ความเป็นพิษ (Toxic) ในปัจจุบันที่ผู้คนในสังคมยุคใหม่กำลังเผชิญ ไม่ได้มีเพียงแค่มลภาวะทางสิ่งแวดล้อม ที่มาจากทางน้ำ ทางบก หรือทางอากาศ แต่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคม ปรากฏในรูปของอคติ เกลียดชัง ด้อยค่า ไม่ไว้วางใจ แบ่งขั้วแบ่งฝ่าย ซึ่งส่งกระทบต่อสุขภาวะทางจิตใจ
โดยจะยิ่งทวีความเป็นพิษรุนแรงจากระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน ประเทศชาติ สู่ระดับโลก หากขาดการปลูกฝัง “ความรู้เท่าทัน” (Awareness) ให้เป็น “ภูมิคุ้มกัน” ภายในจิตใจตั้งแต่วันนี้
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ผู้อำนวยการศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสาเหตุของปัญหา “Toxic ในใจ” ที่กำลังคุกคามโลกยุคปัจจุบัน เป็นผลพวงจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี ที่ทำให้การรับรู้ข้อมูลข่าวสารเป็นไปอย่างรวดเร็ว และแต่ละคนยังสามารถตอบสนอง ตอบโต้ นำเข้าข้อมูลต่างๆ ได้ด้วยตัวเองอย่างทันทีทันใด โดยเฉพาะในประเด็นที่ทำให้เกิดความไม่พอใจ ส่งผลกระทบในด้านลบตามมา ดังที่มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นอยู่เนืองๆ
สิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวนี้คือ การฝึกฝนให้ตระหนัก รู้เท่าทันอารมณ์ความคิดของตนเอง ซึ่งเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการตั้งใจ หรือกำหนดกติกากับตัวเองว่าจะไม่ตอบโต้อะไรในทันทีโดยเฉพาะเวลาที่มีความไม่พอใจ
สิ่งที่ควรฝึกบ่อยๆ อีกประการหนึ่ง คือ การยอมในสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ว่า มันเกิดขึ้นแล้ว ไม่ปฏิเสธเพราะมันปรากฏอยู่ตรงหน้า เมื่อยอมรับสิ่งที่กำลังเผชิญได้ ความคิดความรู้สึกลบจะค่อยๆ เบาบางลง ใจกลับมาเป็นปกติมั่นคงขึ้น การยอมรับไม่ได้หมายถึงการละเลย ไม่ใส่ใจ ไม่รับรู้ หรือไม่รับผิดชอบ แต่เป็นการรอให้เกิด “ความพร้อม” ที่จะ “ร่วมรับฟังเหตุและผล” เพื่อร่วมแก้ปัญหากันต่อไปด้วยสติปัญญา
สังคมจะไม่กลายเป็นพิษ หากทุกฝ่ายฝึกฝนให้มีทักษะความสามารถในการ “ยับยั้งชั่งใจ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่กำลังร้อนแรง ให้คลายตัวเย็นลงก่อนพูดคุยกันด้วยเหตุผล หากฝึกอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความรู้เท่าทันได้ในทันที มีสติพร้อมจัดการกับปัญหาต่อไปได้เร็วยิ่งขึ้น
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210