กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข พร้อมสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เตรียมลงสอบข้อเท็จจริงจากโรงพยาบาลวิภาราม ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 หลังพบเบาะแสการปฏิเสธรักษาผู้ป่วยต่างชาติ จนเป็นเหตุให้การรักษาล่าช่าจนผู้ป่วยเสียชีวิตในเวลาต่อมา วันนี้ (12 ธันวาคม 2566)
นายแพทย์สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรม สบส. เปิดเผยว่า ตามที่มีคลิปวิดิโอปรากฏเป็นข่าวเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ที่ผ่านมา ว่าพบชาวต่างชาติหมดสติโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่บริเวณพัฒนาการ 50 ทางศูนย์วิทยุพระนคร จึงนำผู้ป่วยส่งต่อไปที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ในย่านพัฒนาการ แต่ถูกปฏิเสธ ให้ส่งตัวไปที่โรงพยาบาลรัฐแทน ดังนั้น ในวันที่ 9 ธันวาคม ตนจึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย กรม สบส. ดำเนินการตรวจสอบ โดยประสานข้อมูลจากศูนย์วิทยุพระนคร และศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่รายงานว่าได้นำผู้ป่วยชาวต่างชาติ ณ โรงพยาบาลวิภาราม แต่เจ้าหน้าที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลฯ ปฎิเสธที่จะให้บริการรักษาพยาบาลผู้ป่วย เนื่องด้วย ผู้ป่วยไม่มีญาติจึงอาจจะเบิกค่ารักษาพยาบาลไม่ได้ จึงได้มีการนำตัวผู้ป่วยส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสิรินธร และผู้ป่วยรายดังกล่าวได้เสียชีวิตในเวลาต่อมา โดยในวันที่ 10 ธันวาคม พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย ได้ดำเนินการยืนยันข้อมูลกับสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) อีกครั้ง และพบว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นความจริง จึงมีการหารือร่วมกันระหว่าง สบส.และ สพฉ.เพื่อร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงาน จะรวมกันลงพื้นที่ ณ โรงพยาบาลวิภาราม ในวันพรุ่งนี้ (13 ธันวาคม 2556) โดยจะมีการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่างๆ และสอบถ้อยคำจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลฯ ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย หากพบข้อมูลการกระทำผิด หรือพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าโรงพยาบาลวิภารามมีการปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤติจริง ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ซึ่งกำหนดให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการ หรือผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินการของสถานพยาบาลต้องควบคุมและดูแลให้มีการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วย ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลโดยฉุกเฉิน เพื่อให้ผู้ป่วยพ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพและตามประเภทของสถานพยาบาลนั้น ๆ ซึ่งผู้กระทำผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
12 ธันวาคม 2566