เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 นายแพทย์พงศธร พอกเพิ่มดี รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรมการอำนวยการ โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติฯครั้งที่ 1/2566 ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ประเด็นที่ 1 โครงการเฉลิมพระเกียรติ/โครงการพระราชดำริ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2566 กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย ร่วมกับกรมการแพทย์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และมูลนิธิทันตนวัตกรรมในพระบรมราชูปถัมภ์ดำเนินโครงการรากฟันเทียมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการฟันเทียมและรากฟันเทียมแก้ปัญหาการสูญเสียฟันทั้งปากหรือเกือบทั้งปากในกลุ่มผู้สูงอายุและก่อนวัยสูงอายุ โดยผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่าผู้ได้รับการใส่ฟันเทียม จำนวน 53,897 คนและผู้ได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 1,668 คน และขณะนี้ มีหน่วยบริการที่ให้บริการฝังรากฟันเทียมทั้งหมด 298 แห่ง มีการจัดบริการแล้ว 159 แห่ง และตั้งเป้าหมายเพื่อให้บรรลุโครงการในประจำปี 2567 ผู้ได้รับบริการใส่ฟันเทียม จำนวน 72,000 คน และผู้ได้รับบริการฝังรากฟันเทียม จำนวน 7,200 คน
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข โดยสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ ได้มีการพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ และผู้ช่วยทันตแพทย์ในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ส่วนสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกับองค์การเภสัชกรรมได้จัดซื้อรากฟันเทียมและจัดส่งจังหวัดเพื่อบริหารจัดการกระจายรากฟันเทียมในจังหวัด เพื่อใช้ในการจัดบริการ โดยรากฟันเทียมที่ใช้ในโครงการนี้เป็นรากฟันเทียมที่ผลิตในประเทศไทย รุ่น PRK ซึ่งอยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทย สำหรับการประชาสัมพันธ์ โครงการฯ กรมอนามัยและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่สื่อต่าง ๆผ่านช่องทางต่าง ๆ ของหน่วยงาน พร้อมจัดรณรงค์โครงการฯ 4 ภาค เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน” รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ว่า ในปี 2567 กรมอนามัยได้ดำเนินการพัฒนากลไกการให้บริการ ดังนี้ 1) ประสานให้ทุกจังหวัดคัดกรอง ผู้ที่ไม่มีฟันในปาก และฟันเทียมทั้งปากเดิมหลวม 2) เตรียมความพร้อมหน่วยบริการ พัฒนาศักยภาพทันตแพทย์และผู้ช่วยทันตแพทย์ในการจัดบริการ 3) ผลักดันการจัดบริการรากฟันเทียมรองรับฟันเทียมให้เป็นสิทธิประโยชน์ในกลุ่มผู้ใช้สิทธิข้าราชการ และประกันสังคมในอนาคต และ 4) สื่อสาร ประชาสัมพันธ์โครงการ รณรงค์ ให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ และจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง
“ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรากฟันเทียมรองรับฟันเทียมใน 76 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร กรมอนามัยได้นำเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้ 1) สนับสนุนการจัดบริการให้เกิดขึ้นในหน่วยบริการระดับ M2 (ขนาด 120 เตียงขึ้นไป) ขึ้นไปในทุกจังหวัด รวมทั้งติดตาม กำกับ ผ่านการติดตามนโยบายกระทรวงสาธารณสุข กลไกตรวจราชการ และคณะกรรมการการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาสุขภาพช่องปาก เพื่อให้การบริการบรรลุตามเป้าหมาย 2) เพิ่มการประชาสัมพันธ์ สื่อสาร ค้นหา คัดกรองกลุ่มเป้าหมายในชุมชน ผ่านเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ร่วมกับการใช้สื่อประชาสัมพันธ์ที่สามารถสร้างความเข้าใจแก่ผู้สูงอายุ และขอความร่วมมือกรุงเทพมหานคร เขตสุขภาพที่ 13 และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 จัดระบบเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่กรุงเทพมหานครดำเนินการค้นหา คัดกรอง เตรียมช่องปาก และส่งต่อกลุ่มเป้าหมายเพื่อรับบริการฝังรากฟันเทียม” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าว