บัติการณ์โรคภูมิแพ้นับวันยิ่งสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความพยายามของคณะแพทย์ไทยจากมหาวิทยาลัยมหิดล ทำให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาดได้
รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์พงศกร ตันติลีปิกร รักษาการแทนผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวิชาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการความร่วมมือการผลิตวัคซีนสำหรับโรคภูมิแพ้ ว่า แม้วัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้โดยฝีมือคนไทย จะได้รับการขึ้นทะเบียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2563 และจัดอยู่ในประเภท “วัคซีนพื้นฐาน” ที่อยู่ใน “บัญชียากำพร้า” กระทรวงสาธารณสุข เมื่อปี พ.ศ. 2566 แต่พบว่ายังสามารถเข้าถึงผู้ป่วยคนไทยกลุ่มเป้าหมายได้เพียงไม่เกินร้อยละ 10
จึงทำให้ความพยายามของมหาวิทยาลัยมหิดล ไม่หยุดอยู่เพียงแค่การพัฒนาวัคซีนเพื่อรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด แต่ได้ผลักดันสู่การจัดตั้งศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการวิจัยและพัฒนาด้านโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกัน หรือ "Siriraj Allergy" ตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2560 ที่รวมเอาทุกศาสตร์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมทำให้เกิด “ความยั่งยืน” จากการร่วมพัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ ตลอดจนการสร้างเครือข่ายที่จะนำไปสู่การรักษาที่ครอบคลุม และครบวงจรมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เมื่อผู้ป่วยเริ่มรู้สึกตัวเองว่าเกิดความผิดปกติจากอาการภูมิแพ้ ในเบื้องต้นจะได้เข้ารับการทดสอบด้วยชุดทดสอบโรคภูมิแพ้ ที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะสำหรับคนไทย หรือคนเอเชีย โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อนส่งต่อไปพบแพทย์รักษาโรคภูมิแพ้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งได้แก่ แพทย์ผิวหนัง กุมารแพทย์ จักษุแพทย์ ตลอดจนแพทย์ระบบทางเดินหายใจ เพื่อการดูแลระบบทางเดินหายใจส่วนต้น ซึ่งได้แก่ หู คอ จมูก และระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ซึ่งได้แก่ในส่วนของปอด ที่แสดงอาการหอบหืด ฯลฯ
และเข้ารับการฉีดวัคซีนรักษาโรคภูมิแพ้ที่ได้รับการคิดค้นและพัฒนาขึ้นโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ "Siriraj Allergy" ได้รับการรับรองในฐานะ “ศูนย์ความเป็นเลิศ” จาก World Allergy Organization : WAO ปี 2022 - 2024 มาจากความสามารถในการสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเอง ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสมและใช้ได้จริงกับชาวไทยและชาวเอเชียอย่างครบวงจร จนสามารถยกระดับสู่การเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค
จากการพบว่าประชากรในทวีปเอเชีย ซึ่งอยู่ในเขตร้อน ได้รับผลกระทบจากสารก่อภูมิแพ้ประเภท “ไรฝุ่น” มากกว่าประเทศในเขตหนาว จึงได้นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ และการบริการเพื่อการวินิจฉัย รักษา ดูแล และควบคุมโรคภูมิแพ้ไรฝุ่น ซึ่งมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับจากทั่วโลกอย่างเต็มรูปแบบจาก “ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” ที่อยู่ภายใต้ “Siriraj Allergy” ปัจจุบันมีบทบาทตั้งแต่ในระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับสถานประกอบการ ในระดับชาติ และเอเชีย
ด้วยการทำงานที่เข้มแข็งมากด้วยประสิทธิภาพ และประสบการณ์กว่าสองทศวรรษของหน่วยปฏิบัติการจาก “ศูนย์บริการและวิจัยไรฝุ่นศิริราช” ที่พร้อมให้บริการประชาชนกำจัดไรฝุ่น และออกแบบการดูแล “บ้านปลอดฝุ่น” รวมทั้งสถานประกอบการต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานประกอบการประเภทโรงแรม ทำให้เกิดทางเลือกมากขึ้นในการตัดสินใจ และสร้างความมั่นใจได้มากขึ้นสำหรับการเลือกใช้บริการที่ปลอดภัยต่อสุขภาวะ ตลอดจนช่วยลดการนำเข้า “ผลิตภัณฑ์ปลอดไรฝุ่น” ซึ่งส่งผลดียิ่งต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทย และในอนาคตอาจพัฒนาสู่การรับรองมาตรฐานโลกระดับ ISO
และนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างประชาชนชาวไทย โดยหวังเป็นส่วนหนึ่งที่แม้จะไม่สามารถทำให้อุบัติการณ์โรคภูมิแพ้ไม่เกิดเพิ่มขึ้นท่ามกลางสิ่งเร้าจากโลกร้อน แต่ก็พร้อมเป็นกำลังสำคัญเพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไปอย่างยั่งยืน
ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
ภาพจาก Siriraj Allergy
สัมภาษณ์ และเขียนข่าวโดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ)
งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210