นพ.จอส ฟอนเดลาร์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “การจัดงานนิทรรศการครบรอบ 10 ปีเครือข่ายลดบริโภคเค็ม” ว่า โซเดียมเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย แต่โดยส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้รับโซเดียมมากเกินความจำเป็น เนื่องจากโซเดียมนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติในวัตถุดิบอาหารที่เรารับประทาน และการเติมโซเดียมเพิ่มเข้าไประหว่างกระบวนการผลิตอาหารสำเร็จรูป และการปรุงอาหารที่บ้านและร้านอาหาร รวมถึงการปรุงรสเพิ่มบนโต๊ะขณะรับประทาน เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ประชากรไทยบริโภคโซเดียมเกินความต้องการในแต่ละวัน ปัจจุบันคนไทยบริโภคโซเดียมเฉลี่ยที่ 3.6 กรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำที่ 2 กรัมต่อวัน ทั้งนี้ การบริโภคโซเดียมมากเกินนั้นก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ โดยจะส่งผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต เป็นต้น
การดำเนินมาตรการเพื่อลดการบริโภคโซเดียมของประชากรนั้นเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมสุขภาพของประชากร และลดความสูญเสียจากการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต ฯลฯ ซึ่งหนึ่งในภาคีหลักที่สำคัญในการดำเนินงานเพื่อลดการบริโภคเกลือและโซเดียมในประชากรไทยลง ร้อยละ 30 ภายในปี 2568 คือ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งดำเนินการครบรอบ 10 ปี ในปีนี้
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ภายใต้การนำของ รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม ซึ่งดำเนินงานและสร้างความร่วมมืออย่างเข้มแข็งกับภาคีเครือข่าย ซึ่งรวมถึงกระทรวงสาธารณสุข สสส. กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย ราชวิทยาลัย หน่วยงานวิชาชีพสาธารณสุข และหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการขับเคลื่อนนโยบาย มาตรการ และโครงการวิจัยต่าง ๆ เพื่อการลดบริโภคโซเดียมของประชากรไทยให้ได้ตามเป้าหมายของประเทศร่วมกัน
การทำงานของเครือข่ายลดบริโภคเค็มและหน่วยงานภาคีในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก่อให้เกิดผลสำเร็จมากมายในการลดบริโภคโซเดียมในประเทศไทย ยกตัวอย่าง เช่น การสนับสนุนการพัฒนาและดำเนินงานแผนยุทธศาสตร์ชาติเพื่อการลดบริโภคเกลือและโซเดียม ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดลในการพัฒนาเครื่องมือวัดความเค็ม (Salt meter) การพัฒนาสูตรอาหารลดโซเดียม การสร้างเครือข่ายร้านอาหารลดเค็มทั่วประเทศ งานวิจัยอาหารลดโซเดียมและการสำรวจปริมาณโซเดียมในอาหารและการบริโภคโซเดียมระดับประเทศ การผลิตสื่อและการรณรงค์ในทุกๆ ช่องทางเพื่อสร้างความตระหนักของประชาชนเรื่องการบริโภคโซเดียม นอกจากนั้นยังรวมถึงความร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการพัฒนานโยบาย มาตรการและโครงการต่างๆ เช่น โรงพบาบาลลดเค็ม ชุมชมลดเค็ม ภาษีอาหารโซเดียมสูง ร้านอาหารลดเค็ม เป็นต้น
นพ.จอส ฟอนเดลาร์ กล่าวส่งท้ายว่า ความสำเร็จของความร่วมมือของภาคีเครือข่ายลดบริโภคเค็มนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลดีต่อประชาชนไทย แต่ยังเป็นตัวอย่างและบทเรียนอันมีค่าแก่ประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกๆ ภาคส่วนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการลดบริโภคโซเดียมของประชากรไทยให้ได้ตามเป้าหมาย ร้อยละ 30 ในปี 2568 และช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนไทยให้ปลอดภัยจากโรคไม่ติดต่อ