแพทย์
ศาสตราจารย์นายแพทย์ นาโปเลโอเน เฟอร์รารา (Napoleone Ferrara, M.D.)
ศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา
รองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกา / อิตาลี
ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยคาตาเนีย ประเทศอิตาลี หลังจากนั้นฝึกอบรมหลักสูตรหลังปริญญาเอกด้านวิทยาต่อมไร้ท่อระบบสืบพันธุ์ และด้านการวิจัยโรคมะเร็ง ณ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ปัจจุบันดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์พิศิษฐ์ ภาควิชาจักษุวิทยาและพยาธิวิทยา และรองผู้อำนวยการอาวุโสด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ศูนย์มะเร็งมัวรส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแซนดิเอโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ.2532 ขณะทำงานที่บริษัท เจเนนเทค ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ได้ค้นพบและสกัดโปรตีนที่เร่งการเจริญเติบโตของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด หรือโปรตีนวีอีจีเอฟ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นสารกระตุ้นการแบ่งตัวของเซลล์เยื่อบุผนังหลอดเลือด ศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์ราราได้ทำการศึกษาทั้งในด้านชีวเคมีและชีววิทยาโมเลกุลของโปรตีนวีอีจีเอฟ รวมถึงตัวรับโปรตีนวีอีจีเอฟชนิดต่าง ๆ และกลไกในการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ทั้งในภาวะปกติ และภาวะที่เกิดพยาธิสภาพ ที่สำคัญคือโรคมะเร็งบางชนิด และโรคศูนย์กลางจอตาเสื่อมจากอายุ หรือโรคเอเอ็มดี
ผลการศึกษาดังกล่าวของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา นำไปสู่การพัฒนายาชนิดแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟ ได้แก่ ยาบีวาซิซูแมบ (เอวาสติน) ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่มีความรุนแรงร่วมกับมีการสร้างหลอดเลือดอย่างหนาแน่น ได้แก่ มะเร็งสมอง มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ และมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ผลงานของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา ยังได้เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยสูงอายุที่เป็นโรคเอเอ็มดี ด้วยผลิตภัณฑ์ยาที่มีองค์ประกอบหลักเป็นส่วนของแอนติบอดี และมีฤทธิ์ต้านการทำงานของโปรตีนวีอีจีเอฟ คือ ยารานิบิซูแมบ (ลูเซนติส) อีกด้วย
ผลสำเร็จจากการศึกษาค้นคว้าของศาสตราจารย์นายแพทย์นาโปเลโอเน เฟอร์รารา เกี่ยวกับโปรตีน วีอีจีเอฟ และการรักษาด้วยยาแอนติบอดีต่อโปรตีนวีอีจีเอฟได้ถูกนำไปใช้อย่างกว้างขวาง ในผู้ป่วยโรคมะเร็ง และโรคตา เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพอนามัยของผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลก
ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2566
สาขาการสาธารณสุข
ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.)
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สาขากุมารเวชศาสตร์ และเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค (Barry H. Rumack, M.D.) สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์และสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา ฝึกอบรมเป็นแพทย์ประจำบ้านกุมารเวชศาสตร์ และแพทย์ประจำบ้านต่อยอดที่ศูนย์พิษวิทยา มหาวิทยาลัยโคโลราโด สหรัฐอเมริกา
ในปี พ.ศ. 2516 ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ได้ฝึกงานเพิ่มเติมกับ นายแพทย์เฮนรี แมทธิว (Henry Matthew M.D.) ที่โรงพยาบาลรอยัลแห่งเอดินบะระในสกอตแลนด์ ช่วงเวลานี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค เริ่มมีความสนใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับเภสัชวิทยาและพิษวิทยาของยาพาราเซตามอล ซึ่งใช้กันอย่างแพร่หลาย ภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเป็นสาเหตุของภาวะตับวายเฉียบพลันร้อยละ 40-70 ของผู้ป่วยทั่วโลก ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ได้รวบรวมกรณีผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเกินขนาด 34 กรณี รวมกับกรณีที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ก่อนหน้านั้น 30 กรณี นำมาใช้เป็นข้อมูลสร้างเป็นภาพกราฟ ประดิษฐ์เป็นเครื่องมือประเมินความเสี่ยงและวินิจฉัยผู้ป่วยภาวะพิษจากยาพาราเซตามอลเฉียบพลันที่เรียกว่า Rumack–Matthew Nomogram ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2518
รูแมค - แมทธิว โนโมแกรม เป็นเครื่องมือที่มีชื่อเสียงมากในวงการแพทย์ทั่วโลก เป็นภาพกราฟแสดงระดับความเข้มข้นของยาพาราเซตามอลในเลือดและระยะเวลาหลังการกินยาเกินขนาด และบ่งชี้ถึงความเสี่ยงต่อภาวะเป็นพิษต่อตับในผู้ป่วยแต่ละราย เครื่องมือนี้ช่วยให้แพทย์ทั่วโลกวินิจฉัยและรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอลเกินขนาดแบบเฉียบพลันได้อย่างเหมาะสม และเป็นส่วนสำคัญของแนวทางการรักษาซึ่งกลายเป็นมาตรฐานสากลในการรักษาภาวะพิษจากพาราเซตามอล การประยุกต์ใช้เครืองมือนี้ร่วมกับประสิทธิภาพของยาเอ็น อะซิติลซิสเตอีน (N-acetylcysteine) ที่ใช้เป็นยาต้านพิษช่วยลดภาวะตับอักเสบชนิดรุนแรงจากพาราเซตามอลลงอย่างมากจากอุบัติการณ์ 54% เหลือเกือบ 0% และแนวทางการรักษานี้ยังคงใช้ในห้องฉุกเฉินทั่วโลกในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ยังเป็นผู้พัฒนาและบุกเบิกการใช้ Poisindex ซึ่งเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลทางด้านพิษวิทยาคลินิก และเป็นฐานข้อมูลมาตรฐานที่ใช้อ้างอิงในการรักษาผู้ป่วยด้วยข้อมูลที่แม่นยำและทันสมัยในโรงพยาบาลและศูนย์พิษวิทยาทั่วโลก อีกด้วย นับได้ว่า ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค เป็นผู้ที่มีคุณูปการในสาขาพิษวิทยาทางการแพทย์ ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา การทำงานวิจัยทางด้านภาวะพิษของพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบัน เป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วย ความมุ่งมั่นในฐานะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ของ ศาสตราจารย์นายแพทย์แบร์รี่ เอช. รูแมค ได้ทำให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปประยุกต์ใช้ช่วยชีวิตผู้ป่วยจำนวนนับล้านคนทั่วโลก เป็นแบบอย่างและแรงบันดาลใจให้แพทย์และบุคลากรด้านสาธารณสุขในการปฏิบัติงานศึกษาและค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ อย่างไม่หยุดยั้ง