มหาวิทยาลัยมหิดล เชิดชูครูนักวิจัยผู้ขับเคลื่อนนโยบายชาติเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ รับรางวัลอาจารย์ตัวอย่าง ประจำปี 2566

www.medi.co.th

ผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติในประเทศไทยจากแต่ละประเทศ มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุก ๆ ปี โดยส่วนใหญ่เข้ามาเป็นแรงงาน ในภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม ประมง ก่อสร้าง บริการ และทำงานในบ้าน ที่ผ่านมาพบว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ เดินทางย้ายถิ่นมาจากกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน ตั้งใจทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของตนและครอบครัวให้ดียิ่งขึ้น และมีอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องอพยพออกจากบ้านเมืองของตน ด้วยเหตุผลทางการเมือง เชื้อชาติ ศาสนา หรือ สังคม ซึ่งผู้ย้ายถิ่นข้ามชาติเหล่านี้ ต้องเผชิญปัญหามากมายทั้งจากการทำงาน ค่าตอบแทน สวัสดิการ ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม การยอมรับทางสังคม และการเข้าถึงระบบดูแลสุขภาพ รวมถึงการศึกษาของเด็กซึ่งเป็นลูกหลานแรงงาน โดยที่ผู้ย้ายถิ่นข้ามชาตินี้ยังถือเป็น “กลุ่มคนที่ถูกมองข้าม” ในสังคมไทย


รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง กล่าวว่า ในฐานะนักวิจัยที่มุ่งมั่นและตั้งใจในการค้นคว้าและพัฒนางานวิจัย โดยเฉพาะในด้าน “การย้ายถิ่นของประชากร” มากว่า 30 ปี นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาด้านประชากรและสังคมของประเทศไทย และด้วยความสนใจส่วนตัว จึงได้ศึกษาและต่อยอดงานวิจัยด้านการย้ายถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ร่วมกับผู้ร่วมงาน ทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยมหิดล ในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนการวิจัยจากองค์กรทั้งในระดับชาติและนานาชาติ มากกว่า 50 เรื่อง

ผลจากงานวิจัยที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน มีส่วนช่วยในการสร้างความรู้ความเข้าใจต่อแรงงานย้ายถิ่นในสังคมไทยมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น เป็นผลให้เกิดการปรับปรุงนโยบายต่าง ๆ ในระดับภาครัฐที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม ให้ความคุ้มครองแก่แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านสิทธิที่แรงงานควรได้รับอย่างเท่าเทียม รวมทั้ง การเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ การให้สิทธิในการเข้ารับการศึกษา และการคุ้มครองแรงงานเด็ก จนท้ายที่สุดเป็นผลให้แรงงานข้ามชาติมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นตามลำดับ ในตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา

 


รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง กล่าวว่า สิ่งที่ภาคภูมิใจในฐานะนักวิจัยด้านการย้ายถิ่นข้ามชาติ คือการได้นำผลการศึกษา จากงานวิจัย “คนรับใช้ในบ้าน: แรงงานอพยพจากพม่ามาไทย” เมื่อปี พ.ศ. 2548 มาใช้ในการขับเคลื่อนให้เกิดการคุ้มครองสิทธิแรงงานของคนรับใช้ในบ้าน ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (Non Governmental Organizations: NGOs) ซึ่งให้ข้อมูลเฉพาะกรณี เกี่ยวกับปัญหาของคนรับใช้ในบ้าน และองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ที่ได้เสนอแนะมาตรฐานการคุ้มครองแรงงานสากล จนเกิดเป็นความเข้าใจที่ตรงกันของทุกฝ่าย โดยกระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินการต่อในทางปฏิบัติ เพื่อให้ “คนรับใช้ในบ้าน” ได้รับการคุ้มครองสิทธิแรงงาน อาทิ การมีวันหยุดและวันลา การได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม กรณีที่มีการปฏิบัติงานนอกเหนือจากข้อตกลงร่วมกันกับนายจ้าง เช่นเดียวกับแรงงานประเภทอื่น ๆ


 


นอกจากนี้ “โครงการกาญจนบุรี” ยังเป็นอีกหนึ่งผลงานที่มีความภาคภูมิใจ ในฐานะครูและนักวิจัย จึงได้เป็นกำลังสำคัญในการนำกลุ่มนักวิจัยและนักศึกษา ร่วมลงพื้นที่ เพื่อศึกษาข้อมูล “ระบบเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงประชากรและสุขภาพ” ซึ่งรวบรวมจาก 100 หมู่บ้าน ใน 13 อำเภอ ของจังหวัดกาญจนบุรี อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน ผลจากการศึกษาก่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ในการทำแผน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรทุกกลุ่มวัย รวมทั้ง เกิดเป็นโครงการเพื่อพัฒนาสุขภาพของประชากรวัยเด็ก ผู้สูงอายุ และการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือนในพื้นที่ ปัจจุบันมีนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ได้นำข้อมูลไปใช้สำหรับการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ประมาณ 70 เรื่อง และมีผลงานตีพิมพ์ในระดับชาติและนานาชาติอีกมากกว่า 60 เรื่อง


 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง มีหลักสำคัญในการทำงาน คือการ ยึดมั่นใน ความซื่อสัตย์ และความอดทน อันเป็นลักษณะร่วมที่สืบทอดส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น จากอาจารย์ไปสู่ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งยังเป็นผู้มีความทุ่มเทในการแสวงหาและพัฒนาองค์ความรู้ที่มีอยู่อย่างสม่ำเสมอ โดยมุ่งหวังเพื่อที่จะถ่ายทอดความรู้และทักษะต่าง ๆ ที่สั่งสมมา เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่เหล่าลูกศิษย์และนักวิจัยรุ่นต่อ ๆ ไป ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นองค์ความรู้ที่เกิดจากการลงมือปฏิบัติจริง โดยผ่านการวิจัย การเรียนรู้จากประสบการณ์ ทั้งในแง่ของความสำเร็จและความผิดพลาดที่เคยประสบพบเจอทั้งสิ้น  


รองศาสตราจารย์ ดร.สุรีย์พร พันพึ่ง จึงเป็นแบบอย่างของครูนักวิจัยผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ต่อสังคมโดยแท้จริง อีกทั้งเป็นผู้มีความมานะอุตสาหะทั้งด้านการสอนและการวิจัย อันเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ผู้เรียนและเพื่อนร่วมสายงาน เป็นผู้มีความเชื่อมั่นในแนวทางของตนจนเกิดเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับและมีการตีพิมพ์สู่สาธารณะอย่างแพร่หลาย สภาคณาจารย์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประกาศยกย่องให้เป็นอาจารย์ตัวอย่าง สาขาสังคมศาสตร์ ประจำปี 2566