กรมการแพทย์ โดยโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี ได้นำศิลปะบำบัด (Art Therapy) ซึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการแพทย์ทางเลือก (Complementary and Alternative Medicine: CAM) มาประยุกต์ใช้ในการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและครอบครัว เพื่อลดความเครียด ความวิตกกังวล เป็นการค้นหาและตอบสนองความปรารถนาครั้งสุดท้าย (Last wish) ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและครอบครัวได้ปลดเปลื้องสิ่งที่ค้างคาใจ (Unfinished Business) ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและครอบครัว
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับโลก ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆ ของโรคมะเร็งประกอบด้วย การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด โดยผู้ป่วยมะเร็งไม่เพียงแต่ต้องทุกข์ทรมานจากการดำเนินของโรค การรักษา และอาการข้างเคียงจากการรักษาแล้ว ยังส่งผลต่อการดำรงชีวิตด้วย เมื่อโรคมะเร็งมีอาการลุกลามเพิ่มขึ้นและเข้าสู่ระยะท้าย ผู้ป่วยจะเกิดความทุกข์ทรมานทั้งทางด้านร่างกาย และจิตใจ ส่งผลทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีความเครียด ความวิตกกังวล ท้อแท้ หมดหวัง ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งและครอบครัว
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า การดูแลผู้ป่วยมะเร็งต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ รวมถึงการดูแลแบบผสมผสาน เพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรค ลดความวิตกกังวล ความเครียด รวมถึงการเผชิญต่อโรคมะเร็งที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ สัมพันธภาพในครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงไป จนบางครั้งทำให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกด้อยค่าในตนเอง หมดกำลังใจในการเผชิญกับตัวโรคเรื้อรัง การนำการแพทย์ทางเลือกมาผสมผสานในการดูแลช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลแบบครบองค์รวม และส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาของชีวิตที่เหลืออยู่
นายแพทย์อดิศัย ภัตตาตั้ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี สังกัดกรมการแพทย์ เป็นโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านมะเร็งมีพันธกิจให้บริการสุขภาพด้านโรคมะเร็งอย่างผสมผสาน ครอบคลุม มีความปลอดภัย ด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยและครอบครัว โดยมีการนำกระบวนการศิลปะบำบัดมาใช้เยียวยาผู้ป่วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยได้ระบายความรู้สึกภายในจิตใจ ค้นพบมุมมองความมีคุณค่าของตนเองที่ถูกซ่อนอยู่ กลับมามีกำลังใจพร้อมที่จะเผชิญต่อการเจ็บป่วยเรื้อรัง สามารถยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเข้าใจ
กระบวนการศิลปะบำบัดเป็นเครื่องมือสำคัญ เพื่อช่วยเหลือบุคคลที่มีปัญหาด้านอารมณ์และจิตใจ ซึ่งหลักการของศิลปะบำบัด คือใช้ศิลปะเป็นสื่อในการแสดงออกถึงอารมณ์ ความรู้สึก ความขัดแย้ง และความต้องการ ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในส่วนลึกของจิตใจ การแสดงออกทางผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้น สี รูปทรง สัญลักษณ์ อารมณ์ ความหมาย ที่สื่อออกมาทั้งหมดเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ให้ผู้ป่วยได้เป็นตัวเอง การประเมินผลการบำบัดรักษาด้วยศิลปะบำบัด เน้นที่กระบวนการและกิจกรรมทางศิลปะ ไม่ได้เน้นที่ผลงานทางศิลปะ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องมีพื้นฐานของศิลปะมาก่อนก็สามารถทำกิจกรรมนี้ได้